น้ำลายเหนียวเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยมักเกิดจากอาการปากแห้งหรือน้ำลายน้อย อาการน้ำลายเหนียวอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น รู้สึกกระหายน้ำ และกลืนอาหารลำบาก ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้
น้ำลายเป็นสารคัดหลั่งที่มีหลากหลายหน้าที่ เช่น รักษาความชุ่มชื่นภายในช่องปาก ช่วยย่อยอาหารบางประเภทก่อนเข้าสู่ลำไส้ เพิ่มการรับรู้รสชาติอาหาร และช่วยดักจับเชื้อโรคบางชนิด เมื่อน้ำลายเหนียวข้นขึ้นอาจทำให้เกิดอาการบางอย่างหรืออาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยได้ บทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุของอาการน้ำลายเหนียวและวิธีแก้ไข้เบื้องต้นมาฝากกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำลายเหนียว
สาเหตุและปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้เกิดอาการน้ำลายเหนียวโดยตรง หรืออาจทำให้เกิดอาการช่องปากแห้งที่ส่งผลให้เกิดน้ำลายเหนียวได้เช่นกัน
1. ภาวะขาดน้ำ
ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เป็นผลมาจากระดับของเหลวภายในร่างกายต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ อย่างปากแห้ง น้ำลายเหนียว กระหายน้ำ อ่อนเพลีย และเวียนศีรษะได้ หากขาดน้ำรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ อาการขาดน้ำอาจเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เสียเหงื่อมาก รวมทั้งการเจ็บป่วยที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ อย่างอาเจียนหรือท้องร่วง โดยผู้ที่อาจเสี่ยงต่ออาการน้ำลายเหนียวจากการขาดน้ำอาจเป็นคนในกลุ่มของนักกีฬา ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วย เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
2. เสมหะในคอ
อาการเสมหะในคอ (Postnasal Drip) มักเกิดจากความผิดปกติภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ หรือการได้รับสารระคายเคืองบางอย่างผ่านทางจมูกและลำคอ ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำมูกและเสมหะมากขึ้นเพื่อดักจับสารก่อภูมิแพ้ สารก่อระคายเคือง เชื้อโรค หรือเป็นผลจากกลไกร่างกายในการกำจัดการติดเชื้อ
เมื่อน้ำมูกถูกผลิตมากขึ้นก็อาจไหลลงสู่ลำคอและช่องปากผ่านท่อที่เชื่อมต่อกัน ทำให้น้ำมูกไหลรวมกับเสมหะและน้ำลายทำให้รู้สึกว่าน้ำลายเหนียวข้นขึ้น อาการที่มักพบร่วมกันเมื่อมีเสมหะในลำคอ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล คันจมูก หากเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ อย่างโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคไซนัสอักเสบก็อาจมีไข้ ปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย
ปัจจัยอื่น ๆ อย่างการสูดดมสารเคมี ฝุ่นควัน อยู่ในพื้นที่หนาวเย็น และการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนก็อาจทำให้เกิดเสมหะในลำคอและอาการน้ำลายเหนียวตามมาได้เช่นเดียวกัน
3. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
อาการปากแห้งและน้ำลายเหนียวอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัดลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด ยาต้านเศร้า ยารักษาภาวะความดันโลหิต ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งผลข้างเคียงจากยาอาจพบระหว่างการใช้ยาหรือหลังจากใช้ยาช่วงหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเหล่านี้มักไม่อันตราย เพราะแพทย์มักพิจารณาถึงความปลอดภัยก่อนสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยอยู่แล้ว
4. ปัญหาเกี่ยวกับต่อมน้ำลาย
โรคและภาวะสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมน้ำลายและการผลิตน้ำลายได้โดยตรง เช่น กลุ่มอาการปากแห้งเรื้อรัง เนื่องจากต่อมน้ำลายไม่สามารถผลิตน้ำลายได้อย่างเพียงพอ หรือโรคต่อมน้ำลายอุดตันจากหินปูนในท่อน้ำลาย โดยโรคหรืออาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นได้อีกด้วย เช่น โรคมะเร็ง และกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome)
5. ผลจากการเข้ารับรังสีรักษา
รังสีรักษา (Radaition) หรือการฉายแสงเป็นการรักษารูปแบบหนึ่งที่ใช้รังสีเพื่อกำจัดเซลล์ภายในร่างกาย ใช้ในการรักษามะเร็งและโรคบางชนิด การฉายแสงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง น้ำลายเหนียวข้น แสบลิ้น หากเป็นการฉายแสงผ่านทางช่องปากและลำคอ อาการน้ำลายเหนียวและปากแห้งจากการฉายแสงมักรุนแรงกว่าสาเหตุอื่น โดยแพทย์จะแจ้งผลข้างเคียงก่อนการรักษาและแนะนำการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมหลังการฉายแสง
ภาวะสุขภาพอื่น ๆ อาจทำให้น้ำลายเหนียวได้เหมือนกัน อย่างการตั้งครรภ์ และโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตของเหลวได้ตามปกติ ส่งผลให้น้ำลายเหนียวและข้น นอกจากนี้งานศึกษาชิ้นหนึ่งได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะทางอารมณ์กับการทำงานของต่อมน้ำลาย พบว่าภาวะอารมณ์ด้านลบ อย่างความวิตกกังวลและความเศร้า อาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมน้ำลาย ทำให้ผลิตน้ำลายได้น้อยลงและเกิดอาการปากแห้ง จึงทำให้เกิดอาการน้ำลายเหนียวได้
วิธีลดอาการน้ำลายเหนียว
วิธีต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาหรือรักษาอาการปากแห้งและน้ำลายเหนียวได้
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัยเพื่อช่วยให้ร่างกายทำงานได้ปกติและป้องกันการขาดน้ำ เช่น คนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัวควรดื่มน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน โดยควรจิบน้ำบ่อย ๆ แทนการดื่มในปริมาณมากในคราวเดียวเพื่อรักษาปริมาณน้ำลายในช่องปาก
- งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มน้ำตาลสูง กาแฟ รวมไปถึงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารก่อการระคายเคือง
- งดอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด หวานจัด หรือเค็มจัด หรืออาหารที่เหนียว แข็ง แห้ง เคี้ยวยาก
- รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารที่มีของเหลวเป็นส่วนประกอบ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
- แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน และรักษาความสะอาดช่องปากเสมอ
- อมลูกอม ยาอม หรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลเพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย
- หากอาการน้ำลายเหนียวเป็นผลจากยาที่ใช้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีแก้ไข
- ใช้น้ำลายเทียมเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำลาย
ส่วนใหญ่อาการน้ำลายเหนียวมักไม่เป็นอันตราย และอาจเกิดขึ้นได้ชั่วครั้งชั่วคราวและหายไปได้เอง แต่หากพบอาการดังกล่าวเป็นประจำติดต่อกันนาน พบอาการอื่นร่วมด้วย หรืออาการรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยได้