ฟันผุ คือ ผิวฟันเกิดเป็นจุดหรือรูโหว่ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นแบคทีเรียในช่องปาก การดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม กินขนมขบเคี้ยวเป็นประจำ แล้วไม่รักษาสุขภาพฟันให้ดี
หากฟันผุไม่ได้รับการรักษา อาการจะลามลึกลงไปถึงรากฟัน อาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันสร้างความเจ็บปวด เสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเสียฟันซี่นั้นตลอดไป รวมถึงอาจทำให้เกิดกลิ่นปากและปัญหาเรื่องความสวยงามของฟันซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีฟันผุขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ฟันผุจึงเป็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ในร่างกาย
สาเหตุของฟันผุ
หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องแมงกินฟันที่ทำให้เกิดฟันผุ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฟันผุคือแบคทีเรียภายในช่องปาก ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับอาหารที่รับประทานเข้าไป และก่อให้เกิดกระบวนการทำลายฟันตามลำดับ ดังนี้
การก่อตัวของคราบแบคทีเรียบนผิวฟัน
ปากเป็นแหล่งที่อยู่ของแบคทีเรียหลากหลายชนิด เวลาที่รับประทานอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเข้าไป แล้วน้ำตาลยังคงตกค้างอยู่ที่ผิวฟัน แบคทีเรียเหล่านั้นจะไปจับกับน้ำตาลจนเกิดคราบเหนียวเคลือบอยู่ที่ฟัน หรือที่เรียกกันว่าคราบหินปูน ซึ่งจะเพิ่มความหนามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วทำปฏิกิริยากับน้ำตาลเกิดเป็นกรดทำลายผิวฟันให้ผุกร่อน
คราบหินปูนทำลายผิวฟัน
ในขั้นแรก กรดที่อยู่ในคราบหินปูนจะทำลายผิวฟันส่วนที่แข็งและอยู่ชั้นนอก เมื่อเกิดรูหรือช่องว่างที่ผิวฟันชั้นนอก แบคทีเรียจะสามารถเข้าไปยังผิวฟันชั้นในได้ ซึ่งเป็นผิวฟันชั้นที่มีพื้นผิวอ่อนกว่าและมีการต้านทานต่อกรดได้น้อยกว่าชั้นนอก
เกิดการทำลายผิวฟันอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเกิดฟันผุ แบคทีเรียและกรดที่เกิดขึ้นจะกัดกร่อนเข้าทำลายผิวฟันในระดับที่ลึกเข้าไปเรื่อย ๆ อาจทำลายเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทและหลอดเลือด จนทำให้เกิดอาการเสียวฟัน มีการบวมในบริเวณนั้น ปวดฟันอย่างรุนแรง หรือปวดฟันเวลากัดหรือเคี้ยวอาหาร
อาการของฟันผุ
เมื่อต้องประสบปัญหาฟันผุ อาการที่พบนอกเหนือจากฟันเป็นจุดหรือฟันเป็นรูสีน้ำตาลดำแล้ว อาการที่อาจตามมาหากไม่ได้รับการรักษา คือ
- ปวดฟัน
- เสียวฟัน
- ปวดฟันมากเวลากัดหรือเคี้ยวอาหาร หรือเวลารับประทานอาหารที่มีรสหวาน อาหารร้อน ๆ หรืออาหารที่มีความเย็น
- ขมปาก
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- ฟันเปลี่ยนสี หรือเป็นหนอง
การตรวจวินิจฉัยฟันผุ
โดยปกติแล้ว ทุกคนควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในเด็ก และ 1 ครั้งในทุก ๆ 2 ปี สำหรับผู้ใหญ่ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อตรวจรักษาดูแลสุขภาพฟันอยู่เสมอ แต่หากมีอาการอย่างปวดฟัน ปวดบวมภายในปาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด
เมื่อไปพบทันตแพทย์ แพทย์สามารถวินิจฉัยฟันผุได้ด้วยอาการเบื้องต้นจากการซักถามเกี่ยวกับอาการปวดฟัน เสียวฟัน ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และใช้อุปกรณ์เพื่อตรวจสอบภายในช่องปากและฟัน
หากต้องการตรวจหาฟันผุที่เชื่อมโยงกับปัญหาการเจ็บป่วยอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำให้เอกซเรย์ช่องปากเพิ่มเติมต่อไป เพื่อดูการผุของฟันและบริเวณฟันที่เกิดความเสียหาย โดยแพทย์จะแจ้งให้ทราบถึงชนิดของฟันผุที่เกิดขึ้น ได้แก่ การผุบริเวณผิวฟันที่ค่อนข้างเรียบ การผุในหลุมร่องฟัน และการผุไปจนถึงรากฟัน
รับมือปัญหาที่เกิดจากฟันผุ
เมื่อเกิดฟันผุ และเริ่มมีสัญญาณของความเจ็บปวดบริเวณเหงือกและฟัน ในเบื้องต้นให้ใช้ผ้าบาง ๆ ห่อน้ำแข็ง หรือใช้ถุงประคบเย็นประคบไว้บริเวณแก้มครั้งละประมาณ 10–15 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการปวด
และสามารถรับประทานยาแก้ปวดเที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน โดยต้องใช้ยาอย่างถูกต้องตามวิธีการและตามปริมาณที่เหมาะสมกับอายุผู้ป่วยที่ถูกระบุไว้บนฉลากยาเสมอ จากนั้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาฟันผุและรับการรักษาในขั้นต่อไป
วิธีรักษาฟันผุ
วิธีที่ควรใช้ในการรักษาฟันผุขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของฟันผุด้วย ได้แก่
ใช้ฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์เป็นแร่ตามธรรมชาติที่พบได้ในน้ำเปล่าที่ไม่ใช่น้ำขวด มีคุณสมบัติช่วยป้องกันและฟื้นฟูสภาพฟันจากการผุ หากฟันผุในระยะแรกเริ่ม ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใช้ฟลูออไรด์ ทั้งในรูปแบบยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เจล โฟม หรือสารเคลือบฟัน รวมทั้งแนะนำปริมาณน้ำตาลจากอาหารที่ควรรับประทาน เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุเพิ่มจากการสะสมของน้ำตาล
การอุดฟัน
การอุดฟันเป็นวิธีการรักษาที่นำมาใช้ในระยะที่ฟันผุเข้าไปถึงชั้นผิวด้านใน แพทย์จะใช้วัสดุที่มีสีเหมือนฟันหรือมีความแข็งแรง เช่น พอร์เซเลน แร่เงิน หรือใช้วัสดุหลายชนิดรวมกัน อุดไปบริเวณที่มีรูฟันผุ
การครอบฟัน
การครอบฟันใช้ในกรณีที่ฟันผุกร่อนเป็นบริเวณกว้าง เหลือเนื้อฟันน้อย หรือมีสุขภาพฟันไม่แข็งแรง แพทย์จะกำจัดเนื้อฟันบริเวณที่ผุออกไปจนหมด ก่อนจะใช้วัสดุที่มีสีเหมือนฟัน หรือมีความแข็งแรงทนทาน เช่น พอร์เซเลน เรซิ่น หรือทอง ครอบไปที่ฟันซี่นั้นแล้วตกแต่งให้ฟันยึดเยอะในบริเวณที่เหมาะสม
การรักษารากฟัน
หากฟันผุลึกลงไปจนถึงรากฟัน ทันตแพทย์จะทำการรักษาที่รากฟัน เพื่อซ่อมแซมความเสียหายและรักษาในบริเวณที่ติดเชื้อ แพทย์อาจใช้ยาเพื่อรักษารากฟันที่มีการติดเชื้อก่อนจะแทนที่บริเวณที่มีการผุด้วยการอุดฟัน
การถอนฟัน
ในรายที่มีฟันผุอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเยียวยาเนื้อฟันที่เหลือได้ ทันตแพทย์จะต้องทำการถอนฟันซี่นั้นออกเพื่อรักษาอาการ แต่หลังจากถอนฟันแล้ว สามารถปรึกษาทันแพทย์ได้ถึงวิธีการทดแทนช่องว่างของฟันซี่ที่ถูกถอนออกไป เช่น การใส่ฟันปลอม การใช้สะพานฟัน หรือปลูกถ่ายรากฟันเทียมซึ่งเป็นไททาเนียมยึดเกาะบริเวณรากฟันแทนที่ฟันที่ถูกถอนออกไป
ป้องกันฟันผุอย่างไรให้ได้ผล
สุขภาพฟันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรดูแลและให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟันผุและอาการต่าง ๆ ที่จะตามมา สิ่งสำคัญคือ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์หลังการรับประทานอาหาร หรืออย่างน้อยต้องแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง
- ทำความสะอาดทั้งเหงือกและฟัน
- ใช้น้ำยาบ้วนปาก
- ลดหรืองดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง ขนมขบเคี้ยว ของหวาน เครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำอัดลม
- เลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพฟันอย่างผักและผลไม้ที่มีแร่ธาตุและเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์