รังสีอัลตราไวโอเลต ประโยชน์และโทษต่อร่างกาย

รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (UV) นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตวิตามินดีแล้ว ยังนำมาใช้รักษาโรคหลายชนิด เช่น ด่างขาว สะเก็ดเงิน โรคกระดูกอ่อนในเด็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากได้รับรังสียูวีติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ป้องกัน อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายส่วนต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ดวงตา ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

รังสีอัลตราไวโอเลต

รังสีอัลตราไวโอเลตคือพลังงานรูปแบบหนึ่งซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เดินทางผ่านตัวกลางในรูปของคลื่น โดยมีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 40-400 นาโนเมตร มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากแสงอาทิตย์ หรืออาจเกิดจากอุปกรณ์ที่ปล่อยรังสียูวีออกมา เช่น หลอดแบล็คไลท์ (Black Lights) เครื่องทำผิวแทน (Tanning Booth) รวมถึงหลอดไฟชนิดต่าง ๆ รังสียูวีแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ ตามความยาวคลื่นที่ต่างกัน คือ รังสียูวีเอ (UVA) รังสียูวีบี (UVB) และรังสียูวีซี (UVC)

  • รังสียูวีเอ (UVA) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 320-400 นาโนเมตร และไม่ถูกดูดซับจากชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก คนเราจึงได้รับรังสีชนิดนี้มากกว่าชนิดอื่น ๆ
  • รังสียูวีบี (UVB) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 290-320 นาโนเมตร ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกดูดซับรังสีชนิดนี้ไม่ได้ทั้งหมด ทำให้มีบางส่วนตกลงมายังพื้นโลก
  • รังสียูวีซี (UVC) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 220-290 นาโนเมตร ชั้นบรรยากาศโลกสามารถดูดซับรังสียูวีซีจากธรรมชาติไว้ได้ทั้งหมด รังสีชนิดนี้จึงไม่ตกลงมายังพื้นโลก

ประโยชน์ของรังสีอัลตราไวโอเลต

รังสีอัลตราไวโอเลตอาจเป็นสิ่งที่ใครหลาย ๆ คนต่างหลีกเลี่ยง แต่รู้หรือไม่ว่าหากได้รับในปริมาณที่พอเหมาะจะให้ประโยชน์แก่ร่างกายมากกว่าโทษ นอกจากนั้นทางการแพทย์ยังนำรังสีชนิดนี้มาใช้รักษาโรคกระดูกและโรคผิวหนังบางชนิด โดยประโยชน์ของรังสีอัลตราไวโอเลต มีดังนี้

กระตุ้นการสร้างวิตามินดี รังสียูวีบีมีคุณสมบัติกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด กระดูก และภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหารที่บริโภค การออกมารับแสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นบริเวณที่มีค่าชี้วัดความเข้มของแสงยูวีค่อนข้างสูง จึงควรหลีกเลี่ยงแดดในช่วง 9.00-14.00 น. เพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

รักษาโรคกระดูกและโรคผิวหนังบางชนิด การรรักษาโรคด้วยรังสียูวีควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น 00โรคที่แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีนี้ ได้แก่

  • โรคด่างขาว เกิดจากเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีผิวถูกทำลายหรือหยุดสร้างเม็ดสีผิว  ส่งผลให้ผิวหนังเกิดเป็นรอยด่างสีขาว ซึ่งรักษาได้ด้วย PUVA คือการใช้ยาซอลาเรน ที่มีคุณสมบัติทำให้ผิวหนังไวต่อรังสียูวี จากนั้นจึงฉายรังสียูวีเอไปที่ผิวหนังผู้ป่วยเพื่อให้กลับมามีสีเข้มขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma: SCC) แต่พบได้น้อยในคนไทยเนื่องจากส่วนใหญ่มีผิวคล้ำ
  • โรคสะเก็ดเงิน โรคที่คาดว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดและไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวผิดปกติอย่างรวดเร็ว ร่วมกับมีการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีผื่นหนาสีแดงหรือสีเงินขึ้นตามร่างกาย วิธีรักษาหนึ่งที่นำมาใช้ได้คือการฉายรังสียูวีเอร่วมกับการใช้ยาซอลาเรน เช่นเดียวกับโรคด่างขาว
  • Lupus Vulgaris คืออาการหนึ่งของการติดเชื้อวัณโรคที่ผิวหนังซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในคนไทย ส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นนูนขนาดใหญ่ มักขึ้นตามใบหน้าและลำคอ รักษาได้ด้วยการฉายรังสียูวีบี แต่ในปัจจุบันมักรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นหลัก
  • โรคกระดูกอ่อนในเด็ก มักพบในเด็กที่มีอายุ 6 เดือน-3 ปี สาเหตุหลักเกิดจากการขาดวิตามินดี แคลเซียม และฟอสเฟต ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และมีลักษณะผิดรูป แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยออกไปรับแสงแดดมากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี รวมถึงรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เช่น ปลา ไข่ นม ตับ เป็นต้น

ผลกระทบของรังสีอัลตราไวโอเลตต่อร่างกาย

หากได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

ผลกระทบต่อผิวหนัง ตั้งแต่ปัญหากวนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ผิวคล้ำแดด ริ้วรอย ไปจนถึงอาการแพ้แดด ผิวไหม้จากแดด และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งผิวหนังได้

  • ผิวคล้ำแดด เมื่อผิวหนังสัมผัสกับรังสียูวี ร่างกายจะสร้างเม็ดสีเมลานิน (Malanin) ขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันผิวหนัง ทำให้ผิวมีสีคล้ำขึ้น เนื่องจากยูวีเอจะไปกระตุ้นการสร้างเม็ดสีของเซลล์ผิวชั้นนอก ส่งผลให้ผิวคล้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะกลับมาเป็นสีปกติได้ในเวลาไม่นาน ส่วนยูวีบีนั้นไม่ทำให้ผิวคล้ำขึ้นในทันที แต่อาจเกิดขึ้นหลังจากผ่านไปแล้วประมาณ 3 วัน และใช้เวลานานหลายสัปดาห์จึงกลับเป็นปกติ นอกจากนี้ ยูวีบียังส่งผลให้ผิวชั้นหนังกำพร้าหนาขึ้นอีกด้วย
  • ผิวไหม้จากแดด เกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสียูวีบีในปริมาณสูงจนทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกถูกทำลาย ผู้ที่มีอาการรุนแรง ผิวหนังอาจลอก เป็นแผลพุพอง และรู้สึกเจ็บปวด อีกทั้งเซลล์ผิวหนังที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะไวต่อรังสียูวีและบอบบางกว่าเซลล์ผิวเดิม ส่วนผู้ที่อาการไม่รุนแรงจะมีเพียงผื่นแดงขึ้นบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดดและค่อย ๆ หายเป็นปกติใน 2-3 วัน ทั้งนี้ การมีผิวไหม้จากแดดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย
  • ริ้วรอย รังสียูวีเอเดินทางทะลุผ่านผิวหนังชั้นนอกไปยังชั้นหนังแท้ และส่งผลต่อกระทบต่อโครงสร้างของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันได้ ทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น เป็นต้นเหตุของริ้วรอยและความหย่อนคล้อย
  • อาการแพ้แดด เกิดกับผู้ที่ผิวหนังไวต่อรังสียูวี แม้ได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ก่อให้เกิดอาการแพ้คล้ายผิวไหม้ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาหารที่บริโภค เครื่องสำอาง หรือยาบางชนิด เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวด ยาระงับประสาท ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน ก่อนใช้ยาใด ๆ จึงควรอ่านฉลากหรือปรึกษาเภสัชกรถึงผลข้างเคียงทุกครั้ง
  • มะเร็งผิวหนัง มีงานวิจัยอ้างว่ารังสียูวีทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในร่างกาย นอกจากนั้น รังสียูวียังเข้าทำลาย DNA ของเซลล์ผิวหนังได้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

ผลกระทบต่อดวงตา ร่างกายสร้างอวัยวะและกลไกต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อปกป้องดวงตา ไม่ว่าจะเป็นคิ้ว ขนตา หรือการหดและขยายรูม่านตา อย่างไรก็ตาม กลไกเหล่านี้ป้องกันดวงตาจากรังสียูวีได้อย่างจำกัด ผู้ที่ต้องเผชิญกับรังสียูวีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องอาจเกิดผลกระทบต่อดวงตา ดังนี้

  • กระจกตาอักเสบและเยื่อบุตาอักเสบ มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับรังสียูวีปริมาณสูงเพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้ตาแดง แสบ คัน และระคายเคืองตาได้ ทั้งนี้ กระจกตาที่อักเสบรุนแรงอาจทำให้เซลล์ผิวชั้นนอกของลูกตาถูกทำลายจนมองไม่เห็นชั่วคราว แต่ส่วนใหญ่ร่างกายจะสร้างเซลล์ขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วและกลับมามองเห็นภายใน 2-3 วัน และขณะมีการผลัดเซลล์ที่ตายทิ้งจะส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก อีกทั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำตาไหล มีอาการระคายเคืองเรื้อรัง เป็นต้น
  • ต้อกระจก เกิดจากการมีโปรตีนสะสมและปกคลุมในเลนส์แก้วตา ทำให้การมองเห็นภาพขุ่นมัว และอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ ซึ่งสาเหตุหลักการเกิดต้อกระจกเป็นเพราะการเสื่อมของเลนส์แก้วตาเนื่องจากอายุที่มากขึ้น แต่รังสียูวีบีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน
  • ต้อเนื้อ อาจเป็นผลกระทบในระยะยาวหากได้รับรังสียูวีอย่างต่อเนื่อง เกิดขึ้นเมื่อแผ่นเนื้อบริเวณเยื่อบุตายื่นเข้าไปในตาดำ หากแผ่นเนื้อนี้ขยายใหญ่ขึ้นอาจบดบังการมองเห็นและอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด

ผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน รังสียูวีอาจอันตรายต่อ DNA และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคมะเร็งตามมา นอกจากนี้ การได้รับรังสียูวีในปริมาณสูงยังส่งผลให้วัคซีนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังมีงานวิจัยอ้างว่ารังสียูวีบีส่งผลให้ร่างกายควบคุมไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริมได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคเริมมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ

การป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต

การป้องกันด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างถูกต้องเพียงไม่กี่วิธีอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วง 9.00-14.00 น. เนื่องจากมีความเข้มของรังสียูวีมากและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งในช่วงเวลาดังกล่าว ควรทาครีมกันแดดทุกครั้ง ทั้งนี้ การอยู่ในที่ร่ม เช่น ภายในอาคาร หอพัก ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะบริเวณใกล้หน้าต่างหรือพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง ไม่อาจช่วยป้องกันจากรังสียูวีได้เสมอไป จึงควรใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ทาครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาว เป็นต้น
  • สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวผ้าทอที่รัดรูปและมีสีเข้ม เพราะมีประสิทธิภาพในการปกป้องร่างกายจากรังสียูวีมากกว่าเสื้อและกางเกงที่โปร่งบางและมีสีอ่อน ปัจจุบันเสื้อผ้าบางยี่ห้อหันมาใช้สารเคลือบวัสดุสิ่งทอที่มีคุณสมบัติดูดซับรังสียูวี ซึ่งจะระบุคุณสมบัติในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตโดยใช้เลขตั้งแต่ 15 จนถึง 50+ ยิ่งตัวเลขมากเท่าไรก็ยิ่งแสดงถึงระดับการปกป้องที่มากตามไปด้วย
  • สวมหมวก เลือกหมวกที่มีปีกกว้าง 2-3 นิ้ว หรือหมวกแก๊ปที่มีผ้าคลุมต้นคอ เพื่อป้องกันคอจากแสงแดด หากไม่มีอาจใช้ผ้าบางผืนใหญ่สวมไว้ใต้หมวกทดแทนได้
  • แว่นกันแดด ควรเลือกสวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์ขนาดใหญ่และมีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวีเอและยูวีบีได้ 99-100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมักติดป้ายกำกับว่า “UV Absorption up to 400 nm” หรือ “Meets ANSI UV Requirements” หากแว่นกันแดดมีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวีได้เพียง 70 เปอร์เซ็นต์ จะติดป้ายว่าเป็นเครื่องสำอาง (Cosmetic) ส่วนแว่นกันแดดที่ป้องกันรังสียูวีไม่ได้ อาจไม่มีป้ายกำกับไว้ ทั้งนี้ ความเข้มของสีเลนส์นั้นไม่ได้บ่งบอกถึงคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีแต่อย่างใด
  • ร่ม ป้องกันรังสียูวีไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีงานวิจัยกล่าวว่าการใช้ร่มกันแดดร่วมกับการทาครีมกันแดดช่วยป้องกันร่างกายจากรังสียูวีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ร่มเพียงอย่างเดียว
  • ครีมกันแดด คือผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากรังสียูวี โดยมีหลายรูปแบบให้เลือกทั้งชนิดครีม เจล แท่ง สเปรย์ ควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันรังสียูวีบี (Sun Protection Factor: SPF) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ทาในปริมาณที่เพียงพอและทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ครีมกันแดดอาจหลุดลอกและมีประสิทธิภาพลดลงได้หากผิวหนังสัมผัสน้ำ ดังนั้น การเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติกันน้ำอาจช่วยคงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีไว้ได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำผิวแทนและหลอดไฟแสงยูวี รังสียูวีจากอุปกรณ์สร้างรังสียูวีนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ไม่ต่างจากรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลอดไฟแสงยูวียังถูกนำมาใช้งานในหลายด้าน เช่น การทำเล็บเจล ซึ่งแม้จะมีปริมาณรังสียูวีไม่มาก แต่ก็ควรป้องกันด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนใช้อุปกรณ์เหล่านี้