Refeeding Syndrome เป็นภาวะผิดปกติที่พบได้ในผู้ป่วยภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือผู้ที่อดอาหารเป็นระยะเวลานานแล้วกลับมาได้รับสารอาหารตามปกติอย่างฉับพลัน โดยภาวะนี้ถือเป็นภาวะที่มีความรุนแรง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
หลายคนคงทราบกันดีว่า การอดอาหารหรือการรับประทานอาหารในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความของร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะทุพโภชนาการได้ แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าการรักษาภาวะผิดปกตินี้ไม่ใช่การกลับมารับประทานอาหารตามปกติด้วยตัวเอง แต่ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมโดยแพทย์อย่างใกล้ชิดหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Refeeding
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธี Refeeding อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่าภาวะ Refeeding Syndrome ได้ ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปว่าภาวะ Refeeding Syndrome เป็นภาวะที่มีความรุนแรง บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับภาวะนี้ ทั้งกลไกการเกิดภาวะ อาการที่บ่งบอกถึงสัญญาณผิดปกติ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มาให้ได้ศึกษากัน
ภาวะ Refeeding Syndrome เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอาการใดที่เป็นสัญญาณบ้าง
โดยปกติแล้ว ในกระบวนการย่อยสารอาหารต่าง ๆ ของร่างกาย ตับอ่อนจะมีหน้าที่หลั่งอินซูลินออกมาเพื่อนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์และเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน แต่เมื่อร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือมีการอดอาหารติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะเริ่มขาดแร่ธาตุ และระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนไป
โดยตับอ่อนจะเริ่มหลั่งอินซูลินออกมาน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์เปลี่ยนไปใช้ไขมันและโปรตีนที่สะสมในร่างกายเป็นแหล่งพลังงานแทน
จากนั้น เมื่อร่างกายกลับมาได้รับสารอาหารอีกครั้ง ระบบการเผาผลาญของร่างกายจะเกิดการปรับเปลี่ยน ส่งผลให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาอย่างฉับพลัน เพื่อปรับให้เซลล์กลับไปใช้กลูโคสซึ่งได้จากการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่เป็นแหล่งพลังงานหลักเหมือนเดิม
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วกระบวนการเปลี่ยนกลูโคสให้เป็นพลังงานของเซลล์ต้องใช้วิตามินบี 1 และแร่ธาตุบางชนิด เช่น ฟอสเฟต แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งเมื่อสารอาหารและแร่ธาตุดังกล่าวถูกดึงไปใช้ในกระบวนการนี้มากขึ้น อาจส่งผลให้สารอาหารบางอย่างหรือแร่ธาตุในเลือดลดต่ำลงผิดปกติจนนำไปสู่กลุ่มอาการผิดปกติบางอย่าง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Refeeding Syndrome ได้
โดยผู้ป่วยที่มีภาวะ Refeeding Syndrome มักจะเริ่มพบอาการผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนบางอย่างภายในเวลาประมาณ 4 วันหลังจากกลับมาได้รับสารอาหารอีกครั้ง เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย ท้องเสีย รู้สึกสับสน หายใจลำบาก ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง บวมน้ำ ภาวะอัมพาต หัวใจวาย สูญเสียการรับรู้ หรือเสียชีวิต
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Refeeding Syndrome
Refeeding Syndrome เป็นภาวะที่มักพบเฉพาะในผู้ที่ได้รับการรักษาภาวะทุพโภชนาการขั้นรุนแรงเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างร่วมด้วย เช่น
- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 16
- ผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วง 3–6 เดือน
- ผู้ที่อดอาหารนานติดต่อกันเกิน 10 วัน
- ผู้ที่มีระดับแร่ธาตุฟอสเฟต โพแทสเซียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
- ผู้ที่มีประวัติติดสุรา
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น อินซูลิน ยาเคมีบำบัด ยาขับปัสสาวะ หรือยาลดกรด
- ผู้ที่เพิ่งได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
- ผู้ที่มีแผลไหม้จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ หรือต้องอยู่ในภาวะงดอาหาร
- ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางชนิด เช่น ผู้ป่วยโรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ และผู้ที่มีภาวะลำไส้สั้น
เนื่องจากภาวะ Refeeding Syndrome เป็นภาวะผิดปกติที่รุนแรงและควรได้รับการดูแลและการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง