รู้จักอาการแพ้อาหารทะเล และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

อาการแพ้อาหารทะเลเกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ตอบสนองต่อโปรตีนบางชนิดในอาหารทะเล ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น หลายคนไม่ใส่ใจต่ออาการแพ้เพราะคิดว่าเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง หรือการรับประทานอาหารทะเลมากขึ้นอาจช่วยให้ร่างกายเอาชนะอาการแพ้ได้ แต่ความจริงแล้วในบางคนนั้นอาการแพ้อาจรุนแรงจนทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว

อาการแพ้อาหารทะเลส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารทะเลแค่เพียงไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง และสามารถเกิดขึ้นได้จากการรับประทานอาหารทะเลทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา หรือปลาหมึก ซึ่งบางคนอาจแพ้อาหารทะเลหลายชนิดแต่บางคนอาจแพ้อาหารทะเลแค่บางชนิดเท่านั้น อีกทั้งอาการแพ้อาหารทะเลที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีลักษณะอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไปด้วย

อาการแพ้อาหารทะเล

สัญญาณของอาการแพ้อาหารทะเล 

อาการแพ้อาหารทะเลมีตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรงไปจนถึงอาการที่รุนแรง โดยอาการแพ้อาหารทะเลที่พบส่วนใหญ่มีดังนี้

  • เกิดผื่นลมพิษ และมีอาการคันบริเวณผิวหนัง
  • มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ
  • มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ตาแดง คันตา และน้ำตาไหล
  • คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย 
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • รู้สึกแน่นหน้าอกและหายใจลำบาก

นอกจากอาการข้างต้นนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้อื่น ๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น 

  • รู้สึกเสียวแปลบในช่องปาก 
  • เสียงแหบ 
  • ไอ 
  • หายใจมีเสียงหวีด 
  • ผิวหนังซีดหรือผิวหนังมีสีคล้ำ ๆ ออกน้ำเงิน 
  • มีอาการอาหารไม่ย่อย 

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลังจากที่รับประทานอาหารทะเลไปแล้วหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงก็ได้เช่นกัน 

อาการแพ้อาหารทะเลอย่างรุนแรงที่ควรไปพบแพทย์

อาการแพ้อาหารทะเลอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่าแอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นมาอย่างฉับพลันภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากรับประทานอาหารทะเล และจะมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว อาการแพ้อย่างรุนแรงนี้เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงควรรีบไปพบแพทย์หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น

ตัวอย่างอาการแพ้อย่างรุนแรงที่ควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่

  • ลำคอบวม รู้สึกแน่นในลำคอจนหายใจไม่ออก 
  • เกิดผื่นลมพิษ และมีอาการคันผิวหนังอย่างรุนแรง
  • ชีพจรเต้นเร็วขึ้นหรือช้าลงอย่างผิดปกติ
  • วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรงและหมดสติ
  • ความดันโลหิตลดลงอย่างรุนแรงจนอาจทำให้เกิดภาวะช็อก 

อาการแพ้อย่างรุนแรงนี้จะพบได้ไม่บ่อยเท่าอาการแพ้ทั่วไป ซึ่งปัจจัยสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น เป็นโรคหอบหืด มีปฏิกิริยาของร่างกายที่ไวต่ออาการแพ้สูง มีอาการแพ้อาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือมีบุคคลในครอบครัวที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงมาก่อน

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารทะเลควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารทุกชนิด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในร้านอาหารทะเล อ่านฉลากผลิตภัณฑ์และตรวจสอบส่วนผสมก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้ง ทำอาหารรับประทานเองเพื่อช่วยให้สามารถเลือกวัตถุดิบในอาหารได้อย่างปลอดภัย 

หากเผลอรับประทานอาหารทะเลจนมีอาการแพ้เกิดขึ้น ควรรีบรับประทานยาแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการ และในผู้ที่มีอาการแพ้อาหารทะเลอย่างรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้มีอาการแพ้พกยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ซึ่งเป็นยาอะดรีนาลีนในรูปแบบยาฉีดที่สามารถฉีดได้ด้วยตัวเองสำหรับใช้เมื่อเกิดอาการ