เด็กพิเศษ คือเด็กที่มีความต้องการการช่วยเหลือและดูแลเป็นพิเศษกว่าเด็กทั่วไป ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมการเรียนรู้ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นตามศักยภาพที่มี และเข้าสังคมกับคนอื่น ๆ ได้ดีขึ้นโดยไม่รู้สึกแปลกแยก
เมื่อพูดถึงเด็กพิเศษ หลายคนอาจนึกถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย แต่ความจริงแล้วเด็กพิเศษมีความหมายครอบคลุมถึงเด็กหลายกลุ่ม ทั้งเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดและความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ และการเรียนรู้ รวมถึงเด็กยากจนหรือด้อยโอกาสด้วย
ประเภทของเด็กพิเศษ
เด็กพิเศษแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
เด็กกลุ่มนี้หมายถึงเด็กมีความความฉลาดทางสติปัญญาสูงกว่าเด็กทั่วไป (Gifted Children) ซึ่งมีระดับเชาวน์ปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) สูงกว่า 130 ขึ้นไป และเด็กที่มีพรสวรรค์ในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ดนตรี กีฬา และศิลปะ ที่โดดเด่นกว่าเด็กวัยเดียวกัน
เด็กกลุ่มนี้มักไม่ค่อยได้รับการดูแล เพราะผู้ปกครองมักคิดว่าเป็นเด็กฉลาด สามารถเรียนรู้ได้เร็ว และไม่มีข้อบกพร่องที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต
อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้อาจมีปัญหาด้านการเรียนในโรงเรียนปกติ เช่น เบื่อและไม่อยากไปโรงเรียนเพราะเนื้อหาที่เรียนง่ายเกินไป หรือไม่สนใจเรียนเรื่องอื่นนอกจากเรื่องที่ตัวเองสนใจ รวมทั้งมีปัญหาในการคบเพื่อน เนื่องจากคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง เพื่อนไม่ให้เข้ากลุ่ม ทำให้รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน หากผู้ปกครองและคุณครูไม่ใส่ใจดูแลเป็นพิเศษอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่มีคุณค่าและซึมเศร้าได้
2. เด็กที่มีความบกพร่อง
เด็กที่มีความบกพร่องแบ่งออกเป็น 9 ประเภทตามประกาศกําหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ. 2552 ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
คนที่บกพร่องทางการมองเห็น
คนที่บกพร่องด้านการมองเห็นแบ่งเป็น 2 ประเภทคือผู้ที่มองเห็นเลือนราง คือคนที่มองเห็นเพียงเงาลาง ๆ และยังสามารถอ่านอักษรตัวพิมพ์ขยายใหญ่ได้โดยใช้อุปกรณ์ช่วยมองเห็น และผู้ที่ตาบอด คือคนที่สูญเสียการเห็นมากจนต้องใช้สื่อสัมผัสและสื่อเสียง และมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง โดยอาจเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
คนที่บกพร่องด้านการได้ยิน
ความบกพร่องทางการได้ยินอาจมีตั้งแต่หูตึง ซึ่งหมายถึงยังสามารถได้ยินเสียงต่าง ๆ ได้บ้าง และจะได้ยินชัดเจนขึ้นเมื่อใช้เครื่องช่วยฟัง ไปจนถึงการสูญเสียการได้ยินถาวร หรือหูหนวก เด็กที่บกพร่องทางการได้ยินอาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการพาทัว การติดเชื้อหัดเยอรมันตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา การประสบอุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ
คนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว เช่น อวัยวะไม่สมส่วนหรือขาดหายไป ความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้เคลื่อนไหวไม่ปกติเหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งอาจเกิดจากความพิการแต่กำเนิด อุบัติเหตุ โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท กระดูก และกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ เด็กกลุ่มนี้ยังรวมถึงเด็กที่มีความเจ็บปวยเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
คนที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
เด็กพิเศษกลุ่มนี้อาจมีความผิดปกติในการเปล่งเสียงพูด เช่น ออกเสียงไม่ชัด พูดเสียงเบา ดัง เสียงแหบกว่าปกติ และพูดติดอ่าง (Stuttering) หรือมีความบกพร่องด้านความเข้าใจภาษา เช่น พูดช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด และไม่สามารถแสดงความคิดเห็นออกมาเป็นคำพูดได้
ซึ่งอาจเกิดจากการคลอดก่อนกำหนด ความบกพร่องทางสติปัญญา อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง และการติดเชื้อ
คนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาคือเด็กที่มีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่า 70 มีปัญหาด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร และพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป เช่น การเดิน การพูดคุย การแสดงออกทางอารมณ์ การตัดสินใจ และการเข้าสังคมที่บกพร่อง
ซึ่งความบกพร่องทางสติปัญญามีหลายระดับ แต่ละระดับจะมีความรุนแรงของอาการต่างกัน
คนที่บกพร่องทางการเรียนรู้
เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเด็กที่มีความบกพร่องด้านทักษะต่าง ๆ ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน เช่น การเคลื่อนไหว การคำนวณ การใช้ภาษา การเขียน การมองเห็น และการฟัง
ซึ่งเกิดความความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาการเจ็บป่วยขณะแม่ตั้งครรภ์ ความผิดปกติทางพันธุกรรม และโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองพิการ
คนที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์
เด็กพิเศษกลุ่มนี้มีความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองที่ส่งผลต่อการรับรู้ อารมณ์ และความคิด ทำให้มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากปกติอย่างต่อเนื่อง เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะอาการและความรุนแรงของอาการต่างกัน โดยอาจแบ่งได้ตามกลุ่มอาการ เช่น สมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) และพฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder)
คนที่มีภาวะออทิสติก
กลุ่มอาการออทิสติก (Autism Spectrum Disorders: ASD) คือคนที่มีความผิดปกติของระบบการทํางานของสมอง ซึ่งส่งผลให้เกิดความบกพร่องเกี่ยวกับพฤติกรรม การสื่อสาร และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น พูดหรือทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ อย่างการโยนของหรือทำร้ายตัวเอง
และบางคนอาจมีความสนใจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งเด็กออทิสติกแต่ละคนมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน
คนที่พิการซ้ำซ้อน
เด็กที่พิการซ้ำซ้อน (Multiple Disabilities) คือเด็กที่มีความบกพร่องหรือความพิการมากกว่าหนึ่งประเภทในคนเดียวกัน เช่น เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาร่วมกับตาบอด และเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาร่วมกับความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว โดยไม่นับเด็กที่มีอาการหูหนวกร่วมกับตาบอดเป็นภาวะพิการซ้ำซ้อน
เด็กที่พิการซ้ำซ้อนมักปัญหาในการช่วยเหลือตนเอง การเรียนรู้ และการเข้าสังคมที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
เด็กที่มีความบกพร่องทั้ง 9 ประเภทข้างต้นมีลักษณะอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน วิธีการดูแลและรักษาจึงแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละราย แต่มักต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักบำบัด ครู และผู้ปกครองจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กพิเศษกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม
3. เด็กยากจนและด้อยโอกาส
เด็กยากจนและด้อยโอกาสเป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งเด็กมีฐานะครอบครัวยากจน หรือเป็นเด็กด้อยโอกาสที่ขาดปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและการศึกษา เช่น เด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน เด็กต่างด้าว และเด็กที่ถูกทารุณกรรมหรือใช้แรงงาน
เด็กพิเศษมีความแตกต่างจากเด็กทั่วไปและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งอาการและความรุนแรงของเด็กพิเศษแต่ละคนจะแตกต่างกัน จึงต้องใช้วิธีการดูแลรักษาที่ต่างกัน
หากผู้ปกครองสังเกตเห็นอาการผิดปกติด้านร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมของเด็ก ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงเด็กปกติมากที่สุด