Sexual Harassment คือ การคุกคามทางเพศหรือการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นพฤติกรรมทางเพศที่กระทำโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่เหยื่อมักเป็นผู้หญิง วัยรุ่น และเด็ก ส่วนใหญ่แล้ว Sexual Harassment อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศหรือการทำร้ายร่างกาย และมักจะทำให้เหยื่อได้รับการผลกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง
การถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัวเพราะมันเกิดขึ้นได้ทุกที่ เช่น การโดนแอบถ่ายใต้กระโปรง การโดนลูบไล้บนรถสาธารณะ หรือแม้แต่คำพูดที่ส่อไปในทางเพศที่สร้างความอึดอัดให้กับผู้ที่ฟัง เป็นต้น การประสบกับอาชญากรรมทางเพศเหล่านี้บ่อยครั้งอาจทำให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งนำไปสู่ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ได้ ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิในร่างกายของตนเองและป้องกันการคุกคามทางเพศ เราควรศึกษารูปแบบของพฤติกรรมเหล่านั้นและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม
พฤติกรรมแบบไหนถึงเรียก Sexual Harassment
การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทั้งที่ทำงาน โรงเรียน บ้าน พื้นที่สาธารณะ หรือแม้แต่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบหลัก
Sexual Harassment ทางคำพูดหรือการสื่อสาร
พฤติกรรมในรูปแบบนี้หมายถึงการใช้คำพูดและตัวอักษร ทั้งการเขียนและการส่งข้อความที่ส่อไปในทางเพศ เช่น
- การพูดหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปร่าง หน้าตา และพฤติกรรมของอีกฝ่าย
- การใช้เดอร์ตี้โจ๊ก (Dirty Joke) หรือมุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ
- การผิวปากหรือส่งเสียงหยอกล้อ
- การร้องขอหรือส่งข้อความซ้ำ ๆ เพื่อขอนัดเจอ ขอเบอร์ หรือข้อมูลส่วนตัวแม้จะถูกปฏิเสธ
- การร้องขอการกอด จูบ การมีเพศสัมพันธ์ หรือวิดีโอและรูปภาพส่วนตัว
- การใช้คำพูดหรือส่งข้อความข่มขู่เมื่ออีกฝ่ายไม่ยินยอมที่จะทำตามคำขอ
- การปล่อยข้อมูลส่วนตัวหรือสร้างข่าวลือเกี่ยวกับเหยื่อในทางเสียหาย
- การส่งภาพ วิดีโอ และเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาทางเพศให้กับอีกฝ่าย
Sexual Harassment ทางร่างกาย
การคุกคามทางเพศทางร่างกายอาจเป็นการล่วงละเมิดที่รุนแรงขึ้น โดยมีการใช้ร่างกายและพละกำลังเพื่อคุกคามอีกฝ่าย เช่น
- การเข้าประชิดตัวหรืออยู่ใกล้มากผิดปกติ
- การสัมผัสร่างกายโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม อย่างการถูกลูบไล้หรือโดนนั่งเบียดบนรถสาธารณะโดยอาศัยจังหวะให้เหมือนกับการบังเอิญ แต่ผู้คุกคามบางรายอาจจับหรือสัมผัสร่างกายของเหยื่อโดยตรง
- การสตอล์ก (Stalk) หรือการเดินตามเหยื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ
- การขัดขวางไม่ให้อีกฝ่ายเดินผ่านจุดใดจุดหนึ่ง
- การบีบบังคับให้อีกฝ่ายยินยอมต่อการถูกคุกคามทางเพศ โดยใช้หน้าที่การงาน ผลการเรียน ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์ รวมทั้งการใช้กำลังบังคับให้ยินยอมต่อการคุกคามทางเพศ
นอกจากนี้ การคุกคามทางเพศยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น การจ้องมองร่างกายของอีกฝ่าย การแอบดู แอบถ่ายภาพหรือวิดีโอ การโชว์อวัยวะเพศและช่วยตัวเองต่อหน้าอีกฝ่าย เป็นต้น หากพฤติกรรมนั้นส่อไปทางเพศและสร้างความอึดอัด หวาดกลัว หรือไม่สบายใจ การกระทำเหล่านั้นอาจจัดเป็นการคุกคามทางเพศได้
ผลกระทบจาก Sexual Harassment
Sexual Harassment สามารถสร้างบาดแผลให้กับทั้งร่างกายและจิตใจของเหยื่อ การเผชิญกับการคุกคามทางเพศโดยทั่วไปมักทำให้เกิดความตกใจหรือกลัว อย่างเจอคนโชว์ของลับหรือถูกลูบไล้ร่างกายโดยไม่ยินยอม ยิ่งหากเป็นการคุกคามทางเพศที่เกิดจากคนใกล้ตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัว ครูอาจารย์ หัวหน้า หรือแม้แต่เพื่อนร่วมชั้นเรียนมักค่อย ๆ สร้างความเครียด ความหวาดระแวง และความกลัวที่รุนแรงมากขึ้น
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาผลกระทบจากการโดน Sexual Harassment ในที่ทำงาน ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายพบว่า เหยื่อที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้มักเกิดความรู้สึกกังวลใจ รู้สึกเครียดติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้สึกโกรธและโทษตนเอง โดยภาวะอารมณ์ดังกล่าวอาจมาพร้อมกับปัญหาในการใช้ชีวิต อย่างการขาดงาน การเปลี่ยนงาน และอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพ
นอกจากนี้ อารมณ์ทางลบที่เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความเครียด ความกังวล ความโกรธ หรือความเกลียดชัง อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคทางอารมณ์ได้ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรัง เช่น โรคเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) พฤติกรรมใช้สารเสพติดหรือติดสุรา ปัญหาสุขภาพทางกาย อย่างโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เป็นต้น
สำหรับผู้ที่กระทำการคุกคามถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายและ Sexual Harassment บางรูปแบบยังถือว่าเป็นอาชญากรรมอีกด้วย
Sexual Harassment ในเด็กและวัยรุ่น
Sexual Harassment เป็นสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่บ่อยครั้งที่เหยื่อของพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมนี้มักเป็นเด็กและวัยรุ่น ทั้งหญิงและชาย เพราะคนกลุ่มนี้อาจยังไม่ทราบถึงสิทธิที่ในร่างกายและความคิดของตนเองได้เท่ากับผู้ใหญ่ บางกรณีผู้ที่คุกคามก็ยังเป็นคนใกล้ตัว อย่างพ่อแม่ ญาติพี่น้อง อาจารย์ และเพื่อนร่วมชั้น ทำให้เหยื่อเกิดความกลัวหรือไม่สามารถหาทางของจากปัญหาดังกล่าวได้ด้วยตนเอง ทำให้ถูกกระทำซ้ำเรื่อยมา
ด้วยเหตุนี้ จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ ทั้งทางด้านร่างกายและพฤติกรรมของคนรอบตัว หากพบความผิดปกติ เช่น รอยฟกช้ำ กินอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง พูดน้อยลง เหม่อลอย ดูเครียด เศร้า กังวลกว่าปกติ ผลการเรียนตก ไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากมาเรียน คิดสั้น หรือพฤติกรรมอื่นที่บ่งบอกว่าคนนั้นอาจกำลังเผชิญกับปัญหาบางอย่างอยู่ ควรเกลี้ยกล่อมให้พูดปัญหาเหล่านั้นออกมาเพื่อแก้ไขอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่เป็นเหยื่อจากการคุกคามทางเพศ ควรปรึกษาผู้ที่ไว้ใจได้ อย่างพ่อแม่ ครู เพื่อนสนิท หรือติดต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือ
ทำอย่างไรเมื่อถูก Sexual Harassment ?
หากต้องเผชิญกับ Sexual Harassment สิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติ แม้จะทำได้ยาก แต่เป็นวิธีเบื้องต้นที่ช่วยให้รับมือการเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น และตระหนักไว้เสมอว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อตั้งสติได้แล้ว ควรหลบออกจากสถานการณ์การถูกคุกคามโดยเร็วที่สุด ในกรณีที่ไม่สามารถหลบออกจากบริเวณนั้นได้อาจควรหาทางหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเองจากการคุกคาม เช่น
- ไม่สนใจการกระทำเหล่านั้นหากไม่ได้เป็นการคุกคามด้านร่างกาย คนบางส่วนที่มีอาการชอบโชว์อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติบางอย่าง ซึ่งการแสดงอาการตกใจหรือกลัวจะทำให้ผู้ป่วยนั้นรู้สึกชอบใจ
- ไปหาตำรวจ พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือไปในที่ที่มีคนอยู่เยอะ
- ทำเป็นพูดคุยกับคนที่อยู่ในบริเวณนั้นหรือคุยโทรศัพท์ เพื่อให้ผู้คุกคามเกิดความกลัวและหยุดพฤติกรรม
- หากมีการร้องขอสิ่งใดหรือนัดเจอ ควรปฏิเสธและจบการสนทนาแค่นั้น
- บันทึกภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง ข้อความ และข้อมูลของผู้คุกคามเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐาน
- แจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงเหตุการณ์ที่ที่เกิดขึ้น
Sexual Harassment ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้น ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้อื่นและมีความผิดทางกฎหมาย ทุกคนควรใส่ใจและร่วมกันสอดส่องดูแล ไม่ว่าเราจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้หญิงหรือผู้ชาย หากพบเห็นการล่วงละเมิดทางเพศ การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อสร้างบรรทัดฐานของสังคมในการช่วยเหลือเหยื่อจากการละเมิดสิทธิและตระหนักถึงอันตรายจาก Sexual Harassment ที่เป็นภัยสังคมรูปแบบหนึ่ง