ค่าความดัน รู้ความหมายและวิธีคุมให้เป็นปกติ

ค่าความดันเป็นหนึ่งในค่าสำคัญที่สามารถใช้บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย หรือสัญญาณของโรคบางชนิดได้ เช่น ภาวะช็อก ภาวะขาดน้ำรุนแรง การติดเชื้อ โรคหัวใจ การเรียนรู้วิธีอ่านค่าความดันและวิธีควบคุมค่าความดันให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ค่าความดันเป็นค่าที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดวัน เช่น อายุ ยาที่ใช้ หรือแม้แต่การเปลี่ยนท่าทาง หรือการเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น โดยปัญหาสุขภาพที่เกิดจากค่าความดันที่ผิดปกติอาจเป็นได้ทั้งค่าความดันที่ต่ำไปและค่าความดันที่สูงไป แต่ปัญหาที่รุนแรงส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการมีค่าความดันที่สูง

ค่าความดัน รู้ความหมายและวิธีคุมให้เป็นปกติ

ความหมายของค่าความดัน

ค่าความดันจะถูกวัดออกมาเป็นหน่วยมิลลิเมตรปรอท (mmHg) โดยจะวัดทั้งหมด 2 ค่า ได้แก่ ค่าความดันตัวบน (Systolic) ที่บ่งบอกถึงค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว และค่าความดันตัวล่าง (Diastolic) ที่บ่งบอกถึงค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว

โดยค่าความดันที่ปกติ ค่าความดันตัวบนจะอยู่ที่ไม่เกิน 120 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างจะต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท ส่วนค่าความดันที่มากหรือน้อยกว่านี้ จะถูกแบ่งออกเป็นระดับตามความรุนแรง ดังนี้

  • อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) ค่าความดันตัวบนระหว่าง 120–129 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวไม่เกิน 80 มิลลิเมตรปรอท
  • มีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นที่ 1 ค่าความดันตัวบนอยู่ระหว่าง 130–139 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างอยู่ระหว่าง 80–89 มิลลิเมตรปรอท
  • มีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นที่ 2 ค่าความดันตัวบนเกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างเกิน 90 มิลลิเมตรปรอท
  • มีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง ค่าความดันตัวบนเกิน 180 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างเกิน 120 มิลลิเมตรปรอท
  • มีภาวะความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) ค่าความดันตัวบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท โดยควรได้รับการประเมินโดยแพทย์อีกครั้ง 

ทั้งนี้ ค่าความดันเป็นค่าที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างวัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การหายใจ การออกกำลังกาย ท่าทางของร่างกาย ภาวะทางอารมณ์ หรือการนอนหลับ ดังนั้น เพื่อความแม่นยำในการวัดค่าความดัน ให้นั่งขณะวัดความดัน และวัดในช่วงเวลาที่ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย

วิธีควบคุมค่าความดันให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม

สำหรับผู้ที่กำลังมองหาวิธีควบคุมค่าความดัน การนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้อาจช่วยได้

วิธีลดค่าความดัน

สำหรับผู้ที่ต้องการลดค่าความดันอาจลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้

  • ออกกำลังกายให้บ่อยขึ้น โดยอาจจะออกให้ได้ประมาณ 30 นาที/วัน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง หรือเวทเทรนนิ่ง 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมหรือเกลือสูง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ควบคุมความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

วิธีเพิ่มค่าความดัน

ผู้ที่ต้องการเพิ่มค่าความดันอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือประมาณ 6–8 แก้ว/วัน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้อาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้
  • เพิ่มเกลือในมื้ออาหารให้มากขึ้นเล็กน้อย แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมต่อแต่ละบุคคลก่อน
  • รับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่เพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้น รวมถึงควรจำกัดปริมาณอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว อาหารประเภทเส้น ขนมปัง และมันฝรั่ง ไม่ให้มากจนเกินไป
  • ออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยอาจจะออกกำลังกายให้ได้ประมาณ 30 นาที/วัน

ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีที่ช่วยควบคุมค่าความดันด้วยตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่มีค่าความดันสูงหรือต่ำกว่าปกติอยู่บ่อยครั้งก็ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่คนในครอบครัวมีภาวะผิดปกติด้านความดัน มีอายุมาก กำลังตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวมาก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารเค็มบ่อย ๆ ไม่ออกกำลังกาย มีโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ และมีโรคเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีค่าความดันโลหิตสูงพร้อมกับเกิดอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ปวดหลัง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ พูดลำบาก และรู้สึกชาบริเวณใบหน้า เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายที่รุนแรง