ยาคลายเส้น หรือยาคลายกล้ามเนื้อ สามารถใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อได้หลายรูปแบบ เช่น อาการกล้ามเนื้อหดตัว (Muscle Spasm) ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัว (Spasticity) หรืออาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก โดยยาคลายเส้นมีหลายชนิดแตกต่างกันออกไป จึงควรเลือกใช้ยาให้ถูกชนิด เพื่อให้สามารถรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยาคลายกล้ามเนื้อเป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งแพทย์จะกำหนดปริมาณของยาและระยะเวลาในการใช้ยาแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายตามมา
ประเภทของยาคลายเส้น
ยาคลายเส้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือยาต้านอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ (Antispastics) และยาต้านอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ (Antispasmodics) ซึ่งจะมีลักษณะในการใช้รักษาโรคที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. ยาต้านอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ (Antispastics)
ยาคลายเส้นประเภทนี้มักใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัว (Spasticity) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ศีรษะ หรือสมอง ภาวะสมองพิการ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โดยตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาบาโคลเฟน (Baclofen) ยาแดนโทรลีน (Dantrolene) และยาไดอะซีแพม (Diazepam)
2. ยาต้านอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ (Antispasmodics)
ยาคลายเส้นประเภทนี้มักใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) เช่น อาการปวดหลังส่วนล่าง หรืออาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Muscle Spasm) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาคาริโซโพรดอล (Carisoprodol) ยาคลอร์ซ็อกซาโซน (Chlorzoxazone) และยาไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine)
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาในกลุ่มยาต้านอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบมักใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ไม่ได้ผล เพราะยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงอาจมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสพติดยาในกลุ่มนี้ได้ด้วย
ข้อควรระวังในการใช้ยาคลายเส้น รู้ก่อนปลอดภัยกว่า
ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาคลายเส้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อร่างกาย โดยข้อควรระวังในการใช้ยาที่ผู้ป่วยควรรู้ มีดังนี้
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับตับ และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือความผิดปกติของสมอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
- ยาคลายเส้นบางชนิด เช่น ยาคาริโซโพรดอล (Carisoprodol) ยาไดอะซีแพม (Diazepam) อาจทำให้เกิดอาการติดยาหรืออาการถอนยาได้ จึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำงานกับเครื่องจักรที่เสี่ยงอันตรายหลังจากการรับประทานยา เพราะตัวยาจะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และทำให้เกิดอาการง่วงซึม
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการรับประทานยา เพราะจะเพิ่มฤทธิ์ในการกดระบบประสาทส่วนกลาง และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- ไม่ควรใช้ยาคลายเส้นร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางอื่น ๆ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มยาโอปิออยด์ (Opioids) หรือยานอนหลับ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อร่างกายได้
- หากลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลารับประทานยาครั้งต่อไปควรรับประทานยาในครั้งต่อไปทีเดียว ไม่ควรรับประทานยาซ้ำ 2 ครั้ง
- การใช้ยาคลายเส้นอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น ง่วงซึม เหนื่อยล้า ปากแห้ง วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก หรือมีปัญหาในการนอนหลับ ซึ่งหากมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์
ในขณะที่ใช้ยาคลายเส้นควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะบางอาการอาจเป็นผลข้างเคียงของยาที่รุนแรง เช่น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม มองเห็นไม่ชัด หรืออาจเป็นสัญญาณของการใช้ยาเกินขนาด เช่น ตอบสนองช้า ไม่ค่อยรู้สึกตัว มองเห็นภาพหลอน มีอาการชัก หรือมีการหายใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที