ยุง แมลงขนาดเล็กซึ่งเป็นพาหะของโรคหลายชนิดที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต การตระหนักถึงอันตรายของโรคที่เกิดจากยุงและรู้จักป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคจากยุง
โรคจากยุงที่พบได้ในประเทศไทย
ประเทศไทยอยู่ในเขตสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นซึ่งเหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์ของยุง ทำให้คนที่อาศัยอยู่เสี่ยงเป็นโรคจากยุง ดังนี้
- ไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ และไม่ติดต่อจากคนไปสู่คน ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคนี้กลับมาเป็นซ้ำได้หากติดเชื้อคนละสายพันธุ์ แต่ในกรณีที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์เดิมจะไม่มีอาการใด ๆ เนื่องจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์นั้น ๆ แล้ว การรักษาโรคไข้เลือดออกทำได้โดยประคับประคองอาการจนกว่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก
- ไข้มาลาเรีย (Malaria) เป็นโรคจากยุงที่มีความรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ เชื้อปรสิตที่เป็นสาเหตุของโรคจะเข้าสู่ร่างกายเมื่อถูกยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะกัด ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการให้เห็นภายใน 10 วัน-4 สัปดาห์หลังจากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด แต่บางรายอาจไม่มีอาการแม้จะติดเชื้อหลายเดือนแล้วก็ตาม โรคไข้มาลาเรียรักษาให้หายได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและอาจต้องใช้ยาหลายชนิดในการรักษา เพราะเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ทั้งนี้ การรักษาที่ล่าช้าอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้
-
โรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis: JE) เป็นโรคติดเชื้อบริเวณสมองจากไวรัสชนิดหนึ่งที่พบได้ในสุกรและนก โดยยุงที่กัดสัตว์ติดเชื้อจะกลายเป็นพาหะและแพร่กระจายเชื้อมาสู่คนในที่สุด โรคไข้สมองอักเสบเจอีไม่ติดต่อจากคนไปสู่คน และยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง แพทย์จะรักษาตามอาการเพื่อประคับประคองไม่ให้อาการของผู้ป่วยทรุดลงไปกว่าเดิม
โรคจากยุงที่พบได้บ้างในประเทศไทย
- ไข้เหลือง คือโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายและยุงป่าเป็นพาหะ แต่ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ อาการที่เด่นชัดของโรคคือ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีเลือดออก ภาวะดีซ่าน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ตับ ไต ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม โรคไข้เหลืองป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค
- โรคเท้าช้าง มีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมซึ่งอาศัยอยู่ในยุงที่เป็นพาหะ พยาธิชนิดนี้จะเข้าสู่กระแสเลือดและกระตุ้นให้ต่อมน้ำเหลืองเกิดการอักเสบบวมโตจนอุดตันการไหลเวียนของระบบทางเดินน้ำเหลือง โดยเฉพาะบริเวณรักแร้และขาหนีบ ทำให้เท้าของผู้ป่วยบวมขึ้นในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะส่งผลให้มีอาการบวมเรื้อรัง และอาจรุนแรงถึงขั้นพิการได้ ผู้ป่วยโรคเท้าช้างต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะเสี่ยงที่จะยังคงมีภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมอยู่แม้หายดีแล้ว
โรคจากยุงที่พบได้น้อยในประเทศไทย
- ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Virus) โรคติดเชื้อไวรัสที่มีสาเหตุมาจากสัตว์และมียุงเป็นพาหะ ปัจจุบันไม่พบรายงานการระบาดในไทย แต่ต้องมีการเฝ้าระวัง เพราะผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการแสดงให้เห็น อีกทั้งโรคนี้ไม่มีวิธีรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงจะหายจากการติดเชื้อได้เอง แต่ในรายที่อาการรุนแรงอาจต้องได้รับการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่กระทบต่อสมองและไขสันหลังได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาจมีอาการชัก สูญเสียความทรงจำ สมองได้รับความเสียหาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคจากยุงที่มีประเทศไทยเป็นพื้นที่เสี่ยง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคที่มียุงเป็นพาหะบางชนิด เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ ได้แก่
- ไข้ซิกา (Zika Virus) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อชนิดนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่ส่งผลให้ทารกมีภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ส่วนในรายที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมองอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ปัจจุบันโรคไข้ซิกาไม่มีวิธีรักษาโดยตรง ทำได้เพียงประคับประคองอาการจนกว่าจะดีขึ้น
- โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya Virus) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายบ้านและยุงลายสวนเป็นพาหะ โรคนี้ไม่อาจติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง แต่พบว่ามีการแพร่กระจายเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกหรือผ่านทางการให้เลือด ซึ่งพบได้น้อยมาก อาการเด่นชัดของโรค คือ มีไข้ ปวดตามข้อต่อ ข้อต่อบวม ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และอาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ปัจจุบันโรคชิคุนกุนยาไม่มีวิธีป้องกันและรักษาโดยเฉพาะเจาะจง แพทย์จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย
โรคจากยุงที่อาจพบได้ในต่างประเทศ
โรคที่มียุงเป็นพาหะนั้นพบได้ทุกพื้นที่บนโลก ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังต่างประเทศควรทราบถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในพื้นที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ไข้เหลือง พื้นที่เสี่ยง คือ ทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา และทวีปอเมริกาใต้
- โรคไข้เวสต์ไนล์ พื้นที่เสี่ยง คือ แถบทวีปอเมริกาเหนือ
- โรคไวรัสบีเอฟวี (ฺBarmah Forest Virus: BFV) พื้นที่เสี่ยง คือ ทวีปออสเตรเลีย รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
ดังนั้น ก่อนเดินทางไปยังประเทศในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการเฝ้าระวัง หากเป็นไปได้ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อชนิดนั้น ๆ
โรคจากยุงป้องกันได้อย่างไร ?
วิธีป้องกันโรคติดเชื้อจากยุงที่ดีที่สุดคือการป้องกันตัวเองจากยุงกัด ทำได้ดังต่อไปนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนและมิดชิด
- ใช้ยากันยุงพ่นหรือทาที่ผิวหนังเมื่อต้องออกไปข้างนอกในเวลากลางคืน
- ติดมุ้งลวด หรือกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัดขณะนอนหลับ
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงโดยกำจัดหรือทำความสะอาดบริเวณที่มีน้ำขังรอบบ้าน
-
หากภายในบ้านมีสระน้ำ ควรใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้น้ำไหลเวียนอยู่เสมอ เพราะน้ำนิ่งนั้นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง
ปัจจุบัน โรคที่มียุงเป็นพาหะบางชนิดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบเจอี เป็นต้น ส่วนโรคมาลาเรียนั้นมียาป้องกันทั้งชนิดวัคซีนและชนิดรับประทาน ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรืออาศัยอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดสูงควรรับประทานยาหรือฉีดวัคซีนเหล่านี้เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ