รู้จักกับ 6 สัญญาณของภาวะขาดโปรตีน

ขาดโปรตีน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่ออวัยวะในร่างกายได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ ผิวหนัง เส้นผม กระดูก และเลือด

โปรตีนถือเป็นสารอาหารที่พบได้ทั่วร่างกาย นอกจากเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อกล้ามเนื้อแล้ว ยังจำเป็นต่อระบบการทำงานของร่างกายในด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการเจริญเติบโต ช่วยลำเลียงสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด รักษาสมดุลความเป็นกรดและเบสของเลือด ป้องกันร่างกายติดเชื้อ และอื่น ๆ อีกมากมาย

รู้จักกับ 6 สัญญาณของภาวะขาดโปรตีน

ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณผิดปกติที่อาจกำลังบ่งบอกว่า ร่างกายมีภาวะขาดโปรตีนมาให้ใช้สังเกตตัวเองและคนใกล้ตัว เพื่อที่จะได้สามารถเข้าใจและรับมือกับภาวะขาดโปรตีนได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ 

6 สัญญาณของภาวะขาดโปรตีน

ผู้ที่มีภาวะขาดโปรตีนอาจพบอาการผิดปกติบางอย่างในลักษณะต่อไปนี้

1. สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ

โดยปกติ เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ร่างกายจะนำโปรตีนที่สะสมไว้ในกล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscles) มาใช้แทน การขาดโปรตีนเป็นระยะเวลานานจึงอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ได้ โดยเฉพาะในผู้สูงวัย

2. บวมน้ำ (Edema)

บวมน้ำ เป็นภาวะที่ผิวหนังเกิดอาการบวมจากการที่เนื้อเยื่อภายในร่างกายมีของเหลวสะสมอยู่มากเกินไป มักจะพบบริเวณท้อง ขา เท้า และมือ

ผู้ที่มีภาวะขาดโปรตีนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะบวมน้ำ โดยมักเกิดจากการที่โปรตีนอัลบูมิน โปรตีนที่พบได้ในกระแสเลือดซึ่งจะช่วยป้องกันการสะสมของของเหลวในเนื้อเยื่อของร่างกายมีปริมาณที่ลดน้อยลง

นอกจากนี้ ภาวะบวมน้ำยังเป็นภาวะที่ควรได้รับการตรวจจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ

3. เส้นผม เล็บ และผิวหนังเกิดอาการผิดปกติ

โปรตีนถือเป็นสารอาหารที่พบได้ทั่วร่างกาย รวมถึงเส้นผม เล็บ และผิวหนังด้วย การขาดโปรตีนจึงอาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับเส้นผม เล็บ และผิวหนัง เช่น ผมบางลง ผมร่วง ผมขาดง่าย สีผมอ่อนลงหรือเปลี่ยนแปลงไป ผิวแห้ง ผิวลอกเป็นแผ่น เล็บเปราะ หรือเกิดเล็บเป็นคลื่นได้

4. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

โปรตีนถือเป็นส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง และมีหน้าที่สำคัญในการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย 

การขาดโปรตีนจึงอาจส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมีออกซิเจนไปเลี้ยงน้อยลง ในกรณีรุนแรงอาจนำไปสู่อาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม หรือเกิดภาวะโลหิตจางได้

5. ป่วยบ่อย

โปรตีนถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแอนติบอดี้ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส หรือสารพิษต่าง ๆ การขาดโปรตีนจึงอาจส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น

6. หิวบ่อย

โปรตีนถือเป็น 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย ซึ่งเมื่อร่างกายขาดโปรตีน กลไกในร่างกายจะกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่ขาดโปรตีนมักมีแนวโน้มที่จะอยากอาหารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

แล้วควรรับประทานโปรตีนเท่าไรเพื่อป้องกันภาวะขาดโปรตีน

โดยปกติแล้ว ปริมาณความต้องการโปรตีนของแต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น อายุ น้ำหนักตัว มวลกล้ามเนื้อ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน 

ในเบื้องต้น อาจจะคำนวณปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับในแต่ละวันอย่างคร่าว ๆ จากน้ำหนักตัว โดยการรับประทานโปรตีนให้ได้ในปริมาณ 0.8–1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น หากมีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ก็ควรจะรับประทานโปรตีนให้ได้ประมาณ 40–50 กรัมต่อวัน 

แต่คนที่ต้องการเพิ่มกล้ามเนื้อหรือนักกีฬา อาจจะต้องรับประทานเพิ่มเป็น 2–3 เท่า เช่น หากมีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ปริมาณการรับประทานโปรตีนก็จะอยู่ที่ประมาณ 100–150 กรัม 

นอกจากสัญญาณผิดปกติในข้างต้นแล้ว ภาวะขาดโปรตีนยังอาจส่งผลเสียอื่น ๆ ต่อร่างกายได้อีกด้วย เช่น บาดแผลหายช้า อารมณ์แปรปรวน กระดูกแตกหักง่าย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันพอกตับ หรือในกรณีที่เป็นเด็ก อาจส่งผลให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการช้าผิดปกติได้ 

ดังนั้น หากพบว่าตนเองหรือบุตรหลานมีความเป็นไปได้ว่าอาจกำลังมีภาวะขาดโปรตีนอยู่ ให้หาเวลาไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกายและแนะนำแนวทางในการปฏิบัติตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ