ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป ระดับความรุนแรงของโรคอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจรู้สึกไม่สบายตัวเพียงเล็กน้อย แต่บางคนอาจรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่เกิดริดสีดวงอย่างรุนแรง ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและสภาพจิตใจ
ริดสีดวงทวารมักเกิดขึ้นกับคนที่ท้องเสียบ่อย ๆ หรือท้องผูกเรื้อรัง กำลังตั้งครรภ์ กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำ นั่งขับถ่ายนานหรือเบ่งอุจจาระบ่อยครั้ง ต้องยืนหรือนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากนี้ อาจเกิดจากการได้รับพันธุกรรมจากสมาชิกในครอบครัวที่เป็นริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวาร มีอาการเป็นอย่างไร
ริดสีดวงทวารเป็นอาการผิดปกติของเส้นเลือดที่โป่งพองในบริเวณปลายลำไส้ใหญ่และรอบทวารหนัก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก
ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoid)
ริดสีดวงทวารชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากตำแหน่งของริดสีดวงจะอยู่ภายในลำไส้ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเส้นประสาทความเจ็บปวดอยู่น้อย ผู้ป่วยมักมองไม่เห็นหรือสัมผัสได้ยาก แต่จะสังเกตเห็นเลือดปนมากับอุจจาระในขณะขับถ่ายหรือเช็ดทำความสะอาด บางกรณีอาจมีติ่งเนื้อยื่นออกมาขณะอุจจาระแล้วหดกลับเข้าไปเองภายหลัง หรือสามารถดันกลับเข้าไปเองได้หากติ่งเนื้อไม่หดกลับ
ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoid)
ริดสีดวงทวารชนิดนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเนื่องจากริดสีดวงเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังรอบรูทวาร ผู้ป่วยจะมีเลือดไหล คันอย่างรุนแรง รู้สึกคล้ายมีก้อนนูน บวมและปวดในบริเวณดังกล่าวร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจเกิดลิ่มเลือดบริเวณริดสีดวงทวารภายนอก ส่งผลให้ริดสีดวงเป็นสีม่วงหรือคล้ำ ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บอย่างรุนแรงเมื่อนั่ง เดินหรือเข้าห้องน้ำ
ริดสีดวงทวาร บรรเทาอาการและรักษาได้อย่างไร
โดยส่วนใหญ่แล้ว ริดสีดวงทวารมักจะหายได้หลังจากการดูแลตนเองควบคู่ไปกับการใช้ยา หากไม่ได้ผลถึงจะรักษาเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นขึ้นอยู่กับชนิดของโรคริดสีดวงทวาร
การดูแลตนเอง
การบรรเทาอาการด้วยตนเองที่บ้านสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- ประคบเย็นบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารประมาณ 15 นาที โดยให้ใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็ง เพื่อไม่ให้น้ำแข็งโดนผิวหนังโดยตรง
- กินอาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหาร และควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป หากกินอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอ สามารถกินใยอาหารในรูปแบบอาหารเสริมทดแทนได้ ซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบ ลดการไหลของเลือดบริเวณที่เกิดริดสีดวงทวาร และอาจช่วยลดขนาดของริดสีดวงทวารลง
- ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่นั่งแช่ระหว่างขับถ่าย และไม่ควรอั้นเมื่ออยากรู้สึกขับถ่าย เพราะอาจทำให้ต้องเบ่งอุจจาระมากขึ้นในภายหลัง
- แช่ในน้ำอุ่นประมาณ 20 นาทีหลังขับถ่ายอุจจาระ เพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง คัน และอาการกล้ามเนื้อกระตุกบริเวณที่มีอาการ หลังจากแช่เสร็จแล้ว ควรซับหรือเป่าบริเวณดังกล่าวให้แห้งสนิท ไม่ควรเช็ดหรือถูอย่างรุนแรง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อลดการติดเชื้อบริเวณที่เกิดบาดแผล
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้
- ใช้ทิชชู่เปียกทำความสะอาดหลังขับถ่ายเพื่อลดการระคายเคือง แต่ควรระวังทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์และสารเคมีอันตราย เพราะอาจทำให้อาการริดสีดวงทวารรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ การใช้สารสกัดจากธรรมชาติบางชนิดอาจมีแนวโน้มช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงทวารได้ เช่น หางจระเข้ น้ำมันมะพร้าว หรือทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) อย่างไรก็ตาม การใช้สารเหล่านี้ยังไม่มีการศึกษามารองรับและต้องรอการยืนยันอย่างชัดเจน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย
การใช้ยา
คนที่เป็นริดสีดวงทวารหนักแล้วมีอาการปวดอาจบรรเทาได้ด้วยการกินยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน หรือแพทย์อาจแนะนำหรือสั่งจ่ายการใช้ยารูปแบบต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการคันและอาการบวมบริเวณที่เกิดริดสีดวง หรือให้ใช้ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว (Stool Softeners) เพื่อช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติขณะขับถ่ายอุจจาระ ขับถ่ายเป็นเลือด หรืออาการริดสีดวงทวารไม่ดีขึ้นหลังบรรเทาอาการด้วยตนเองเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
การรักษาอื่น ๆ
หากการดูแลตนเองและการใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ก่อนรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีต่อไปนี้
- การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด (Sclerotherapy) เพื่อทำให้ริดสีดวงทวารหดตัวลง
- การใช้ยางรัดริดสีดวง (Rubber Band Ligation) โดยแพทย์จะยางชนิดพิเศษรัดบริเวณฐานของริดสีดวงเพื่อยับยั้งการไหลเวียนของเลือด ทำให้ริดสีดวงหลุดออกไปจนเหลือเพียงรอแผลเป็น
- การทำให้เลือดแข็งตัว (Electrocoagulation) ด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าทำให้เนื้อเยื่อที่เป็นริดสีดวงทวารกลายเป็นแผลเป็นและหลุดออกไปในเวลาต่อมา
- การผ่าตัดริดสีดวงทวารในกรณีที่ริดสีดวงทวารมีขนาดใหญ่และไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ วิธีนี้สามารถรักษาริดสีดวงได้ทั้ง 2 ชนิด
ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรม โดยการกินอาหารที่มีใยอาหารสูงเพื่อลดอาการท้องผูก โดยเฉพาะผักผลไม้และธัญพืช ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยานเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้
นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้ดีขึ้น โดยไม่ควรเบ่งอุจจาระขณะขับถ่ายหรือนั่งขับถ่ายนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ความดันภายในเส้นเลือดบริเวณทวารหนักเพิ่มสูงขึ้น และห้ามอั้นอุจจาระเพราะอาจทำให้อุจจาระแข็งตัวและขับถ่ายได้ยากขึ้น