รู้จักแซนแทนกัม (Xanthan Gum) สารเพิ่มความหนืดในอาหาร

แซนแทนกัม (Xanthan Gum) เป็นสารเพิ่มความหนืดที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและขนม เพื่อให้อาหารมีความข้นเหนียวและคงรูปได้ รวมทั้งเป็นส่วนผสมในของใช้และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ยาสีฟัน เครื่องสำอาง ยา ไปจนถึงวัสดุก่อสร้าง 

แซนแทนกัมถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็มีกระแสว่าแซนแทนกัมเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดความสงสัยว่าสามารถรับประทานหรือใช้ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักประโยชน์ ข้อควรระวังในการบริโภคและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแซนทันกัมไปด้วยกัน

รู้จักแซนแทนกัม (Xanthan Gum) สารเพิ่มความหนืดในอาหาร

แซนแทนกัมคืออะไร พบในผลิตภัณฑ์ใดบ้าง

แซนทันกัมผลิตจากการหมักน้ำตาลกับแบคทีเรีย Xanthomonas Campestris ทำให้ได้ของเหลวสีน้ำตาล เมื่อเติมแอลกอฮอล์ลงไปจะแข็งตัวและแห้งกลายเป็นผงสีขาว หากผสมแซนทันกัมในน้ำจะละลายได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะข้นหนืดและคงตัว จึงนำไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในโรงงานอุตสากรรม

ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติให้ใช้แซนแทนกัมเป็นสารปรุงแต่งอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้แซนแทนกัม เช่น ไอศกรีม พุดดิ้ง แยม โยเกิร์ต มายองเนส น้ำสลัด มัสตาร์ด ซอสมะเขือเทศ ซุป น้ำผลไม้ น้ำเชื่อม หมากฝรั่ง ลูกอม อาหารแช่แข็ง ขนมปังและเบเกอรี่ปราศจากกลูเตน (Gluten Free) และอาหารไขมันต่ำ

นอกจากนี้ แซนแทนกัมยังใช้เป็นส่วนประกอบในแชมพู ครีมนวดผม ยาสีฟัน ลิปสติก โลชั่น ครีมทาผิว ยา อาหารเสริม อาหารสัตว์ กาว บรรจุภัณฑ์อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

ประโยชน์ของแซนแทนกัม

ในด้านการดูแลสุขภาพ งานวิจัยบางส่วนพบว่าแซนแทนกัมมีประโยชน์ดังนี้

ช่วยให้รู้สึกอิ่ม หิวช้าลง และแก้ท้องผูก 

แซนแทนกัมมีคุณสมบัติเป็นไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ (Soluble Fiber) ได้ แซนแทนกัมจะดูดซับน้ำเอาไว้และพองตัวจนมีลักษณะคล้ายเจล เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยให้อิ่มนานขึ้น และกระตุ้นการขับถ่าย จึงเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักตัว

ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

แซนแทนกัมที่พองตัวเป็นเจลอาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด จากผลการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและกลุ่มผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน โดยให้ทั้ง 2 กลุ่มรับประทานมัฟฟินธรรมดา 6 สัปดาห์ และมัฟฟินที่มีส่วนผสมของแซนแทนกัมอีก 6 สัปดาห์ พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยเบาหวานต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง 

นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นทดลองให้กลุ่มคนที่มีสุขภาพดีอดอาหารเป็นเวลา 12 ชั่วโมง และดื่มเครื่องดื่มเสริมคุณค่าทางโภชนาการที่มีส่วนประกอบของแซนแทนกัมเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่ม ผลพบว่าหลังจากดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวเป็นเวลา 20 นาที ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแซนแทนกัมต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแซนแทนกัม 

นอกจากนี้ แซนแทนกัมอาจนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น

  • ใช้เป็นสารทดแทนในน้ำยาบ้วนปาก เพื่อช่วยบรรเทาอาการปากแห้งและทดแทนน้ำลาย (Saliva Substitute) ในผู้ป่วยกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ต่อมผลิตความชุ่มชื้นในร่างกายเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ดวงตาและปากแห้ง
  • ช่วยป้องกันฟันผุ และการสูญเสียแร่ธาตุของฟัน
  • ช่วยลดอาการแสบร้อนดวงตา น้ำตาไหล และตาไวต่อแสงในผู้ที่มีอาการตาแห้ง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยและการศึกษาเหล่านี้ทดลองในกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มาก ศึกษาในระยะสั้น หรือทดลองในสัตว์ จึงยากที่จะสรุปได้ชัดเจน และจำเป็นต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ผลกระทบต่อร่างกายจากแซนแทนกัม และการใช้ให้ปลอดภัย

การรับประทานแซนแทนกัมปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด และท้องเสีย จึงไม่ควรรับประทานปริมาณมากเกินไป โดยปริมาณแซนแทนกัมจากข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาที่สามารถใช้บริโภค คือ

  • ผลิตภัณฑ์อาหารในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถผสมแซนแทนกัมได้ 0.05%–0.3% ต่อผลิตภัณฑ์ และผู้ที่ใช้ทำอาหารเอง ควรใช้แซนแทนกัมในปริมาณเล็กน้อย เช่น 1/4 ช้อนชาสำหรับทำซอสราดสเต็ก หรือทำไอศกรีม และ 1/8 ช้อนชาต่อแป้ง 1 ถ้วยตวงเมื่ออบขนมปัง เป็นต้น
  • ยาชนิดรับประทาน สามารถผสมแซนแทนกัมได้ไม่เกิน 15 กรัม

นอกจากนี้ แซนแทนกัมอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในคนที่มีอาการแพ้อาหารจำพวกข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์นมที่ใช้ในการผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการทำแซนแทนกัม คนที่แพ้อาหารเหล่านี้จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแซนแทนกัม

สำหรับคนที่ไม่ควรรับประทานแซนแทนกัม ได้แก่ คนที่มีภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ (Fecal Incontinence) คนที่เตรียมเข้ารับการผ่าตัด คนที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ และกำลังให้นมบุตร เนื่องจากการรับประทานแซนแทนกัมอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง หรือทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

แซนแทนกัมเป็นสารเพิ่มความหนืดที่นิยมใช้เป็นสารปรุงแต่งอาหารและใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าที่พบได้ในชีวิตประจำวัน หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่คนที่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้แซนแทนกัมเสมอ และหากเกิดอาการผิดปกติหลังรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแซนแทนกัม ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์