คอลลาเจน (Collagen) คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโครงสร้างเป็นเส้นใย ประโยชน์ของคอลลาเจนคือช่วยให้เนื้อเยื่อในร่างกายมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น คอลลาเจนพบได้ในผิวหนัง กระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ ร่างกายของเราสร้างคอลลาเจนเองได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะผลิตคอลลาเจนได้น้อยลง ทำให้ผิวหนัง กระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อเสื่อมลง
ร่างกายสังเคราะห์คอลลาเจนจากการรับประทานอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา และไข่ และอาจได้รับจากการรับประทานอาหารเสริมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แบบผง เม็ดเคี้ยว และแคปซูล หลายคนอาจสงสัยว่าประโยชน์ของคอลลาเจนมีอะไรบ้าง และการรับประทานอาหารหรือหรืออาหารเสริมที่มีคอลลาเจนช่วยบำรุงร่างกายได้จริงหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณแล้ว
ประโยชน์ของคอลลาเจนต่อสุขภาพ
ในปัจจุบันมีการค้นพบคอลลาเจนมากถึง 29 ชนิด ซึ่งคอลลาเจนอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ดังนี้
บำรุงผิวพรรณ
ผิวหนังของเราประกอบด้วยคอลลาเจนมากถึง 75% แต่เมื่ออายุมากขึ้น การสร้างคอลลาเจนในผิวหนังจะลดลง ทำให้ผิวแห้ง หย่อนคล้อย และมีริ้วรอย ผลการศึกษาบางส่วนพบว่าการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิว ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เสริมความหนาแน่นของคอลลาเจนในผิวหนัง ฟื้นฟูบาดแผล ป้องกันริ้วรอยและความเหี่ยวย่นของผิว
งานวิจัยหนึ่งให้ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 39 คน รับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนวันละ 10 กรัมเป็นเวลา 8 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน และพบว่าผิวมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและผิวชั้นนอกมีความชุ่มชื้นขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของคอลลาเจนในการดูแลและฟื้นฟูผิวหนังต่อไป
นอกจากคอลลาเจนชนิดรับประทาน ยังมีการนำคอลลาเจนไปเป็นส่วนผสมในครีมบำรุงที่อ้างสรรพคุณในการช่วยลดริ้วรอยและช่วยให้ผิวกระชับ อย่างไรก็ตาม คอลลาเจนในครีมทาผิวมักมีโมเลกุลขนาดใหญ่ ทำให้ดูดซึมเข้าสู่ผิวได้ยากหรือไม่สามารถดูดซึมได้เลย และเคลือบอยู่ที่ผิวชั้นบน การทาครีมที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจึงอาจทำได้เพียงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และไม่สามารถแก้ไขความหย่อนคล้อยของผิวได้
ส่วนการใช้คอลลาเจนในสถานเสริมความงามนั้นถูกยกเลิกไปเนื่องจากการใช้คอลลาเจนที่สังเคราะห์จากสัตว์ทำให้เกิดการแพ้สูง ในปัจจุบันจึงนิยมฉีดสารกลุ่มไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic Acid) ที่ช่วยแก้ปัญหาริ้วรอยและร่องลึกของผิว แม้จะแก้ไขความหย่อนคล้อยได้ไม่ดีเท่าคอลลาเจน แต่เกิดอัตราการแพ้น้อยกว่า
ดูแลกระดูกและข้อ
กระดูกและข้อต่อในร่างกายของเรามีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบ ทำให้ข้อต่อยืดหยุ่นและกระดูกแข็งแรง ผู้สูงอายุหลายคนมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อ เนื่องจากร่างกายผลิตคอลลาเจนลดลงตามวัย ทำให้ข้อต่อเสื่อมสภาพ และความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม เกิดโรคข้อเสื่อมและโรคกระดูกพรุนตามมา
การศึกษาพบว่าอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกในผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูก โดยพบว่าการรับประทานคอลลาเจนควบคู่กับอาหารเสริมที่มีวิตามินดีและแคลเซียม อาจช่วยป้องกันการสลายของมวลกระดูกได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทานคอลลาเจน
ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่สอดคล้องกันระบุว่า ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่รับประทานคอลลาเจนวันละ 5 มิลลิกรัมต่อเนื่องกันเป็นเวลา 12 เดือนอาจช่วยให้ค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density) สูงขึ้น 7% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทาน ซึ่งอาจช่วยป้องกันความเสื่อมของกระดูกและอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
การศึกษาบางชิ้นพบว่าอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบของข้อ และลดอาการข้อต่อติดแข็งในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมและนักกีฬา โดยนักกีฬาที่มีอาการปวดเข่าและรับประทานคอลลาเจนเปปไทด์ (Collagen Peptide) ซึ่งเป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยให้มีโมเลกุลเล็กลง ปริมาณ 5 กรัมต่อวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีอาการปวดข้อระหว่างออกกำลังกายน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน
เสริมมวลกล้ามเนื้อ
คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญในกล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกายที่ยึดกับกระดูก มีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย งานวิจัยบางส่วนพบว่าการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนอาจช่วยเสริมมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุที่มีภาวะกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia) รวมทั้งช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในผู้ที่ออกกำลังกาย
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาประโยชน์ของคอลลาเจนในการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อยังมีไม่มากและยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด อีกทั้งคอลลาเจนมีปริมาณกรดอะมิโนจำเป็น 3 ชนิด (BCAAs) ที่ช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อน้อยกว่าเวย์โปรตีน การรับประทานเวย์โปรตีนจึงอาจช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อได้ดีกว่า
นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น คอลลาเจนอาจช่วยให้หลอดเลือดแดงมีความยืดหยุ่น ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) และช่วยให้เส้นผมและเล็บแข็งแรงไม่เปราะหักง่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปผลที่แน่ชัดได้ เนื่องจากข้อมูลยังไม่เพียงพอ จึงควรรอผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของคอลลาเจนที่ช่วยในการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ต่อไป
รับประทานอย่างไรให้ได้ประโยชน์ของคอลลาเจน
ร่างกายจะสังเคราะห์คอลลาเจนจากการรับประทานอาหารที่มีโปรตีน สังกะสี ทองแดง เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อปลาที่ติดหนัง เครื่องในสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ถั่วเหลือง ถั่วลูกไก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ งา ธัญพืชขัดสีน้อย และผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ ส้ม และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
อาหารเสริมคอลลาเจนมักสกัดจากคอลลาเจนประเภทที่ 1 (Type I) ประเภทที่ 2 (Type II) และประเภทที่ 3 (Type III) ซึ่งพบมากในหลายส่วนของร่างกาย เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูกอ่อน กระดูก และข้อต่อ โดยนำไปผ่านกระบวนการย่อยให้มีโมเลกุลเล็กลงและดูดซึมง่าย เช่น ไฮโดรไลซ์คอลลาเจน (Hydrolyzed Collagen) และคอลลาเจนเปปไทด์ (Collgen Peptide)
ทั้งนี้ อาหารเสริมคอลลาเจนประกอบด้วยคอลลาเจนต่างชนิดกันและมีปริมาณคอลลาเจนต่างกัน จึงยังไม่มีการกำหนดปริมาณคอลลาเจนที่ควรได้รับต่อวัน และระยะเวลาที่ควรรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนที่แน่ชัด ก่อนการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับปริมาณและระยะเวลาการรับประทานที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
การรับประทานคอลลาเจนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น อาการท้องเสีย ท้องอืด มีรสขมในปาก ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ และมีผื่นขึ้น แต่บางคนอาจมีอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) และความผิดปกติที่ตับ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่หากเกิดอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันที
การเสริมคอลลาเจนในร่างกายทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง การสูบบุหรี่ และการสัมผัสแสงแดดจัดที่ทำให้คอลลาเจนเสื่อมสลาย ควรทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง จะช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์ของคอลลาเจนอย่างการชะลอความเสื่อมของผิว และช่วยให้กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อแข็งแรงได้อย่างเต็มที่