รู้จักแผลคีลอยด์ กับวิธีรักษาและป้องกัน

แผลคีลอยด์ (Keloid Scar) คือแผลเป็นนูนบนผิวหนังที่เกิดจากการสร้างคอลลาเจนมากเกินไป ซึ่งเป็นความผิดปกติของกระบวนการรักษาแผล จึงทำให้เกิดแผลเป็นที่มีขนาดและลักษณะที่ต่างกัน โดยปกติแล้วแผลคีลอยด์มักขยายใหญ่กว่าแผลเดิม และอาจทำให้รู้สึกตึง คัน หรือเจ็บเมื่อสัมผัสโดนหรือเสียดสีกับเสื้อผ้า 

แผลคีลอยด์อาจเกิดขึ้นหลังได้รับบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น รอยขีดข่วน รอยสิว รอยจากแมลงกัดต่อย แผลเป็นจากโรคอีสุกอีใส แผลไหม้ แผลผ่าตัด การเจาะหู การสัก หรือการฉีดยา โดยอาจใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจนถึง 1 ปีจึงจะเริ่มเห็นแผลคีลอยด์ปรากฏขึ้น ซึ่งกลุ่มคนที่มีโอกาสเกิดคีลอยด์ได้มากกว่าคนอื่น เช่น คนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีในครอบครัวเป็นแผลคีลอยด์ 

รู้จักแผลคีลอยด์ กับวิธีรักษาและป้องกัน

แม้แผลคีลอยด์จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ทำให้ผิวดูไม่สวยงามเรียบเนียน ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจ หากรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยชะลอไม่ให้แผลขยายใหญ่ขึ้นได้ 

แผลคีลอยด์มีลักษณะอย่างไร

แผลคีลอยด์สามารถพบได้ทั่วร่างกาย แต่มักเกิดที่ติ่งหู ลำคอ หน้าอก หัวไหล่ หลัง มีลักษณะเป็นก้อนนูน เป็นมันเงา ไม่มีขนขึ้นบริเวณแผลเป็น โดยอาจมีลักษณะนุ่มเหมือนก้อนแป้งหรือแข็งคล้ายยาง ในระยะแรกมักเป็นสีชมพูหรือแดง และมักค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำกว่าผิวโดยรอบ 

แผลคีลอยด์มักขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจขยายใหญ่หลายเท่าตัวในเวลาไม่นาน แต่บางคนอาจใช้เวลาหลายเดือน ในช่วงที่คีลอยด์ขยายตัวมักทำให้รู้สึกเจ็บและคัน โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสโดนหรือเมื่อแผลคีลอยด์เสียดสีกับเสื้อผ้า ซึ่งอาการเจ็บและคันจะดีขึ้นเมื่อแผลคีลอยด์หยุดขยาย

แผลคีลอยด์อาจมีลักษณะคล้ายแผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) ซึ่งมีลักษณะนูน แดง และคัน แต่ความแตกต่างคือแผลเป็นนูนจะไม่เกินขยายใหญ่เกินแผลเดิม และสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป

รักษาแผลคีลอยด์ได้อย่างไร

การรักษาแผลคีลอยด์ให้หายขาดอาจเป็นเรื่องยาก เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง และแผลอาจมีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยในเบื้องต้นผู้ที่เป็นแผลคีลอยด์สามารถใช้น้ำมันทาผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยให้แผลคีลอยด์นุ่มและมีขนาดเล็กลง นอกจากนี้ การไปพบแพทย์ผิวหนังอาจช่วยให้รักษาแผลคีลอยด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจใช้วิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การใช้แผ่นซิลิโคนปิด เป็นวิธีแรกที่แนะนำในการรักษาแผลคีลอยด์ แผ่นซิลิโคนมีลักษณะเป็นแผ่นเจลใส โดยเริ่มปิดหลังมีแผลประมาณ 7 วัน และควรปิดไว้ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน แผ่นซิลิโคนจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอาการคัน 
  • การฉีดยาสเตียรอยด์ ช่วยลดการอักเสบและการหดตัวของหลอดเลือด ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการบวม คัน เจ็บ และทำให้แผลคีลอยด์ยุบลง โดยฉีดทุก 3–4 สัปดาห์ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือน แผลจึงจะเริ่มยุบ บางคนอาจเกิดแผลคีลอยด์ขึ้นซ้ำอีก จึงอาจต้องรักษาร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้เลเซอร์ (Laser Treatment) ที่ช่วยลดอาการคันและทำให้สีของคีลอยด์จางลง
  • การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เหมาะกับการรักษาแผลคีลอยด์ที่มีขนาดเล็ก โดยใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen) ทำให้เกิดความเย็นซึ่งจะยับยั้งการขยายตัวของแผลคีลอยด์
  • การฉายรังสี (Radiation Therapy) โดยใช้รังสีเอกซเรย์ความเข้มข้นต่ำ (Low-level X-ray Radiation) เพื่อลดขนาดของแผลคีลอยด์ หรือใช้หลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันการเกิดคีลอยด์ซ้ำ
  • การผ่าตัดนำก้อนคีลอยด์ออก ซึ่งใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ควบคู่กับการรักษาวิธีอื่น เช่น การฉีดยาสเตียรอยด์ และการปิดแผลด้วยแผ่นซิลิโคน

นอกจากนี้ อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การปิดผ้ายืดทับบาดแผล (Pressure Garment Therapy) โบท็อกซ์ (Botox) และการใช้ยาเคมีบำบัดฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil)

แผลคีลอยด์ป้องกันได้

แผลคีลอยด์มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงหลังได้รับการรักษา การป้องกันไม่ให้เกิดแผลคีลอยด์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผล หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการสักหรือเจาะตามร่างกาย เช่น เจาะหู เจาะสะดือ และการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉิน เพราะแผลคีลอยด์อาจเกิดขึ้นหลังจากร่างกายมีบาดแผลเหล่านี้ และผู้ที่เคยเป็นหรือเป็นคีลอยด์อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัด

เมื่อเกิดแผลควรรีบดูแลบาดแผล เพราะจะช่วยให้แผลหายเร็วและป้องกันการเกิดแผลเป็น สำหรับแผลที่ไม่รุนแรงหรือมีขนาดเล็ก ควรล้างสิ่งสกปรกออกจากแผล และล้างแผลให้ด้วยยาฆ่าเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส แกะ และเกาบริเวณที่เกิดแผล ไม่แกะสะเก็ดแผลออกก่อนเพราะจะทำให้แผลหายช้าได้ แต่หากมีแผลรุนแรง เช่น แผลไฟไหม้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำแผล

แผลคีลอยด์มักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว แต่แผลที่มีขนาดใหญ่หรืออยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดอาจทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ การรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะมีโอกาสหายได้เร็วขึ้น และหากมีข้อสงสัยในการดูแลแผลคีลอยด์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ