6 ยาระบาย ตัวช่วยอาการท้องผูกที่หาซื้อได้เอง

ยาระบาย (Laxatives) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ซึ่งเป็นอาการที่รู้สึกว่าขับถ่ายลำบาก อุจจาระแข็ง ต้องเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ หรือขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ โดยยาระบายจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับถ่าย บรรเทาความรู้สึกไม่สบายท้อง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการท้องผูก อย่างริดสีดวงทวาร

ยาระบายสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์ ได้แก่ ชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระเพื่อกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวกำจัดอุจจาระออกไป (Bulk–forming Laxatives) ชนิดเพิ่มน้ำในลำไส้เพื่อให้อุจจาระนุ่มและถูกขับออกไปได้ง่ายขึ้น (Osmotic Laxatives) ชนิดกระตุ้นการทำงานของลำไส้ (Stimulant Laxatives) และชนิดที่ช่วยให้อุจจาระนุ่ม (Stool Softeners)

ยาระบาย

ตัวอย่างยาระบายที่สามารถซื้อได้เองที่ร้านขายยา

ยาระบายเป็นยาที่มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบยาผงผสมกับน้ำ ยาน้ำแขวนตะกอน ยาน้ำเชื่อม และยาเม็ด ตัวอย่างยาระบายที่สามารถซื้อได้เอง เช่น

1. ยาไฟโบเจล รสส้ม (Fybogel Orange) ชนิดยาผงผสมกับน้ำ

Mar-24-04-01

ยาไฟโบเจล รสส้ม เป็นยาชนิดผงที่มีสารสำคัญคือเมล็ดเทียนเกล็ดหอย (Psyllium Husk) ที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มปริมาณเนื้ออุจจาระ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายขับอุจจาระออกไป

สำหรับการรับประทานยา ผู้รับประทานยาต้องผสมผงยาเข้ากับน้ำเย็น 1 แก้ว (ประมาณ 150 มิลลิลิตร) ส่วนปริมาณยาที่ใช้จะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ใช้ยา 

กรณีผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าเย็น โดยให้ผสมยา 1 ซองกับน้ำแล้วดื่ม และหลังจากรับประทานยาแล้วให้ดื่มน้ำเปล่าตามอีก 1 แก้ว ส่วนกรณีเด็กอายุ 6–12 ปี ให้รับประทานยาวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น โดยให้ผสมยา ½ –1 ช้อนชากับน้ำ 1 แก้วแล้วดื่ม และหลังจากรับประทานยาแล้วให้ดื่มน้ำเปล่าตามอีก 1 แก้วเช่นกัน

ทั้งนี้ เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ผู้ป่วยเบาหวาน รวมทั้งผู้ที่มีอาการท้องผูกชนิดที่ก้อนอุจจาระมีลักษณะอัดแข็งเป็นก้อนจนถ่ายไม่ออกไม่ควรใช้ยานี้ หากไม่ได้อยู่ภายในการดูแลจากแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเกิดอันตรายจากการใช้ยานี้ได้

นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในช่วงก่อนนอน เนื่องจากยาอาจส่งผลให้ลำไส้เกิดการอุดตันได้ และหากกำลังใช้ยาชนิดใด ๆ อยู่ ให้รับประทานห่างจากยานี้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจากยาชนิดนี้อาจไปรบกวนการดูดซึมของยาอื่นได้

2. ยามิวซิลิน เอสเอฟ รสส้ม (Mucilin SF Orange Flavor) ชนิดผงผสมกับน้ำ

Mar-24-04-02

ยามิวซิลิน เอสเอฟ รสส้มเป็นยาชนิดผงที่มีสารสำคัญคือเมล็ดเทียนเกล็ดหอย ที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มปริมาณของอุจจาระและปริมาณน้ำในอุจจาระ ร่างกายจึงสามารถขับถ่ายอุจจาระออกไปได้ง่ายขึ้น

สำหรับวิธีการรับประทาน ให้ผสมผงยาเข้ากับน้ำในปริมาณ 150 มิลลิลิตร โดยในกรณีผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ให้รับประทานยาวันละ 1–3 ครั้ง ครั้งละ 1 ซอง และหลังจากรับประทานยาแล้วให้ดื่มน้ำเปล่าตามอีก 1 แก้ว ส่วนกรณีที่ผู้รับประทานเป็นเด็กอายุ 6–12 ปี ให้ลดปริมาณยาลงครึ่งหนึ่งจากผู้ใหญ่ และหลังจากรับประทานยาแล้วให้ดื่มน้ำเปล่าตามอีก 1 แก้วเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้รับประทานยาควรรีบดื่มยาทันทีหลังผสมยาเข้ากับน้ำ เพื่อป้องกันยาจับตัวกันเป็นวุ้น และเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย นอกจากนั้น ผู้ที่รับประทานยานี้ไม่ควรรับประทานผงยาโดยไม่ผสมกับน้ำก่อน ไม่ควรผสมยาลงในน้ำร้อน ไม่ควรรับประทานยาก่อนนอน และผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ไม่ควรใช้ยานี้

3. ยาโลซาแลค ไซรัป (Losalac Syrup) ชนิดยาน้ำเชื่อม

Mar-24-04-03

ยาโลซาแลค ไซรัป ชนิดยาน้ำเชื่อม เป็นยาที่มีสารสำคัญคือ แลกทูโลส (Lactulose) ที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มน้ำในลำไส้ เพื่อให้อุจจาระนุ่มและถูกขับออกไปได้ง่ายขึ้น

สำหรับการใช้ยา หากผู้ใช้ยาเป็นผู้ใหญ่ ให้เริ่มต้นรับประทานยาในปริมาณ 10–45 มิลลิลิตร  วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารเช้า เป็นระยะเวลาประมาณ 2–3 วัน และลดปริมาณยาลงตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยา

ส่วนในกรณีเด็ก หากเด็กอยู่ในช่วงอายุ 7–14 ปี ให้เริ่มต้นรับประทานยาในปริมาณ 15 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารเช้า เป็นระยะเวลาประมาณ 2–3 วัน และลดปริมาณยาลงตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยา

ส่วนเด็กที่อายุอยู่ในช่วง 1–6 ปี ให้เริ่มต้นรับประทานยาในปริมาณ 5–10 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหารเช้า เป็นระยะเวลาประมาณ 2–3 วัน และลดปริมาณยาลงตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยา

4. ยาอีมัลแลกซ์ มิ้ลค์ ออฟ แมกนีเซีย (Emulax Milk Of Magnesia) ชนิดยาน้ำแขวนตะกอน

Mar-24-04-04

ยาอีมัลแลกซ์ มิ้ลค์ ออฟ แมกนีเซีย เป็นยาที่มีสารสำคัญคือ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) ที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มน้ำในลำไส้ เพื่อให้อุจจาระนุ่ม และถูกขับออกไปได้ง่าย

สำหรับการใช้ยานี้เพื่อรักษาอาการท้องผูก ให้ผู้ป่วยรับประทานยาในปริมาณ 30–60 มิลลิลิตร หรือประมาณ 2–4 ช้อนโต๊ะ เพียงครั้งเดียว ขณะท้องว่างหรือก่อนนอน โดยควรเขย่าขวดก่อนรับประทาน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ หรืออาเจียนอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้

5. ยาเซโนแลค (Senolax) ชนิดเม็ด

Mar-24-04-06

ยาเซโนแลคเป็นยาที่มีสารสำคัญคือ เซนโนไซด์ (Sennosides) ที่ออกฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

สำหรับการใช้ยา กรณีผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 2–4 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน ส่วนเด็ก 6–12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1–2 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน และเด็กอายุ 2–6 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1/2–1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน 

ทั้งนี้ ยานี้จะไม่เหมาะสำหรับการใช้ติดต่อกันนาน ๆ เนื่องจากการใช้ยาในกลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้นาน ๆ อาจส่งผลให้ผู้ใช้ยาขาดสารอาหาร และสูญเสียสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายได้ และหากผู้ใช้ยากำลังมีภาวะลำไส้อักเสบ หรือกำลังมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้

6. ยาดัลโคแล็กซ์ (Dulcolax) ชนิดเม็ด

Mar-24-04-07

ยาดัลโคแล็กซ์เป็นยาที่มีสารสำคัญคือ บิซาโคดิล (Bisacodyl) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ให้ลำไส้เกิดการบีบตัว

สำหรับการใช้ยา หากผู้ใช้ยาเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาวันละ 1–2 เม็ด ก่อนนอน และดื่มน้ำตามมาก ๆ ส่วนเด็กที่อายุ 4–10 ปี ให้รับประทานยาวันละ 1 เม็ด ก่อนนอน และดื่มน้ำตามในปริมาณมาก

ทั้งนี้ เนื่องจากยานี้ก็เป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ผู้ใช้ยาจึงไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร และการสูญเสียสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย และหากผู้ใช้ยากำลังมีภาวะลำไส้อักเสบ หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

นอกจากการใช้ยาระบายเพื่อแล้ว แต่ผู้ที่กำลังมีอาการท้องผูกสามารถรับมือกับอาการท้องผูกด้วยการดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ดื่มน้ำให้มากขึ้น เพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร ออกกำลังกาย และควบคุมความเครียด 

หากใช้ยาระบายไปแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้นใน 3 วัน หรือเริ่มพบอาการผิดปกติใด ๆ ขึ้นมา ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย