คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจคิดว่าควรเริ่มต้นฝึกให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านเมื่อลูกอ่านเขียนหนังสือได้แล้วเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วเด็ก ๆ มักจะซึมซับนิสัยรักการอ่านจากการเลี้ยงดูได้ตั้งแต่ยังไม่รู้ความ อีกทั้งการอ่านยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม มาดูกันว่าเคล็ดลับสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกน้อยมีอะไรบ้าง
ประโยชน์ของการอ่าน
พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กเติบโตจนรู้เรื่องราวจึงจะฝึกการอ่านให้ เหมือนที่สามารถพูดคุยหรือร้องเพลงให้ฟังแม้เด็กจะไม่เข้าใจความหมายก็ตาม เพราะเด็กเล็กจะค่อย ๆ เรียนรู้จากสิ่งที่ผู้ใหญ่ป้อนให้ ซึ่งการอ่านหนังสือนิทานรูปภาพให้เด็กฟังก็เป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดพัฒนาการและยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้
เสริมทักษะการพูด
ทารกจะจดจำลักษณะการออกเสียงต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการพูดได้ตั้งแต่ในปีแรก ดังนั้น ยิ่งได้ซึมซับการอ่านออกเสียงและคำศัพท์จากพ่อแม่มากเท่าไร เด็กก็จะยิ่งเลียนแบบและพูดได้ดีขึ้นเท่านั้น
เพิ่มทักษะการฟัง การจำ และเพิ่มคลังคำศัพท์
เด็กที่พ่อแม่พูดคุยด้วยหรืออ่านหนังสือให้ฟังบ่อย ๆ จะรู้คำศัพท์มากกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง และมีแนวโน้มจะมีทักษะการอ่านในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามพัฒนาการ
กระตุ้นทักษะด้านสังคม อารมณ์ และการคิด
เด็กเล็กจะรับรู้ถึงอารมณ์ต่าง ๆ ที่พ่อแม่สื่อออกมาผ่านการใช้เสียงที่แตกต่างกันไป ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้และคุ้นเคยกับการสื่อสาร อีกทั้งการอ่านยังกระตุ้นให้เด็กได้มองหรือชี้รูปภาพและตอบคำถาม ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านทักษะทางสังคมและทักษะการคิดมากขึ้น
ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
การอ่านให้เด็กฟังเป็นการปูแนวทางให้เด็กทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลข ตัวอักษร สี และรูปร่างต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน และยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วย
เลือกประเภทหนังสือให้เหมาะสมกับช่วงวัยของทารก
เด็กทารกในช่วงอายุ 1 ปีแรกนั้นมีพัฒนาการที่รวดเร็ว โดยเด็กจะมีความสนใจและเกิดการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพ่อแม่ควรเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับวัยของลูก ดังนี้
- ทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน เป็นช่วงวัยที่ยังแยกแยะไม่ได้ว่ารูปภาพในหนังสือคืออะไร แต่เด็กก็จะให้ความสนใจ โดยเฉพาะหน้าคน สีสันที่สดใส หรือสีที่ตัดกัน และทำให้เด็กเพลิดเพลินได้ไม่แพ้การร้องเพลงกล่อม
- ทารกอายุ 4-6 เดือน จะเริ่มแสดงความสนอกสนใจต่อหนังสือ อาจใช้มือหยิบจับ แต่ก็อาจใช้ปากกัดหรือปาหนังสือทิ้งได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ พ่อแม่จึงควรเลือกหนังสือที่ทำจากวัสดุที่ฉีกขาดได้ยาก ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก และควรเลือกหนังสือภาพที่มีสีสันสดใส มีคำอ่าน หรือเนื้อร้องบทเพลงง่าย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา
- ทารกอายุ 6-12 เดือน เด็กจะเริ่มรู้ว่าภาพในหนังสือเป็นรูปอะไร และมักแสดงออกว่าชอบรูปหรือหน้าใดหน้าหนึ่งเป็นพิเศษ ทั้งยังมีปฏิกิริยาโต้ตอบขณะฟังพ่อแม่อ่าน หรือฉวยคว้าหนังสือพร้อมส่งเสียงแสดงความพึงพอใจ และเมื่ออายุประมาณ 12 เดือน เด็กจะเริ่มใช้มือพลิกหน้าหนังสือได้ โดยพ่อแม่อาจต้องคอยช่วย นอกจากนี้ เด็กอาจเริ่มชี้ไปที่รูปในหน้าหนังสือและส่งเสียงเลียนแบบพ่อแม่ด้วย
เคล็ดลับเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกน้อย
เด็ก ๆ จะติดนิสัยรักการอ่านก็ต่อเมื่อรู้สึกมีความสุขที่ได้อ่าน ไม่ใช่การบังคับฝืนใจ พ่อแม่จึงควรทำให้การอ่านกลายเป็นเรื่องที่เพลิดเพลินสำหรับเด็กเสมอ โดยสามารถลองทำตามเคล็ดลับดังต่อไปนี้
-
ทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก
พ่อแม่ควรใช้โทนเสียงที่บ่งบอกอารมณ์ได้ชัดเจน อาจทำท่าทางเป็นตัวละครนั้น และทำเสียงเลียนแบบสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เด็กชอบใจ เมื่อการอ่านเต็มไปด้วยความสนุกและตื่นเต้น เด็กก็จะมีความสุขกับการอ่านหนังสือ และติดนิสัยรักการอ่านในที่สุด
-
อ่านจนเป็นกิจวัตร
พ่อแม่อาจอ่านนิทานให้เด็กฟังในช่วงเวลาก่อนเข้านอนเป็นหลัก รวมทั้งพยายามสอดแทรกการอ่านหรือเล่านิทานให้เป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น ระหว่างมื้อเช้า ขณะอาบน้ำ เป็นต้น โดยการจัดสรรเวลาให้ลูกได้อ่านหนังสือนิทานไปด้วยกันทุกวันจะทำให้เด็กเริ่มคุ้นชินและคิดว่าการอ่านเป็นสิ่งสำคัญ
-
ใช้หนังสือสร้างความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก
แม้จะไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือชี้ชวนให้ดู แต่เด็กเล็ก ๆ จะมีความสุขที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ รวมทั้งเกิดความรู้สึกผูกพันและใกล้ชิดเมื่อนั่งอยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่และได้สนุกไปกับสิ่งตรงหน้าพร้อม ๆ กัน
-
เลือกหนังสือที่ลูกสนใจ
สังเกตสิ่งที่เด็กสนใจเป็นพิเศษ แล้วเลือกหนังสือเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กชอบเพื่อดึงดูดความสนใจ อาจเป็นหนังสือภาพเกี่ยวกับกิจกรรมที่ชอบทำอย่างการว่ายน้ำ การเล่นลูกบอล สัตว์ที่ชื่นชอบ หรือตัวการ์ตูนตัวโปรด หากไม่แน่ใจอาจทดลองให้เด็กอ่านหนังสือที่หลากหลายหรือพาไปห้องสมุดโซนเด็ก
-
พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่อ่านด้วยกัน
ชวนเด็กคุยและถามคำถามเพื่อให้เด็กนึกถึงเรื่องราวที่อ่าน เพราะเด็กจะเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้ง่ายขึ้นเมื่อได้ยินคำนั้นบ่อย ๆ และหากเด็กเล็กร้องขอให้อ่านนิทานเรื่องเดิมให้ฟังซ้ำ ๆ ก็ไม่ควรขัด เพราะแสดงถึงสัญญาณของการอยากเรียนรู้เป็นอย่างมาก และจะช่วยให้เด็กเริ่มจดจำวลีในหนังสือและพูดออกมาได้เองในที่สุด
-
รับมือกับความซุกซนของเด็ก
เด็กเล็กมักอยู่ไม่นิ่งและชอบเล่นซน หากลูกหมดความสนใจต่อหนังสือหรือดูอยากเล่นมากกว่าก็ไม่ควรบังคับ แต่อาจพยายามให้เด็กใช้เวลากับหนังสือนานกว่าปกติอีกหน่อยในวันถัดไป สำหรับเด็กที่ชื่นชอบการเล่นสนุกมากกว่าการดูภาพในหนังสือ พ่อแม่อาจใช้วิธีอื่น เช่น เล่านิทาน หรือชี้ชวนให้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวแทน เป็นต้น
-
ชี้ชวนให้ดูคำศัพท์ต่าง ๆ
แม้เด็กจะยังอ่านคำศัพท์ไม่ออก แต่การชี้ชวนให้เด็กดูบ่อย ๆ จะช่วยให้เกิดการจดจำในที่สุด โดยอาจเป็นคำง่าย ๆ ที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน หรือใช้ชุดแผ่นภาพคำศัพท์ที่มีรูปภาพประกอบเพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก
-
อย่าสร้างเงื่อนไขในการอ่าน
การกำหนดบทลงโทษหรือรางวัลเพื่อให้เด็กยอมฟังนิทานหรืออ่านหนังสือนั้น จะทำให้เด็กรู้สึกว่าการอ่านเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีและไม่ได้เพลิดเพลินกับการอ่านจริง ๆ โดยควรรอให้เด็กผ่อนคลายหรือไม่อยู่ในอารมณ์หงุดหงิด เช่น หลังกินอิ่ม หลังเปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนนอนหลับ เป็นต้น
นอกจากนี้ พ่อแม่ควรจำกัดการใช้เวลากับหน้าจออุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ของเด็กด้วย เพราะมีส่วนทำให้เด็กมีสมาธิสั้นและขาดปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น โดยแพทย์แนะนำว่าไม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า 24 เดือน ดูทีวีหรือสื่อจากอุปกรณ์ดิจิทัลใด ๆ ยกเว้นแต่เมื่อเป็นการพูดคุยทางวิดีโอที่มีการโต้ตอบจากอีกฝ่าย ส่วนเด็กอายุ 2-5 ปี ควรกำจัดการดูเพียงวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งต้องมีผู้ใหญ่นั่งดูด้วยกันและคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวละครหรือตัวการ์ตูนที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ด้วยหนังสือภาพแบบเดิมนั้นจัดว่าดีที่สุดสำหรับเด็ก ซึ่งพ่อแม่ควรชักชวนให้เด็กทำกิจกรรมสันทนาการด้วยกันมากกว่าใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ