รวมวิธีรักษาเซ็บเดิร์ม ควบคุมอาการโรคผิวหนังเรื้อรังกวนใจ

การรักษาเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) เป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่มักไม่หายขาด ทำให้เกิดผื่นแดงคัน ผิวลอกเป็นขุยที่บริเวณใบหน้า เช่น บริเวณหัวคิ้ว เปลือกตา ข้างจมูก และหลังหู บางคนอาจมีอาการที่หนังศีรษะและหน้าอก ซึ่งอาการเหล่านี้แม้รักษาแล้วก็สามารถเกิดซ้ำได้อีก จึงอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของเซ็บเดิร์ม แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากเชื้อราบนผิวหนัง ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ความเครียด การใช้ยาบางชนิด หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น HIVs และตับอ่อนอักเสบจากการดื่มสุรา (Alcoholic Pancreatitis) การรักษาเซ็บเดิร์มจึงต้องใช้ระยะเวลาและรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการของโรค

รวมวิธีรักษาเซ็บเดิร์ม ควบคุมอาการโรคผิวหนังเรื้อรังกวนใจ

รักษาเซ็บเดิร์มได้อย่างไร

เนื่องจากเซ็บเดิร์มเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาหายขาดยาก การรักษาจึงทำเพื่อบรรเทาอาการผื่นแดงคัน และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการเซ็บเดิร์ม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งการรักษาจะแตกต่างกันตามบริเวณที่เกิดอาการและความรุนแรงของโรค ดังนี้

การรักษาเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะ

ผู้ที่มีเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะควรใช้แชมพูขจัดรังแคที่ประกอบด้วยตัวยา เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ซิงก์ ไพริไธออน (Zinc Pyrithione) กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) และน้ำมันดิน (Coal Tar) เป็นประจำ ซึ่งช่วยผลัดเซลล์ผิวและช่วยให้สะเก็ดบนหนังศีรษะหลุดออก แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

หากใช้แชมพูยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์อาจให้แชมพูหรือยาทาที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซลที่มีความเข้มข้นสูงขึ้น หรือยาทากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการคัน โดยใช้ตามระยะเวลาที่แพทย์สั่งเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยา

การรักษาเซ็บเดิร์มที่ใบหน้าและลำตัว

ผื่นแดงคันและสะเก็ดที่บริเวณใบหน้าและลำตัวอาจทุเลาลงด้วยวิธีการรักษาต่าง ๆ ดังนี้

  • รักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ หากไว้หนวดและเคราควรทำความสะอาดโดยใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล 1% เป็นประจำทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางปกปิดผื่นเซ็บเดิร์ม เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลง เสี่ยงต่อการแพ้เครื่องสำอาง หรืออาจทำให้เกิดสิวตามมา
  • สวมเสื้อผ้าที่ไม่ระคายเคืองผิว
  • การใช้ยารักษาเซ็บเดิร์ม เช่น ครีมต้านเชื้อรา ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และยากลุ่มแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin Inhibitors)

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ เพื่อรักษาอาการที่ผิวหนังที่รุนแรง เช่น การฉายแสง (Light Therapy) ร่วมกับการใช้ยาชนิดต่าง ๆ 

การรักษาเซ็บเดิร์มในเด็กทารก

เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 2 เดือนมักเกิดผื่นที่บริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า และบริเวณที่เป็นจุดอับชื้นหรือข้อพับ เช่น คอ รักแร้ และบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม โดยมีลักษณะเป็นไขสีเหลืองและเป็นสะเก็ดโดยไม่มีอาการคัน ซึ่งอาจเกิดจากการผลิตน้ำมันที่ผิวหนังมากผิดปกติ เนื่องจากทารกได้รับฮอร์โมนของคุณแม่ หรือเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของทารกทำปฏิกิริยากับยีสต์บนหนังศีรษะมากเกินไป ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะ

โดยส่วนใหญ่แล้ว ไขที่หนังศีรษะของทารกมักหายได้เองเมื่อทารกอายุได้ 8 เดือนจนถึง 1 ปี โดยพ่อแม่สามารถดูแลผิวของลูกน้อยด้วยวิธีดังต่อไปนี้

ใช้เบบี้ออยล์ (Baby Oil) น้ำมันมะกอก หรือปิโตรเลียมเจลลี่นวดผิวบริเวณที่มีอาการเบา ๆ เพื่อให้สะเก็ดอ่อนนุ่มลง 

  • ไม่ควรดึงสะเก็ดให้หลุด เพราะอาจทำให้เกิดแผลและเลือดออก 
  • สระผมลูกตามปกติด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยนสำหรับเด็ก
  • ใช้แปรงขนนุ่มที่สะอาดหวีผมให้ลูก เพื่อสางสะเก็ดที่ยังหลงเหลืออยู่ให้หลุดออก 

หากลูกอาการไม่ดีขึ้น รู้สึกคัน หรือไม่สบายตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แพทย์อาจจ่ายยาที่ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้น เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีส่วนผสมของสารต้านเชื้อรา เพื่อรักษาอาการหากเกิดการอักเสบที่ผิวหนัง

การรักษาเซ็บเดิร์มด้วยผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น การใช้แชมพูหรือครีมทาผิวที่มีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้และทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) และการรับประทานน้ำมันปลาในรูปอาหารเสริมอาจช่วยบรรเทาอาการเซ็บเดิร์มได้ในบางคน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อความปลอดภัยก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้

นอกจากการรักษาเซ็บเดิร์มด้วยวิธีข้างต้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความสะอาดของผิวและหนังศีรษะโดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารเคมีรุนแรง ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการซ้ำ ผู้มีเซ็บเดิร์มที่สงสัยว่าอาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป