รู้จักอาการร้อนวูบวาบ และวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

อาการร้อนวูบวาบ (Hot Flashes) เป็นอาการที่รู้สึกอุ่นหรือร้อนตามร่างกายอย่างเฉียบพลัน มีเหงื่อออกมาก และผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดง อาการร้อนวูบวาบมักพบบ่อยในผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง แต่อาจพบในผู้ชายบางคนได้เช่นกัน โดยอาการร้อนวูบวาบอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน พฤติกรรมการใช้ชีวิต และโรคประจำตัว

โดยทั่วไป อาการร้อนวูบวาบมักไม่รุนแรงและมักไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ อาการร้อนวูบวาบอาจหายไปในช่วงหลังหมดประจำเดือน แต่บางคนอาจมีอาการนี้ไปตลอดชีวิต ซึ่งการทราบสาเหตุก็จะทำให้จะช่วยให้รับมือกับอาการร้อนวูบวาบได้ดียิ่งขึ้น

Hot flashes

ลักษณะของอาการร้อนวูบวาบ

อาการร้อนวูบวาบของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปมักมีอาการร้อนผ่าวทั่วร่างกายทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งอาการร้อนวูบวาบอาจมีลักษณะต่าง ๆ เช่น

  • รู้สึกอุ่นหรือร้อนที่ผิวหนังอย่างเฉียบพลันแล้วหายไป หรืออาจเกิดอาการเป็นระยะ ครั้งละหลายนาที
  • ผิวหนังตามร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า ลำคอ ใบหู และหน้าอก เปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดง
  • มีเหงื่อออกมาก โดยเฉพาะบริเวณร่างกายส่วนบน
  • นิ้วชา รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่ม (Tingling)
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • ตัวเย็น และรู้สึกหนาวสั่นหลังอาการร้อนวูบวาบหายไป 

อาการร้อนวูบวาบอาจรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และบางคนอาจมีอาการในตอนกลางคืน ซึ่งอาจทำให้หลับไม่สนิท ตื่นกลางดึก และส่งผลเสียต่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพในระยะยาวได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ

อาการร้อนวูบวาบอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

1. ภาวะสุขภาพและความเจ็บป่วย

โรคประจำตัวและปัจจัยด้านสุขภาพต่าง ๆ อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบได้ เช่น 

วัยทอง
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงหลังเข้าสู่วัยทองทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น สมองส่วนไฮโปทาลามัสซึ่งควบคุมอุณหภูมิในร่างกายจะส่งสัญญาณให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัวเพื่อระบายความร้อน ทำให้เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วขึ้น และอาจมีอาการหนาวสั่น 

โรคเบาหวาน
เนื่องจากโรคเบาหวานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย

ไทรอยด์เป็นพิษ
ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) และไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาผิดปกติ

การตั้งครรภ์
ทำให้
ฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1 และ 2

โรควิตกกังวล
เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบตามตัว มีเหงื่อออกมาก และหัวใจเต้นเร็ว

โรคอ้วน
มักพบว่าผู้มีค่า
ดัชนีมวลกาย (BMI) มาก จะเกิดอาการร้อนวูบวาบได้ง่าย

โรคติดเชื้อ
โรคติดเชื้อเช่น
ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infection) การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และวัณโรค มักทำให้เป็นไข้ เพื่อกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบทั่วร่างกาย

โรคทางระบบประสาทและสมอง
โรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น ไมเกรน พาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) และมะเร็งสมองบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบได้

โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย
โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) มักมีรอยหรือตุ่มแดงที่ใบหน้า ร่วมกับอาการร้อนวูบวาบ ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเส้นเลือดที่ใบหน้าและลำตัวส่วนบน

ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ
ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ (Low Testosterone) ในผู้ชายเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบได้

สำหรับอาการร้อนวูบวาบในผู้ชายอาจพบร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ความต้องการทางเพศลดลง และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)

2. การใช้ยา

ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้า ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators) ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opooid) ยาต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) ยาสเตียรอยด์บางชนิด ยาราโลซิฟีน (Raloxifene) ที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน และยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ที่ใช้รักษามะเร็งเต้านม อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ เนื่องจากมีผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความสมดุลของฮอร์โมน และกลไกการขับเหงื่อ

นอกจากนี้ การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) การฉายแสง (Radiation Therapy) และการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากโดยการลดฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen Deprivation Therapy) ในผู้ชาย อาจส่งผลให้เกิดอาการร้อนวูบวาบได้เช่นกัน 

3. พฤติกรรมการใช้ชีวิต

การใช้ชีวิตหลายอย่าง เช่น สวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป อยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อน รับประทานอาหารที่รสเผ็ดจัด อาหารแปรรูปที่มีสารไนเตรตสูง อาหารและเครื่องดื่มร้อน เช่น ชา และกาแฟที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการสูบบุหรี่ และความเครียด อาจส่งผลให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกมากได้เช่นกัน

คำแนะนำในการรับมืออาการร้อนวูบวาบ

ผู้ที่มีอาการร้อนวูบวาบควรสังเกตอาการของตัวเอง และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนและคนพลุกพล่าน ควรอยู่ในห้องที่เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศซึ่งทำให้รู้สึกเย็นสบาย
  • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้าบางเบา ระบายความร้อนและเหงื่อได้ดี
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ในวันที่อากาศร้อนจัดอาจค่อย ๆ จิบน้ำเย็นในระหว่างวัน ซึ่งจะช่วยให้สดชื่นขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร้อน อาหารรสเผ็ดจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • งดสูบบุหรี่ และจัดการความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ฟังเพลงสบาย ๆ และนั่งสมาธิ
  • ปรึกษาแพทย์ กรณีที่มีโรคประจำตัวและใช้ยาที่อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษา และให้ปรับปริมาณยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน

หากอาการร้อนวูบวาบส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับ ไม่ควรซื้อยานอนหลับมารับประทานเอง และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

ซึ่งแพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยาต่าง ๆ เช่น

  • ยาปรับฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาอาการร้อนวูบวาบ ยังช่วยลดอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยทอง เช่น ช่องคลอดแห้ง และอารมณ์แปรปรวนได้
  • ยาต้านเศร้า เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) และพาร็อกซีทีน (Paroxetine) 
  • ยากันชัก เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin) และพรีกาบาลิน (Pregabalin)
  • ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น โคลนิดีน (Clonidine)
  • ยาอื่น ๆ เช่น ออกซีบิวไทนิน (Oxybutynin) ไอบูโพรเฟน 
  • อาหารเสริม เช่น วิตามินบีรวม วิตามินอี และอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) ซึ่งควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาชนิดอื่นที่ใช้อยู่ลดลง

อาการร้อนวูบวาบเป็นอาการที่พบบ่อยในหญิงวัยหมดประจำเดือน หากอาการไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ อาจปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยบรรเทาอาการโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา และอาการอาจหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป 

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการร้อนวูบวาบร่วมกับอาการอื่น เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ติดกันหลายวัน ท้องเสีย และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์ทันที