Prosopagnosia หรือภาวะลืมใบหน้า เป็นความผิดปกติทางสมองที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำและแยกความแตกต่างของใบหน้าได้ ผู้ป่วย Prosopagnosia มักมีอาการผิดปกติตั้งแต่เกิด แต่บางคนอาจเกิดภาวะนี้หลังจากสมองได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุหรือป่วยเป็นโรคทางสมอง
Prosopagnosia เป็นภาวะที่พบได้น้อยเพียง 2% ของประชากรทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถจดจำใบหน้าของคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือแม้แต่ใบหน้าของตัวเอง ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาภาวะนี้โดยตรง แต่การรักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อาจช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
Prosopagnosia มีอาการอย่างไร
อาการที่ชัดที่สุดของ Prosopagnosia คือ ไม่สามารถจดจำและจำแนกความแตกต่างของใบหน้า การแสดงออกทางสีหน้า อายุหรือเพศของผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้พบหน้ากันในสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยมาก่อน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาในการจดจำวัตถุ สถานที่ และเส้นทางด้วย
ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยอาจมีปัญหาในการบอกความแตกต่างของใบหน้าของคนแปลกหน้า หากอาการรุนแรงขึ้นอาจไม่สามารถจดจำใบหน้าของคนที่คุ้นเคย เช่น เพื่อนสนิทและคนในครอบครัว บางคนที่อาการรุนแรงมากอาจไม่สามารถจดจำใบหน้าของตัวเองขณะส่องกระจกหรือดูรูปถ่ายตัวเองได้เลย
เด็กที่มีภาวะนี้อาจจำหน้าพ่อแม่ ญาติ หรือเพื่อนไม่ได้ ต้องรอให้พ่อแม่ทักทายก่อน เข้าหาหรือทักคนแปลกหน้าโดยเข้าใจว่าเป็นพ่อแม่หรือคนรู้จัก ไม่ยอมห่างจากพ่อแม่เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ มีปัญหาในการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ และไม่อยากไปโรงเรียน แต่เมื่ออยู่ที่บ้านจะมั่นใจและร่าเริง
Prosopagnosia อาจทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกับผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety) และโรคซึมเศร้า อีกทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก มีปัญหาในการทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
Prosopagnosia มีสาเหตุจากอะไร
Prosopagnosia ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติในการมองเห็น ความจำ หรือความบกพร่องในการเรียนรู้ ผู้ป่วยสามารถมองเห็น มีความจำและการเรียนรู้เรื่องอื่นได้ปกติ แต่ไม่สามารถบอกความแตกต่างของคนจากใบหน้าได้ โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากความผิดปกติหรือความเสียหายของสมองซีกขวาส่วนที่เรียกว่า Fusiform Gyrus ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประมวลผลและการจดจำภาพใบหน้า
โดยภาวะ Prosopagnosia แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ภาวะลืมใบหน้าแต่กำเนิด (Congenital หรือ Developmental Prosopagnosia)
ภาวะลืมใบหน้าแต่กำเนิดเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะนี้ โดยเชื่อกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เนื่องจากมักพบคนในครอบครัวมีอาการของภาวะลืมใบหน้าเช่นเดียวกัน โดยผู้ป่วยเด็กอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะนี้จนกว่าจะโตขึ้นและเริ่มเข้าสังคม
นอกจากนี้ ภาวะลืมใบหน้าแต่กำเนิดอาจพบในเด็กที่เป็นโรคออทิสติก (Autistic) โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) และกลุ่มอาการวิลเลียม (Williams Syndrome) ส่งผลให้เด็กมีความผิดปกติทางร่างกายและพฤติกรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมยิ่งขึ้น
- ภาวะลืมใบหน้าจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง (Acquired Prosopagnosia)
ภาวะลืมใบหน้าประเภทนี้อาจเกิดจากการได้รับแรงกระแทกบริเวณศีรษะจากอุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท (Neurodegenerative Diseases) เช่น โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ และโรคซึมเศร้า
หลังจากได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ผู้ป่วยจะรับรู้ได้ว่าตัวเองสูญเสียความสามารถในการจดจำใบหน้าคนรู้จักไป และแม้จะได้รับการรักษาก็อาจไม่สามารถกลับมาจดจำใบหน้าได้เหมือนเดิม
Prosopagnosia รักษาได้หรือไม่
หากมีอาการเข้าข่ายภาวะลืมใบหน้า ผู้ป่วยอาจถูกส่งตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทจิตวิทยา เพื่อสอบถามอาการและทดสอบความสามารถในการจดจำลักษณะของใบหน้าของผู้ป่วย เช่น ให้ดูภาพคนดังและบอกชื่อของบุคคลเหล่านั้น ระบุความเหมือนและความต่างของรูปภาพใบหน้าที่วางไว้ข้างกัน หรือทายอายุ เพศ หรืออารมณ์คนอื่นโดยดูจากใบหน้า
นอกจากนี้ อาจตรวจการทำงานของดวงตา ตรวจภาพถ่ายรังสีสมอง และให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบสมรรถภาพสมอง เพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ละเอียดขึ้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของ Prosopagnosia ไม่ควรเชื่อผลจากการทำแบบทดสอบออนไลน์ แต่ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยที่เหมาะสม
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา Prosopagnosia โดยเฉพาะ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยจดจำคนอื่นด้วยการจำเสียง ทรงผม เสื้อผ้า ความสูง หรือท่าทาง แทนการจดจำลักษณะต่าง ๆ บนใบหน้า หรือใช้วิธีอื่น เช่น หาจุดเชื่อมโยงระหว่างคนและวัตถุหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้อง และทำป้ายชื่อหรือรูปภาพในการระบุตัวบุคคล หากผู้ป่วยเป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าร่วมด้วย อาจได้รับการรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กับภาวะลืมใบหน้า
Prosopagnosia มักเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมในระยะยาว และอาจนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตได้ หากตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และหลีกหนีจากการเข้าสังคมจาก Prosopagnosia ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับคำแนะนำในการรักษาโรคต่อไป