ยาลดไข้สำหรับผู้ใหญ่ กับคำแนะนำในการใช้ยาอย่างปลอดภัย

เวลาที่มีไข้ เหงื่อออก ตัวสั่น หรือปวดศีรษะ หลายคนมักจะนึกถึงยาลดไข้เป็นอันดับแรก แต่อาจไม่รู้เลยว่าตัวยาไหนเหมาะกับอาการป่วยของตัวเอง เนื่องจากยาลดไข้ในท้องตลาดนั้นมีหลากหลายชนิดให้เลือกใช้ หากเลือกตัวยาไม่เหมาะสมก็อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือหายช้าลงก็เป็นได้

ตามปกติแล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายมนุษย์จะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละคน และอาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยในระหว่างวัน หลังการกินอาหารหรือการออกกำลังกาย หากผู้ป่วยมีไข้นั่นหมายความว่า ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติหรือประมาณ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับการติดเชื้อหรืออาการป่วยต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากการติดเชื้ออย่างไข้หวัด ภาวะที่ก่อให้เกิดการอักเสบอย่างข้ออักเสบรูมาตอยด์ และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรือการฉีดวัคซีน

ยาลดไข้สำหรับผู้ใหญ่ กับคำแนะนำในการใช้ยาอย่างปลอดภัย  

คำแนะนำในการเลือกยาลดไข้ของผู้ใหญ่

ในเบื้องต้น หากผู้ป่วยมีไข้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีความรู้ไม่สบายตัว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาลดไข้ แต่หากมีไข้สูงหรือไข้ต่ำ ๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวอาจต้องพึ่งพาการใช้ยาลดไข้ที่หาซื้อได้เอง อย่างยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) และยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งแม้จะมีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน แต่ผู้ป่วยควรเปรียบเทียบยาทั้ง  2 ประเภทในหลายด้าน ทั้งรูปแบบยา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หรือข้อควรระวัง เพื่อเลือกตัวยาให้เหมาะสมกับตนเองที่สุด 

โดยยาลดไข้ทั้ง 2 ประเภทหลักที่หาซื้อได้ร้านขายยาทั่วไปมีรายละเอียดดังนี้ 

  1. ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen)  

หลายคนมักคุ้นเคยกับยานี้ในชื่อของ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยลดไข้ บรรเทาปวด แต่ไม่สามารถลดอาการบวมหรืออักเสบได้ โดยมีจำหน่ายในหลายรูปแบบ อย่างยาเม็ด ยาน้ำ หรือยาแคปซูล และมีข้อควรระวังในการกินยาที่สำคัญ เช่น 

  • ควรกินยาครั้งละไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม วันละไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม
  • ผู้ที่มีประวัติทางการแพทย์ อย่างโรคตับและโรคพิษสุราเรื้อรัง ควรแจ้งให้เภสัชกรทราบก่อนการกินยา และผู้ที่แพ้ยานี้ไม่ควรใช้ยาโดยเด็ดขาด
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะตับถูกทำลาย
  • ระมัดระวังในการกินยานี้ร่วมกับยาบางชนิดที่มีส่วนผสมของยาอะเซตามีโนเฟน อย่างยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวด เพราะอาจทำให้กินยาเกินขนาดและเป็นพิษต่อตับได้ 
  • ยาอะเซตามีโนเฟนอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นและทำให้ยามีประสิทธิภาพในการรักษาลดลง เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ยาวัณโรคอย่างยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ยากันชักอย่างยาคาร์มาซาปีน (Carbamazepine) เป็นต้น
  • ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ทันทีหากไข้ไม่ลดลง มีไข้นานกว่า 3 วัน หรือมีอาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างผิวหนังบวมแดง 

แม้ยาอะเซตามีโนเฟนจะขึ้นชื่อว่าเป็นยาที่ปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาในการนอนหลับ อาการแพ้ยา หรือผื่นคันที่รุนแรง ซึ่งควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์โดยเร็ว 

  1. ยาในกลุ่มเอ็นเสด (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs)

ยาในกลุ่มเอ็นเสดเป็นกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ที่มีสรรพคุณช่วยลดไข้ บรรเทาปวด และลดอาการอักเสบได้ โดยตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาแอสไพริน (Aspirin) และยานาพรอกเซน (Naproxen) ที่มักอยู่ในรูปแบบยาเม็ดและยาแคปซูล ส่วนข้อควรระวังในการกินยามีดังนี้

  • ผู้ที่เคยมีประวัติทางการแพทย์ อย่างโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคหอบหืด แผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเลือดออกภายในร่างกาย ควรแจ้งให้เภสัชกรหรือแพทย์ทราบก่อนการกินยา และผู้ที่แพ้ยานี้ไม่ควรใช้ยาโดยเด็ดขาด
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารสูง 
  • ยาในกลุ่มเอ็นเสดอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นและทำให้ตัวยามีประสิทธิภาพในการรักษาลดลง เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาร์ฟาริน ยาในกลุ่มเอ็นเสดชนิดอื่นอย่างยาเซเลโคซิบ ยากดภูมิคุ้มกันอย่างยาไซโคลสปอริน ยาขับปัสสาวะ และยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • หากกินยาในกลุ่มนี้แล้วอาการไข้แย่ลง มีไข้นานกว่า 3 วัน มีอาการใหม่ ๆ เกิดขึ้น ผิวหนังบวมแดง หูอื้อ สูญเสียการได้ยิน หรือมีสัญญาณของเลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างหมดสติ อาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระปนเลือด ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ทันที 

ยาในกลุ่มเอ็นเสดประเภทที่หาซื้อได้เองนั้นอาจมีผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ ไม่สบายท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ปวดศีรษะ ง่วงซึม หรือเวียนศีรษะ อีกทั้งอาจเกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ความดันในเลือด ตับ หรือไต และระบบอวัยวะอื่น ๆ แต่มักพบได้น้อยมาก 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการกินยาลดไข้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอีกหนึ่งอย่างคือ การกินยาตามที่ระบุบนฉลากยาหรือตามที่เภสัชกรและแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคน โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำ      

วิธีลดไข้ด้วยตนเองอย่างถูกวิธี

ในระหว่างที่มีไข้ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวและหายไข้ได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น 

  1. ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและทำให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลง
  2. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ 
  3. กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย อย่างซุปหรือข้าวต้ม 
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ งดการทำกิจกรรมที่ส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างการออกกำลังกาย 
  5. อาบน้ำอุ่นหรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดที่บริเวณหน้าผากและข้อมือ 
  6. สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่คับหรือรัดแน่นจนเกินไป
  7. เปิดพัดลมหรือหน้าต่าง เพื่อให้อากาศในห้องนอนถ่ายเทได้สะดวก 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซียลเซส หรือมีไข้ร่วมกับอาการชัก หมดสติ รู้สึกสับสน คอแข็ง หายใจลำบาก ปวดตัวอย่างรุนแรง ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งบวมหรืออักเสบ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดท้อง ตกขาวเปลี่ยนสีหรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่นหรือปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง