หมากฝรั่งนิโคตินเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ใช้รักษาอาการติดบุหรี่ โดยหมากฝรั่งนิโคตินจะทำงานดัวยการปล่อยสารนิโคตินออกมาอย่างช้า ๆ ระหว่างที่ถูกเคี้ยวเพื่อช่วยให้ความอยากนิโคตินของร่างกายค่อย ๆ ลดน้อยลง เนื่องจากการเลิกสูบบุหรี่แบบหักดิบอาจทำให้ผู้ที่ติดบุหรี่เกิดอาการถอนนิโคตินซึ่งอยู่ในบุหรี่ได้
หมากฝรั่งนิโคตินถือเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม หมากฝรั่งนิโคตินก็ยังมีข้อควรรู้ที่ผู้ใช้ควรทำความเข้าใจก่อนเริ่มใช้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายและลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้หมากฝรั่งนิโคติน
ข้อควรรู้ก่อนใช้หมากฝรั่งนิโคติน
ก่อนที่จะใช้หมากฝรั่งนิโคติน ผู้ที่มีอาการติดบุหรี่ควรแจ้งประวัติทางด้านสุขภาพให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน เนื่องจากสารบางชนิดในหมากฝรั่งนิโคตินอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ไม่ควรใช้หมากฝรั่งนิโคติน
- ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
- ผู้ที่มีประวัติแพ้หมากฝรั่งนิโคติน หรือมีประวัติแพ้ยาและอาหารต่าง ๆ
- มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะความดันโลหิตสูง มีประวัติเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือภาวะหัวใจขาดเลือด หรือมีอาการเจ็บหน้าอก
- ผู้ที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีนิโคตินเป็นส่วนผสม
- ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคตับ โรคไต เบาหวาน มีความผิดปกติเกี่ยวกับข้อต่อขากรรไกร มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพฟัน มีแผลในกระเพาะอาหาร ไทรอยด์เป็นพิษ โรคลมชัก หรือมีเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา
ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้หมากฝรั่งนิโคตินควรหยุดสูบบุหรี่ทันทีที่เริ่มใช้หมากฝรั่ง เนื่องจากหมากฝรั่งนิโคตินจะปล่อยนิโคตินในออกมาอย่างช้า ๆ ในระหว่างเคี้ยว ทดแทนการได้รับนิโคตินจากการสูบ เพื่อป้องกันอาการถอนนิโคติน และช่วยให้ความอยากนิโคตินของร่างกายค่อย ๆ ลดน้อยลง หากสูบบุหรี่ขณะใช้หมากฝรั่ง ร่างกายอาจได้รับปริมาณนิโคตินที่มากเกินไปจนเป็นอันตรายได้
วิธีใช้หมากฝรั่งนิโคติน
โดยปกติ หมากฝรั่งนิโคตินจะมีอยู่ 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด 2 มิลลิกรัม และ 4 มิลลิกรัม โดยขนาด 2 มิลลิกรัมจะใช้กับผู้ที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวน/วัน ส่วนขนาด 4 มิลลิกรัมจะใช้สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน แล้วค่อย ๆ ลดปริมาณที่ใช้ลง จนหยุดใช้ได้ในที่สุด
ในบางกรณี แพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดการใช้งานหมากฝรั่งนิโคตินได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนและดุลยพินิจของแพทย์
สำหรับวิธีการใช้งานหมากฝรั่งนิโคติน ผู้ที่ต้องการใช้ควรปฏิตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินจนกว่าจะเริ่มรู้สึกเผ็ดหรือแสบร้อนเล็กน้อยในปาก
- พักหมากฝรั่งเอาไว้ที่กระพุ้งแก้มข้างใดข้างหนึ่งจนกว่ารสเผ็ดร้อนจะหายไป
- ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนครบ 30 นาที โดยในระหว่างที่เคี้ยวควรหลีกเลี่ยงการกลืนน้ำลายมากเกินไป หรือเร็วเกินไป เพื่อป้องกันทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง
- เมื่อครบ 30 นาทีแล้ว ให้ทิ้งหมากฝรั่ง โดยห่อให้มิดชิดและทิ้งให้ห่างไกลเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันการสัมผัส เนื่องจากสารจากหมากฝรั่งอาจส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อเด็กและสัตว์เลี้ยงได้
สำหรับความถี่และระยะเวลาในการใช้หมากฝรั่งนิโคติน ควรใช้หมากฝรั่งให้ครบ 12 สัปดาห์ โดยในช่วง 6 สัปดาห์แรก ให้เคี้ยวหมากฝรั่ง 1 ชิ้นทุก ๆ 1–2 ชั่วโมง หรือ 8-12 ชิ้นต่อวัน และเมื่อครบ 6 สัปดาห์ ให้ปรับความถี่เป็นทุก ๆ 2–4 ชั่วโมงหรือ 4-6 ชิ้นต่อวันติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นให้ปรับเป็นทุก ๆ 4–8 ชั่วโมงหรือ 1-3 ชิ้นต่อวันต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 3 สัปดาห์ จนสามารถหยุดใช้ได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ความถี่และระยะเวลาการใช้หมากฝรั่งนิโคตินอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เนื่องจากแพทย์จะต้องดูความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนประกอบไปด้วย อีกทั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องนัดผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจการตอบสนองต่อการใช้งาน ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัดเป็นหลัก
ผู้ที่ใช้หมากฝรั่งนิโคตินควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำและรับประทานอาหารก่อนใช้หมากฝรั่งอย่างน้อย 15 นาที โดยเฉพาะเครื่องดื่มและอาหารที่เป็นกรด อย่างน้ำอัดลม น้ำส้ม หรือกาแฟ เนื่องจากเครื่องดื่มและอาหารประเภทนี้อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของหมากฝรั่งลดลงได้ และหากเผลอกลืนหมากฝรั่งนิโคตินขณะเคี้ยว ควรรีบไปพบแพทย์
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้หมากฝรั่งนิโคติน
การใช้หมากฝรั่งนิโคตินอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น รู้สึกระคายเคืองในช่องปากบริเวณที่สัมผัสกับหมากฝรั่งบ่อย ๆ รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มบริเวณปาก เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดหลัง หรือปวดตามข้อ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการในลักษณะนี้ควรไปพบแพทย์ หากอาการเป็นมาก ไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ควรหยุดใช้หมากฝรั่งนิโคตินแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบการเกิดอาการที่รุนแรง เช่น
- สัญญาณของอาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้น คันผิว ผิวบวมแดง เกิดแผลพุพอง ผิวลอก มีไข้ หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่ออก กลืนลำบาก พูดลำบาก เสียงแหบ รู้สึกแน่นหน้าอกหรือบริเวณลำคอ หรือเกิดอาการบวมบริเวณ ใบหน้า ปาก ลิ้น และลำคอ
- สัญญาณของภาวะเป็นพิษจากนิโคติน เช่น ปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน มีเหงื่อออกผิดปกติ ปวดศีรษะขั้นรุนแรง เวียนศีรษะ สับสน อ่อนเพลีย หูแว่ว เห็นภาพหลอน รู้สึกใจสั่นหรืออัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
- สัญญาณของภาวะความดันโลหิตสูง เช่น ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นมากเมื่อวัดด้วยตนเอง เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะขั้นรุนแรง เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น หรือเป็นลม
- อาการอื่น ๆ เช่น เจ็บคอ น้ำลายไหล ตัวสั่น สับสน อารมณ์แปรปรวน เจ็บขากรรไกร เจ็บหรือแน่นหน้าอก หรือรู้สึกแสบร้อน ชา คล้ายมีเข็มทิ่มตามร่างกาย และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ในการเลิกบุหรี่ให้ได้ผล นอกจากการใช้หมากฝรั่งนิโคตินแล้ว ผู้ที่มีอาการติดบุหรี่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย และที่สำคัญ ในระหว่างที่ใช้หมากฝรั่งนิโคติน ผู้ป่วยไม่ควรหยุดหรือปรับเปลี่ยนการใช้หมากฝรั่งเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อนแม้อาการอยากบุหรี่จะดีขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากการหยุดใช้อย่างกะทันหันอาจส่งผลให้เกิดอาการถอนบุหรี่และปัญหาสุขภาพอื่นได้