ยาแก้อักเสบ วิธีใช้ที่ถูกต้องและไม่เสี่ยงอันตราย

ยาแก้อักเสบ เป็นยาในกลุ่มช่วยลดการอักเสบ ซึ่งมักช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมจากการอักเสบได้ด้วย ซึ่งยาที่นิยมใช้คือยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งตัวยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาและที่แพทย์สั่งจ่าย ซึ่งมีคำแนะนำและข้อควรระวังของยาแต่ละชนิดที่ควรทราบก่อนการใช้ยา

คนทั่วไปมักเรียกชื่อผิดและเข้าใจว่ายาแก้อักเสบเป็นยาต้านจุลชีพ ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ โดยหลายคนก็ซื้อยามารับประทานเองทั้งที่ไม่ทราบวิธีใช้อย่างถูกต้อง ทำให้เสี่ยงต่อการรับประทานยาเกินขนาดหรือใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้ยาแก้อักเสบ

ยาแก้อักเสบ

รู้จักยาแก้อักเสบ

ยาแก้อักเสบที่ใช้กันบ่อย คือยาแก้อักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) หรือที่เรียกกันว่าเอ็นเสด มีทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองหรือต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาค่อนข้างเร็วและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแก้อักเสบชนิดมีสเตียรอยด์ จึงถูกนำมาใช้รักษาการอักเสบอย่างแพร่หลาย

ตัวอย่างยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ที่คนคุ้นเคย เช่น 

ยากลุ่ม NSAIDs ที่สามารถหาซื้อได้เอง เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน และยานาพรอกเซน ส่วนยากลุ่มที่ต้องให้แพทย์สั่งจ่าย เช่น ยาไอบูโพรเฟนและยานาพรอกเซนที่มีความเข้มข้นสูง ยาไดโคลฟีแนค ยาเซเลโคซิบ ยามีลอกซิแคม และยาอินโดเมทาซิน เป็นต้น

ยาแต่ละชนิดมีข้อบ่งใช้และมีสรรพคุณรักษาโรคแตกต่างกันออกไป ก่อนใช้ยาควรอ่านฉลากยาและปฏิบัติตามคำแนะนำเสมอ หากพบข้อสงสัยใด ๆ ควรสอบถามแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

แนวทางการใช้ยาแก้อักเสบรักษาโรค

ยาแก้อักเสบโดยทั่วไปจะใช้บรรเทาอาการปวดในระยะสั้นจากภาวะต่าง ๆ เช่นเดียวกับยาแก้ปวดในกลุ่มพาราเซตามอล เช่น ลดไข้ ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน บรรเทาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อหรือเคล็ดขัดยอก ปวดประจำเดือน และปวดหลังการผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งมักเป็นยาชนิดรับประทานที่ใช้ติดต่อกันไม่นาน

อีกกรณีหนึ่ง คือ ใช้ยาแก้อักเสบเพื่อลดการอักเสบโดยตรง โดยครอบคลุมไปถึงอาการปวด บวมแดง อาการฝืดแข็งของข้อต่อ หรือขยับร่างกายลำบากจากภาวะอักเสบ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์กว่าจะเห็นผล

อย่างไรก็ตาม ยังเกิดความสับสนในการเรียกชื่อและการใช้ยาแก้อักเสบสลับกับยาปฏิชีวนะอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากคนเชื่อว่ามีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดเชื้อโรค ทำให้อาการบวมแดงจากการติดเชื้อดีขึ้นได้

ส่วนยาแก้อักเสบจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารที่ถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่บาดเจ็บหรือได้รับความเสียหายจนเกิดภาวะอักเสบ แต่ไม่ได้รักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ จึงอาจช่วยระงับอาการปวดและอักเสบได้ แต่หากใช้ยาผิดประเภทก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมากกว่าเกิดผลดี

คำแนะนำในการใช้ยาแก้อักเสบอย่างปลอดภัย

วิธีการใช้ยาแก้อักเสบให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ควรทำตามข้อแนะนำต่าง ๆ ดังนี้

1. แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงปัญหาสุขภาพ

ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ยาแอสไพรินหรือยาแก้ปวดอื่น ๆ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด ภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคตับหรือโรคไต 

รวมถึงหากรับประทานยา วิตามิน สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาแก้อักเสบ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและส่งผลกระทบต่ออาการป่วยของตน

2. ระมัดระวังเมื่อใช้ยาในเด็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ และคุณแม่ให้นมบุตร

ผู้ที่วางแผนจะมีบุตร สตรีมีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานี้ เพราะยาแก้อักเสบชนิดที่หาซื้อได้เองหรือแพทย์สั่งจ่ายบางชนิดก็อาจเป็นอันตรายต่อทารก 

ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจส่งผลเสียต่อตับหรือสมอง และอาจนำไปสู่กลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

3. รับประทานยาให้ตรงตามจุดประสงค์

ก่อนรับประทานยาควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้ยาเป็นหลัก เพราะยาแต่ละชนิดอาจมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบหรือมีภาวะอักเสบอื่น ๆ ควรรับประทานยาแก้อักเสบมากกว่ายาพาราเซตามอล เพราะยาพาราเซตามอลไม่ได้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แต่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ เป็นต้น หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ช่วยแนะนำยาอย่างเหมาะสม

4. อ่านฉลากยาทุกครั้ง

ยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของตัวยาหลายประเภท การศึกษารายละเอียดบนฉลากยาก่อนรับประทานทุกครั้งจะช่วยให้ทราบว่าร่างกายได้รับยาตัวใดบ้างและในปริมาณเท่าไร เช่น ยาบางชนิดผสมระหว่างยาแก้อักเสบกับยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบบางชนิดอาจพบอยู่ในยาแก้หวัด เป็นต้น 

ดังนั้น ยิ่งรับประทานยาที่มีส่วนผสมของยาหลายตัวมากเท่าใด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้นเท่านั้น

5. รับประทานยาตามปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม

ยาแก้อักเสบแต่ละชนิดมีปริมาณและข้อบ่งใช้ต่างกัน การรับประทานยาตามปริมาณที่แนะนำจะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น หากบางรายอาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานก็ควรเปรียบเทียบผลดีผลเสียก่อนใช้ยา และใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ

เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้สูงจากการใช้ยาติดต่อกันนานเกินไปหรือการใช้ยาในปริมาณมากเกินไป เช่น ระคายเคืองในทางเดินอาหาร ปวดท้องรุนแรง เลือดออกในทางเดินอาหาร โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น 

สำหรับยาแก้อักเสบตามร้านขายยาทั่วไปนั้น ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 10 วัน และควรเริ่มใช้ยาจากปริมาณต่ำสุดก่อนเสมอ

6. เก็บรักษายาอย่างเหมาะสม

การเก็บยาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงก่อนวันหมดอายุ เช่น ตู้ยาในห้องน้ำ เป็นต้น เพราะมักมีความชื้นสูงและค่อนข้างอบอ้าว ทางที่ดีควรเก็บยาในสถานที่ที่แห้งและเย็น

7. ติดตามผลการรักษา

หลังการรับประทานยาแก้อักเสบ ผู้ป่วยควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นตามมา เพื่อให้แน่ใจว่าอาการดีขึ้น แต่หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรไปแพทย์พร้อมแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับยาที่กำลังรับประทานอยู่

ผลข้างเคียงจากยาแก้อักเสบ

แม้ยาแก้อักเสบช่วยลดอาการปวด ลดไข้ หรือบรรเทาภาวะอักเสบได้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น

  • การระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง
  • คลื่นไส้ ท้องเสีย
  • ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนไม่สบาย
  • มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว
  • อาการบวมน้ำ

ทั้งนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่ามีอาการ เช่น หายใจลำบาก มีอุจจาระสีดำ อาเจียนออกมาเป็นเลือด เป็นสีดำ หรือสีคล้ายกาแฟ แน่นหน้าอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ชัด บวมตามใบหน้าและลำคอ ดวงตาและผิวหนังดูเหลืองผิดปกติ เกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนัง เป็นต้น