รู้จักอาการเจ็บท้องเตือน และวิธีรับมือเมื่อมีอาการ

อาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บครรภ์เตือน (Braxton Hicks Contractions) เป็นอาการเจ็บท้องจากการที่มดลูกหดรัดตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แม้อาการจะคล้ายกับอาการเจ็บท้องคลอด แต่อาการเจ็บท้องเตือนไม่ได้เป็นสัญญาณว่าคุณแม่ใกล้คลอด โดยลักษณะอาการเจ็บท้องเตือนจะต่างจากอาการเจ็บท้องจริง และอาการมักหายได้เองในเวลาสั้น ๆ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการเจ็บท้องเตือน โดยอาจเกิดจากทารกดิ้นแรง ภาวะขาดน้ำ คุณแม่ทำงานหนัก มีปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ มีอาการหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยที่ทำให้คลื่นไส้และอาเจียน โดยบทความนี้ได้รวมข้อมูลสำหรับคุณแม่เอาไว้แล้ว ทั้งลักษณะของอาการเจ็บท้องเตือน แนวทางการรับมือ และอาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์ 

รู้จักอาการเจ็บท้องเตือน และวิธีรับมือเมื่อมีอาการสำหรับแม่ตั้งครรภ์

สัญญาณของอาการเจ็บท้องเตือน

อาการเจ็บท้องเตือนอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักรู้สึกได้ถึงอาการเจ็บท้องเตือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงช่วงใกล้คลอด ซึ่งอาการเจ็บท้องเตือนมักมีลักษณะ ดังนี้

  • มีอาการท้องแข็ง หรือมีอาการปวดบีบคล้ายปวดประจำเดือน ซึ่งมักปวดแค่บริเวณท้องน้อย
  • อาการเจ็บเกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน โดยทั่วไปจะมีอาการในช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 30 วินาทีไปจนถึง 2 นาทีแล้วหายไป
  • ระยะห่างของการเกิดอาการแต่ละครั้งใกล้เคียงกัน ไม่ถี่ขึ้น
  • ความรุนแรงของอาการเท่า ๆ เดิมหรือปวดน้อยลง ไม่ปวดรุนแรงขึ้น
  • อาการมักดีขึ้นเมื่อได้เปลี่ยนท่าทาง

ส่วนอาการเจ็บท้องคลอดจะแตกต่างอาการเจ็บท้องเตือน โดยอาการเจ็บท้องคลอดนั้นอาการเจ็บปวดมักเริ่มจากบริเวณกลางหลังลามมายังหน้าท้อง มักมีอาการปวดอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาประมาณ 30–90 วินาที โดยอาการปวดจะนานและปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมักไม่ดีขึ้นแม้จะนั่งพักหรือรับประทานยาแก้ปวด 

นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นที่บ่งบอกว่าคุณแม่ใกล้คลอด เช่น มีมูกหรือเลือดไหลออกจากช่องคลอด และน้ำเดิน

แนวทางการรับมือเมื่อคุณแม่มีอาการเจ็บท้องเตือน

โดยทั่วไป อาการเจ็บท้องเตือนมักหายได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งคุณแม่สามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการเจ็บท้องเตือนด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • นั่งหรือนอนพักนิ่ง ๆ สักระยะหากทำงานหรือทำกิจกรรมเป็นเวลานาน
  • เปลี่ยนท่าทาง เช่น ลุกเดินเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
  • นอนตะแคงด้านซ้าย ซึ่งอาจช่วยในการไหลเวียนของเลือด ซึ่งจะช่วยลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงทารกได้ดีขึ้น และยังช่วยไม่ให้น้ำหนักตัวของคุณแม่ที่มากขึ้นไปกดทับตับมากเกินไป
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ถ่ายปัสสาวะเมื่อรู้สึกปวด และไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงสบาย ๆ ฝึกการหายใจ

อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์

คุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณอันตรายและควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะคุณแม่ที่อายุครรภ์ไม่ถึง 37 สัปดาห์ ได้แก่

  • ปวดเกร็งหรือรู้สึกเหมือนถูกกดทับบริเวณท้องน้อยและกระดูกเชิงกราน รวมทั้งปวดหลังต่อเนื่องโดยไม่ดีขึ้น
  • อาการปวดเกิดขึ้นถี่ เช่น ปวดทุก 5 นาทีเป็นเวลา 1 ชั่วโมง และแต่ละครั้งปวดนานขึ้น 
  • ปวดรุนแรงจนไม่สามารถเดินได้
  • มีมูกปนเลือดหรือมีเลือดไหลจากช่องคลอด
  • น้ำคร่ำรั่ว และน้ำเดิน
  • ทารกดิ้นน้อยกว่า 6–10 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

อาการเจ็บท้องเตือนเป็นอาการปกติที่พบได้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ และมักไม่เป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือไม่มั่นใจในอาการที่เกิดขึ้น ควรจดลักษณะอาการ ระยะเวลา และความถี่ของอาการ เพื่อนำไปปรึกษาแพทย์และรับคำแนะนำในการดูแลรักษาต่อไป