ยาแพ้แก้เด็กเป็นหนึ่งในวิธีบรรเทาอาการจากโรคภูมิแพ้ที่มีประสิทธิภาพ แต่ผู้ปกครองหลายคนอาจไม่แน่ใจว่าควรเลือกใช้ยาแก้แพ้ชนิดใดจึงจะเหมาะกับอาการของลูกน้อย และอาจกังวลว่ายาจะปลอดภัยต่อร่างกายของลูกหรือไม่ บทความนี้จึงอยากมาแนะนำตัวอย่างยาแก้แพ้เด็ก พร้อมแนวทางใช้ยาอย่างปลอดภัยกัน
ยาแก้แพ้ (Antihistamines) นั้นใช้ในการบรรเทาอาการแพ้อย่างภูมิแพ้อากาศ ลมพิษ แมลงกัดต่อย ไปจนถึงอาการจากโรคหวัด ตัวยาจะช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีนอันเป็นต้นเหตุของอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันตา ผื่นลมพิษ หรือน้ำตาไหลหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย โดยยาแก้แพ้จะมีทั้งที่หาซื้อได้เองและสั่งจ่ายโดยแพทย์ แต่ในบทความนี้จะเน้นไปที่ยาซึ่งหาซื้อได้เอง
ทำความรู้จักยาแก้แพ้เด็กที่หาซื้อได้เองและปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
ยาแก้แพ้เด็กมีจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล หรือยาน้ำเชื่อม ซึ่งส่วนใหญ่ยาแก้แพ้เด็กจะแนะนำให้ใช้ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป โดยตัวอย่างยาที่ผู้ปกครองอาจเลือกใช้มีหลากหลายชนิด เช่น
1. ยาแก้แพ้เด็กชนิดที่ทำให้ง่วง
ยาในกลุ่มนี้จัดเป็นยาแก้แพ้รุ่นแรกที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการง่วงซึมตามมา โดยยามักออกฤทธิ์ภายใน 30–60 นาที และฤทธิ์ของยาอาจคงอยู่นานประมาณ 6 ชั่วโมง ตัวอย่างยาแก้แพ้ชนิดทำให้ง่วงที่นำมาใช้กับผู้ป่วยเด็ก เช่น
- ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine: C.P.M.) ใช้ได้ในเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
- ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) ใช้ได้ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป
การรับประทานยาแก้แพ้กลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ตาแห้ง จมูกแห้ง มองเห็นเป็นภาพเบลอ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เสมหะเหนียวข้น ความดันโลหิตต่ำ ท้องผูก หรือมีปัญหาในการปัสสาวะ
นอกจากนี้ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กคลาดสายตาจนกว่าเด็กจะหลับหลังจากรับประทานยา เพราะอาจเสี่ยงต่อการหกล้มหรืออุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก
2. ยาแก้แพ้เด็กชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง
ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 นั้นถูกพัฒนาจนทำให้รับประทานแล้วเกิดผลข้างเคียงน้อยลง โดยมักไม่มีอาการง่วงซึมตามมา เนื่องจากตัวยาเข้าสู่สมองได้น้อยกว่า แต่ใช่ว่าอาการข้างเคียงนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะผู้ป่วยบางรายก็ยังมีอาการง่วงซึมอยู่บ้าง โดยยาในกลุ่มนี้อาจออกฤทธิ์ได้นานถึง 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบรวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ยาแก้แพ้เด็กชนิดยาน้ำในกลุ่มนี้มักผสมรสชาติผลไม้ต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น รสกล้วย รสสับปะรด ซึ่งอาจช่วยให้เด็กรับประทานยาได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยยาแก้แพ้เด็กในกลุ่มนี้มีหลายตัวยา เช่น
- ยาเซทิริซีน (Cetirizine) ใช้ได้ในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป
- ยาลอราทาดีน (Loratadine) ใช้ได้ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป
- ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ใช้ได้ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป
ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้เด็กให้ปลอดภัย
ก่อนจะให้ลูกรักรับประทานยาแก้แพ้ชนิดใดก็ตาม ผู้ปกครองควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ยาแต่ละชนิดให้ละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำและคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยในการใช้ยา ปริมาณยา หรือระยะเวลาในการใช้ยา ควรไปปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ผู้แลก่อนเสมอ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก
ยิ่งไปกว่านั้น ยาแก้หวัดคัดจมูกบางชนิดอาจเป็นยาสูตรผสมที่มีส่วนประกอบของยาแก้แพ้รวมอยู่แล้ว หากเด็กรับประทานยาแก้แพ้เพิ่มไปอีกอาจเป็นการใช้ยาซ้ำซ้อน ทำให้ได้รับยาเกินปริมาณที่เหมาะสมจนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
หากลูกน้อยรับประทานยาแก้แพ้เด็กแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาให้ตรงจุดมากขึ้น โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาชนิดอื่น ๆ หรือแนะนำให้ฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy) เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการแพ้ในระยะยาวตามที่แพทย์เห็นสมควร
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการใช้ยาแก้แพ้เด็กแล้ว การจดบันทึกหรือหมั่นสังเกตชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ตัวเด็กแพ้และคอยหลีกเลี่ยงสารดังกล่าวอยู่เสมอ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสของโรคภูมิแพ้และลดการรับประทานยาแก้แพ้ได้ในอนาคต
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 28 พฤษภาคม 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD