หูดหงอนไก่ (Genital Warts) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยลักษณะอาการของผู้ป่วยจะแตกต่างกันไป เช่น บางคนพบหูดที่มีรูปร่างคล้ายติ่งเนื้อขนาดเล็ก มีพื้นผิวขรุขระคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ บางคนพบเพียงรอยขรุขระเท่านั้น ไม่พบติ่งเนื้อ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการคัน มีเลือดออก หรือแสบร้อนร่วมด้วย
โรคหูดหงอนไก่ในเพศหญิงมักพบที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ฝีเย็บ ทวารหนัก ในเพศชายมักพบบริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เส้นสองสลึง รูเปิดท่อปัสสาวะ และทวารหนัก ในกรณีที่มีการทำออรัลเซ็กส์ อาการยังอาจเกิดที่บริเวณริมฝีปาก ลิ้น และภายในช่องปากได้เช่นกัน ตามปกติแล้วโรคนี้มักไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ที่รุนแรง แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจหรือวิตกกังวลได้
หูดหงอนไก่เกิดจากอะไร
โดยมากหูดหงอนไก่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) บางสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 โดยวิธีการแพร่กระจายของเชื้อชนิดนี้หลัก ๆ คือ การมีเพศสัมพันธ์ การทำออลรัลเซ็กส์ การใช้เซ็กส์ทอย หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง
ในบางกรณี คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคหูดหงอนไก่ยังอาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงติดเชื้อขณะคลอดผ่านช่องคลอดได้ แต่พบได้น้อย โดยบริเวณที่มักพบการเกิดหูดก็เช่น บริเวณเส้นเสียง คอหอย และหลอดลม
นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีได้ เช่น
- มีคู่นอนหลายคน
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- คู่นอนมีประวัติติดเชื้อเอชพีวี
- มีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง
ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อเอชพีวีบางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของร่างกายและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ
หูดหงอนไก่ป้องกันได้หรือไม่ และควรทำอย่างไรเมื่อเป็นหูดหงอนไก่
การป้องกันหูดหงอนไก่อาจทำได้ยาก เนื่องจากเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่าย แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการฉีดวัคซีน HPV หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน หมั่นไปตรวจโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเพียงวิธีช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะหากคู่นอนมีเชื้อที่อวัยวะบริเวณอื่น เชื้อไวรัสก็ยังมีโอกาสแพร่กระจายได้เช่นกัน
สำหรับการจัดการกับหูดหงอนไก่ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษา โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละคน เช่น การจี้ด้วยสารเคมี การทายา หรือการผ่าตัด และภายหลังการรักษาเสร็จสิ้นลง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อย