รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเป็นเรื่องที่คนเป็นเบาหวานควรให้ความใส่ใจ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับเท้าได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาการเท้าชา สูญเสียความรู้สึกบริเวณเท้า บาดแผลหายยาก ไปจนถึงการติดเชื้ออย่างรุนแรง
การเลือกซื้อรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรคำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัยของเท้าขณะสวมใส่เป็นหลัก เพื่อป้องกันเท้าจากการถูกเสียดสีจนเสี่ยงต่อการเกิดแผลต่าง ๆ ทั้งรอยถลอกหรือแผลพุพอง ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลือกอย่างไร
วิธีเลือกรองเท้าให้เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน มีดังนี้
- เลือกขนาดรองเท้าให้พอดี ไม่หลวมหรือคับเกินไป โดยให้เผื่อความยาวของรองเท้ายาวเลยปลายเท้าเล็กน้อยสักประมาณ 0.5 นิ้ว และส่วนที่กว้างสุดของรองเท้าควรมีขนาดที่พอดีกับส่วนที่กว้างที่สุดของฝ่าเท้า โดยที่ผู้สวมใส่ยังสามารถขยับนิ้วเท้าได้
- เลือกรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น สามารถถ่ายเทอากาศและความชื้นได้ดี เช่น รองเท้าหนังแท้ รองเท้าหนังสังเคราะห์ หรือรองเท้าที่ทำจากผ้า รวมถึงด้านในของรองเท้าควรเรียบและมีความนุ่ม
- เลือกรองเท้าที่มีเชือกผูกรองเท้า เนื่องจากรองเท้าประเภทนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเพิ่มระดับความแน่น หรือคลายให้หลวมตามขนาดของเท้าได้
- เลือกซื้อรองเท้าในช่วงบ่าย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ฝ่าเท้ามีการขยายตัวเล็กน้อย เมื่อต้องสวมใส่จริงแล้ว ผู้ป่วยจะได้ไม่รู้สึกว่ารองเท้ารัดแน่นจนเกินไป
- ควรเลือกเป็นรองเท้าหน้ากว้าง รูปทรงเหมาะสมกับเท้า และหัวรองเท้าไม่แหลมเกินไป เพราะรองเท้าประเภทหัวแหลมอาจทำให้นิ้วเท้าเสียดสีกันขณะสวมใส่
- ควรหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง เพราะอาจทำให้บริเวณหน้าเท้าได้รับแรงกดทับจนเกิดแผลและเกิดผิวหนังหนาได้
- ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าที่ไม่ช่วยปกปิดส่วนต่าง ๆ ของเท้า เนื่องจากรองเท้าประเภทนี้มักมีสายคาด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เท้าเกิดการเสียดสีจนเกิดแผลหรือพุพอง และยังไม่สามารถช่วยป้องกันเท้าจากการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้
คำแนะนำอื่น ๆ ในการสวมรองเท้าสำหรับคนเป็นเบาหวาน
นอกจากการเลือกซื้อรองเท้าให้เหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเท้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะวันแรก ๆ หลังเปลี่ยนรองเท้าใหม่ หากเป็นไปได้ควรสวมใส่ถุงเท้าเพื่อป้องกันเท้าถูกเสียดสีเสมอ และควรเขย่ารองเท้าก่อนใส่ทุกครั้ง เพื่อตรวจดูว่าภายในรองเท้ามีสิ่งแปลกปลอมใด ๆ หลุดเข้าไปหรือไม่
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า ไม่ว่าจะแค่เดินไปบริเวณใกล้ ๆ ที่พักอาศัย หรือสถานที่ที่ไม่น่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ก็ควรสวมใส่รองเท้าอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือการเผลอเหยียบเศษของมีคมที่อาจมีขนาดเล็กจนสังเกตได้ยาก
และที่สำคัญ ผู้ป่วยเบาหวานควรหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ อยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติบริเวณเท้า เช่น เจ็บเท้า แสบร้อนเท้า รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มที่เท้า เท้าสูญเสียความรู้สึก เท้ามีรูปร่างเปลี่ยนไป เท้ามีรอยแตก เท้ามีสีและอุณหภูมิเปลี่ยนไป หรือเกิดแผลพุพอง รอยถลอก และรอยแผลต่าง ๆ บริเวณเท้า ควรรีบไปพบแพทย์