รู้จักเกลือชมพู และวิธีบริโภคให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

เกลือชมพู (Pink Himalayan Salt) หรือเกลือชมพูหิมาลายันเป็นเกลือชนิดหนึ่งที่มีสีชมพูจากแร่ธาตุที่อยู่ในเกลือ หลายคนเชื่อว่าเกลือชมพูมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าเกลือทั่วไปที่ใช้ในครัวเรือน กลุ่มคนที่รักสุขภาพจึงนิยมบริโภคเกลือชนิดนี้ 

เกลือชมพูหิมาลายันขุดพบบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ประเทศปากีสถาน มีการใช้เกลือชนิดนี้ปรุงอาหารและถนอมอาหารอย่างแพร่หลายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาประโยชน์ของเกลือชมพูมากนัก บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับเกลือชมพูและการบริโภคเกลือชมพูแบบไม่ทำลายสุขภาพมาฝากกัน

รู้จักเกลือชมพู และวิธีบริโภคให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

เกลือชมพูหิมาลายันมีประโยชน์จริงหรือ

เกลือชมพูมีองค์ประกอบทางเคมีคือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride) และมีรสชาติเค็มกว่าเกลือทั่วไปที่ใช้ในครัวเรือน แต่มีปริมาณโซเดียมต่ำกว่า โดยเกลือทั่วไปปริมาณ 1/4 ช้อนชามีโซเดียม 581 มิลลิกรัม ขณะที่เกลือชมพูปริมาณเท่ากันมีโซเดียม 388 มิลลิกรัม จึงอาจทำให้ใช้เกลือน้อยลงในการปรุงรสอาหารและช่วยลดการบริโภคโซเดียมได้

หลายคนเชื่อว่าเกลือชมพูอาจช่วยรักษาสมดุลความเป็นกรดด่าง (pH) ในร่างกาย ชะลอความแก่ ช่วยในการนอนหลับ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยให้โรคระบบทางเดินหายใจดีขึ้น แต่ในปัจจุบันยังขาดงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้ว่าเกลือชมพูมีสรรพคุณเหล่านี้จริง

นอกจากนี้ เกลือชมพูประกอบด้วยแร่ธาตุหลากหลายชนิดกว่าเกลือแกงทั่วไป เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก และซิงค์ (Zinc) อย่างไรก็ตาม แร่ธาตุในเกลือชมพูมีปริมาณไม่มากพอที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพ หากจะได้รับประโยชน์จากแร่ธาตุเหล่านี้ ต้องรับประทานเกลือชมพูมากกว่า 30 กรัม ซึ่งสูงเกินกว่าปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าได้ประโยชน์

จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาเปรียบเทียบประโยชน์ของเกลือแกงและเกลือชมพูที่เพียงพอ ดังนั้น นักวิจัยจึงเชื่อว่าประโยชน์ที่ได้จากการบริโภคเกลือหิมาลายันไม่ได้ต่างจากการบริโภคเกลือแกงทั่วไป

 บริโภคเกลือชมพูหิมาลายันอย่างไรให้พอดี

เกลือชมพูมีขายทั่วไปทั้งชนิดหยาบและชนิดป่นละเอียด สามารถนำมาปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสเค็มได้เหมือนการใช้เกลือแกง เช่น หมักเนื้อสัตว์ ปรุงรสอาหารจานผัดหรือต้ม โดยหากบริโภคเกลือชมพูในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ความต้องการโซเดียมต่อวันจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นกับเพศ อายุ และสภาวะของร่างกาย เช่น ผู้ที่อายุ 19–30 ปี เพศชายควรได้รับโซเดียม 500–1,475 มิลลิกรัมต่อวัน เพศหญิงควรได้รับ 400–1,200 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ที่อายุ 31–70 ปี เพศชายควรได้รับโซเดียม 475–1,450 มิลลิกรัมต่อวัน เพศหญิงควรได้รับ 400–1,200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเกลือป่น 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม

เกลือชมพูที่วางขายอาจมีปริมาณโซเดียมต่างกัน ก่อนบริโภคจึงควรอ่านปริมาณโซเดียมที่ระบุไว้ในฉลากก่อนเสมอ โดยเกลือบดละเอียดอาจมีโซเดียมสูงกว่าเกลือหยาบ และควรใส่เกลือเพียงเล็กน้อย แม้จะมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าเกลือแกงแต่เกลือชมพูมีความเค็มสูง หากบริโภคมากไปอาจได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกาย และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น

  • การคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำให้ใบหน้า แขน ขาบวม และน้ำหนักเกิน
  • ความดันโลหิตสูง
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจโต (Enlarged Heart Muscle) หัวใจล้มเหลว (Heart Failure) โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต

ทั้งนี้ การบริโภคเกลือชมพูอาจนำไปสู่ภาวะขาดไอโอดีน เนื่องจากเกลือชมพูมักไม่ผ่านกระบวนการเติมไอโอดีนในการแปรรูปเหมือนเกลือแกง จึงมีไอโอดีนน้อยกว่า ซึ่งไอโอดีนจำเป็นสำหรับการทำงานของต่อมไทรอยด์และการเผาผลาญของเซลล์ในร่างกาย หากบริโภคเกลือชมพูเพียงอย่างเดียวต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายขาดไอโอดีนได้

บางคนอาจนำเกลือชมพูมาทำเป็นโคมไฟหินเกลือหิมาลัย (Himalayan Salt Lamps) ซึ่งเชื่อกันว่าช่วยปรับอารมณ์ ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น และช่วยกรองอากาศในห้องหรือในบ้านให้สะอาดขึ้น แต่ยังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันได้ว่าการใช้โคมไฟหินเกลือจะมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ได้จริง

เกลือชมพูที่หลายคนเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ในปัจจุบันยังขาดผลการวิจัยที่เพียงพอในการยืนยันสรรพคุณต่าง ๆ ดังนั้น การรับประทานเกลือแกงทั่วไปก็ทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์ไม่ต่างจากเกลือชมพู โดยเฉพาะไอโอดีนในเกลือแกงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผู้ที่บริโภคเกลือชมพูควรรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนเช่น สาหร่ายและปลา เพื่อป้องกันภาวะขาดไอโอดีน