รู้จักยารักษาริดสีดวง และวิธีใช้ยาอย่างปลอดภัย

ริดสีดวงเกิดจากการโป่งพองของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด คัน หรือมีเลือดออกบริเวณทวารหนัก การใช้ยารักษาริดสีดวงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการรักษาโรคริดสีดวง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรศึกษาวิธีการใช้ยารักษาริดสีดวงอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงตามมา

ริดสีดวงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือริดสีดวงภายในและริดสีดวงภายนอก โดยทั่วไปริดสีดวงภายนอกมักไม่จำเป็นต้องทำการรักษา หากไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดหรือระคายเคือง ส่วนริดสีดวงภายในสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการทางการแพทย์ทั่วไป เช่น การใช้ยางรัด การฉีดยา รวมถึงการใช้ยารักษาริดสีดวงที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปด้วย

ยารักษาริดสีดวง

ทำความรู้จักยารักษาริดสีดวง

ยาที่สามารถรักษาโรคริดสีดวงได้มีอยู่หลายประเภท โดยยาแต่ละชนิดจะมีลักษณะและวิธีการใช้ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงใช้รักษาอาการที่แตกต่างกันออกไปด้วย ตัวอย่างยารักษาริดสีดวง มีดังนี้

ยาในกลุ่มสารสกัดจากฟลาโวนอยด์

ยาในกลุ่มสารสกัดจากฟลาโวนอยด์ เช่น ยาที่มีส่วนผสมของสารไดออสมิน (Diosmin) 450 มิลลิกรัมและสารเฮสเพอริดิน (Hesperidin) 50 มิลลิกรัม สามารถใช้รักษาริดสีดวงได้ เนื่องจากสารฟลาโวนอยด์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของหลอดเลือด จึงอาจช่วยลดอาการอักเสบของแผลริดสีดวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ยาในกลุ่มสารสกัดจากฟลาโวนอยด์รักษาริดสีดวงสามารถใช้รักษาได้ทั้งริดสีดวงชนิดเรื้อรังและริดสีดวงชนิดเฉียบพลัน โดยมีรายละเอียดการใช้ยาดังนี้

1. ริดสีดวงชนิดเรื้อรัง

ผู้ที่มีอาการริดสีดวงชนิดเรื้อรังให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง พร้อมมื้ออาหาร

2. ริดสีดวงชนิดเฉียบพลัน

ผู้ที่มีอาการริดสีดวงชนิดเฉียบพลันให้รับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้งพร้อมมื้ออาหารในช่วง 4 วันแรก จากนั้นรับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง พร้อมมื้ออาหารต่อไปเป็นเวลา 3 วัน และสุดท้ายให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้งพร้อมมื้ออาหาร

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการรับประทานยาอาจแตกต่างกันออกไปตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารร่วมด้วย เพื่อช่วยให้หลอดเลือดกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น

ยารักษาริดสีดวงเฉพาะที่

ยารักษาริดสีดวงเฉพาะที่มีอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบยาเหน็บ ยาครีม ยาขี้ผึ้ง หรือแผ่นแปะสำหรับรักษาริดสีดวง ตัวอย่างยารักษาริดสีดวงเฉพาะที่ เช่น ยาลิโดเคน (Lidocaine) หรือครีมที่มีส่วนผสมของตัวยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) 1% โดยตัวยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวด อาการบวม และอาการคันบริเวณโดยรอบทวารหนักที่เกิดจากริดสีดวง

อย่างไรก็ตาม แม้ยารักษาริดสีดวงเฉพาะที่โดยส่วนใหญ่จะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพตามมา

ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว (Stool Softeners)

ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวหรือนุ่มขึ้นจะช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ทำให้ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงสามารถขับถ่ายได้ง่ายขึ้นและไม่เกิดความเจ็บปวด โดยตัวยาอาจอยู่ในรูปแบบของใยอาหารเสริม เช่น ไซเลียม (Psyllium) เมธิลเซลูโลส (Methylcellulose) ในบางกรณี ตัวยาเหล่านี้อาจใช้เป็นการรักษาเสริมในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอ

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) สามารถช่วยรักษาอาการปวดและอาการอักเสบบริเวณทวารหนักที่เกิดจากโรคริดสีดวงได้ แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะสุขภาพบางอย่างควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมา

ข้อควรระวังในการใช้ยารักษาริดสีดวง

โดยส่วนใหญ่ โรคริดสีดวงที่มีอาการไม่รุนแรงมากสามารถดูแลรักษาได้เองโดยใช้ยารักษาริดสีดวงข้างต้น แต่การใช้ยารักษาริดสีดวงก็ควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมา ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยารักษาริดสีดวง ได้แก่

  • ยารักษาริดสีดวงบางชนิดมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เช่น ครีมที่มีส่วนผสมของตัวยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) จึงไม่ควรใช้ยานานเกินกว่า 1 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ผิวบางลงได้
  • ไม่ควรใช้ยาระบายแทนการใช้ใยอาหารเสริมเพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว เพราะยาระบายอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และอาจทำให้ริดสีดวงเกิดอาการระคายเคืองตามมาได้

อย่างไรก็ตาม หากใช้ยารักษาริดสีดวงเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง เกิดผื่นหรือผิวหนังบริเวณทวารหนักแห้ง รู้สึกเจ็บปวดและมีเลือดออกบริเวณทวารหนักอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม