รับมือกับฟันหักอย่างไรให้ถูกวิธี

ฟันหักเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่การสูญเสียฟันได้ นอกจากนี้ ควรเรียนรู้วิธีรับมือกับเหตุการณ์ฟันหักอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยและความสวยงามของสุขภาพฟัน

โดยปกติเคลือบฟันของคนเรานั้นเป็นส่วนที่มีความแข็งแรงและประกอบด้วยแร่ธาตุมากที่สุดในร่างกาย ทว่าความแข็งแรงนี้มีขีดจำกัด หากมีการกระทบกระเทือนที่รุนแรงเช่น การหกล้ม การถูกกระแทกด้วยของแข็งอย่างแรง หรือการกัดและแทะของที่แข็งมาก ๆ ก็อาจทำให้ฟันหักได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีฟันผุ เพราะเคลือบฟันจะยิ่งอ่อนแอจนทำให้เกิดการแตกหักหรือบิ่นได้ง่ายกว่าปกติ

Broken Tooth

ฟันหักเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ฟันหักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่มักเป็นผลจากการกระทบกระเทือนอย่างแรงบริเวณปากหรือใบหน้า ได้แก่

  • หกล้ม
  • การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
  • อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ
  • การแทะหรือกัดอาหารที่แข็งเกินไป
  • การต่อสู้

วิธีการรักษาฟันหัก

การรักษาฟันหักขึ้นอยู่กับความเสียหายว่ารุนแรงหรือไม่ หากมีรอยหักเพียงเล็กน้อยจะซ่อมแซมได้ทันที แต่หากเสียหายมาก เช่นในกรณีที่ลักษณะการหักของฟันรุนแรงจนถึงเส้นประสาทฟัน อาจต้องรักษารากฟันด้วย ซึ่งใช้เวลานานและอาจมีค่าใช้จ่ายสูง โดยในเบื้องต้นเมื่อมีฟันหักควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • หากมีอาการเจ็บปวดจากฟันหักให้รับประทานยาระงับอาการปวด และบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
  • เมื่อต้องรับประทานอาหารควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟันที่หักกัดหรือบดเคี้ยวอาหาร และควรรับประทานอาหารที่กัดหรือเคี้ยวง่าย
  • หากชิ้นส่วนฟันที่เหลือในปากมีลักษณะแหลมคมหรือมีขอบที่ขรุขระ ควรนำหมากฝรั่งไม่มีน้ำตาลมาหุ้มฟันไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันบาดลิ้นหรือเนื้อเยื่อภายในช่องปาก

นอกจากนี้ ควรรีบหาเศษฟันที่หัก หากพบให้ทำความสะอาดเศษชิ้นส่วนของฟัน แล้วนำไปใส่ไว้ในนมจืดเพื่อรักษาสภาพฟัน และรีบไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด หากไปถึงเร็วทันตแพทย์อาจใช้กาวต่อฟันที่หักกลับเป็นปกติได้ แต่หากหาเศษฟันที่หักไม่พบ ทันตแพทย์อาจซ่อมแซมฟันด้วยการอุดฟันหรือครอบฟัน

ส่วนฟันหักในเด็กนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยแม้จะเป็นฟันน้ำนม เพราะการสูญเสียฟันน้ำนมอาจทำให้เด็กมีปัญหาในการออกเสียงพูดและการรับประทานอาหารได้ ดังนั้น เมื่อฟันน้ำนมของเด็กหัก ผู้ปกครองควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการบวม เจ็บปวด สีของฟันเปลี่ยนไปผิดปกติ หรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว ในกรณีที่มีเลือดไหลออกมาด้วยให้นำผ้าก๊อซกดห้ามเลือด อาจใช้ถุงน้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม และให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟนได้

การรักษาฟันหักในเด็กนั้น หากฟันซี่นั้นโยกผิดปกติ แพทย์อาจถอนฟันออกเพื่อป้องกันการสำลักหากฟันหลุด หรืออาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อให้ฟันกลับเข้าที่เดิม แต่หากอาการฟันหักไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กมากนัก แพทย์อาจนัดติดตามอาการเพื่อตรวจดูความผิดปกติของฟันที่หักเป็นระยะ และอาจซ่อมแซมฟันด้วยวัสดุทางทันตกรรม  

วิธีป้องกันฟันหัก

ฟันหักมักเกิดจากอุบัติเหตุ จึงไม่อาจป้องกันได้ทั้งหมด แต่มีวิธีลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนี้

  • หากเล่นกีฬาควรสวมฟันยาง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ฟัน เหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร ควรใช้ฟันยางที่มีขนาดพอดีกับปาก เพราะจะช่วยป้องกันได้ดีกว่าฟันยางชนิดสำเร็จรูป
  • หลีกเลี่ยงการต่อสู้ที่อาจกระทบกระเทือนฟัน
  • หลีกเลี่ยงการกัดหรือแทะอาหารแข็ง ๆ
  • ควรคาดเข็มขัดนิรภัยหรือสวมหมวกกันน็อก เมื่อขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะและฟัน