รู้ทันความแตกต่างของโควิด-19 (COVID-19) และไข้หวัดใหญ่

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติดเชื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อีกทั้งยังมีการระบาดภายในประเทศ ซึ่งอาการจากติดเชื้อ COVID-19 นั้นมีความคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ทำให้หลายคนที่มีอาการป่วยในช่วงนี้กังวลว่าตนเองป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่

แม้ว่าทั้งสองโรคนี้จะมีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน แต่ก็มีความแตกต่างพอที่จะสังเกตโรคได้ในเบื้องต้น โดยในบทความนี้จะพูดถึงความแตกต่างของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ พร้อมมีข้อสังเกตที่อาจช่วยให้รับมือกับเชื้อไวรัสได้ดียิ่งขึ้น

โควิด-19

ความแตกต่างของโรคติดเชื้อโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่

เชื้อต้นเหตุที่ทำให้เกิดทั้งสองโรคนี้จะส่งกระทบต่ออวัยวะภายในระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคบางอย่างคล้ายกัน แต่เชื้อก่อโรคนั้นเป็นคนละชนิด จึงทำให้มีอาการที่ต่างกันด้วย

โรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสภายในระบบทางเดินหายใจ มักปรากฏอาการหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ซึ่งผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อผ่านการไอหรือจามได้ในระหว่างนี้ โดยอาการที่พบได้บ่อยเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  • มีไข้ ตัวร้อน หนาวสั่น แต่บางรายอาจไม่มีไข้
  • ไอ เจ็บคอ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนร่วมด้วย โดยทั้งสองอาการนี้พบได้ในผู้ป่วยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายอย่างภาวะปอดบวมได้ในบางราย 

โรคติดเชื้อโควิด-19

เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีระยะฟักตัวราว 2-14 วันหลังได้รับเชื้อ ในระหว่างนี้อาจไม่มีอาการของโรคปรากฏให้เห็น แต่สามารถเกิดการแพร่เชื้อผ่านละอองสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูกหรือน้ำลายได้ โดยอาการหลักที่พบได้จากการติดเชื้อ COVID-19 ได้แก่

นอกจากนี้ บางรายอาจพบอาการที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดตามร่างกาย ปวดศีรษะ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส ถ่ายเหลว และอาเจียน เป็นต้น รวมทั้งเชื้อโควิด-19 ก็อาจทำให้เกิดปอดบวมรุนแรงได้เช่นเดียวกัน

corona CHATBOT Thai 2

ความเหมือนและความแตกต่างที่ควรสังเกต

หลังจากทำความรู้จักกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กับโรคไข้หวัดใหญ่ไปในเบื้องต้นแล้ว ลองมาดูข้อสังเกตบางประการที่อาจช่วยแยกสองโรคได้ออกจากกันได้ง่ายขึ้น เช่น

  • ความรุนแรง

    ทั้งสองโรคนี้อาจทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่เชื้อ COVID-19 อาจมีแนวโน้มทำให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่

  • อาการเด่นของโรค

    หากอาการหายใจไม่อิ่มที่มีสาเหตุมาจากปอดบวมอาจมีแนวโน้มเกิดจากเชื้อโควิด-19 มากกว่า เพราะในทางการแพทย์จัดอาการดังกล่าวเป็นอาการหลักของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

  • การแพร่เชื้อในลักษณะเดียวกัน

    สองโรคนี้สามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งอย่างน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ โดยอาจเกิดจากการพูดคุย ไอ จาม หรือใช้มือสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งแล้วนำมาสัมผัสกับจมูก ปาก ใบหน้า และดวงตา ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน

  • ระยะฟักตัวที่แตกต่างกัน

    ทั้ง COVID-19 และไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้แม้ไม่มีอาการ แต่เชื้อโควิด-19 นั้นมีระยะฟักตัวที่นานกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่หลายเท่า จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อและทำให้เชื้อแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น

  • อันตรายต่อผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว

    ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคตับ และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำมีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงกว่าคนปกติและมีแนวโน้มเสียชีวิตที่สูงกว่า

  • การสัมผัสกับพื้นที่เสี่ยงหรือคนกลุ่มเสี่ยง

    ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกประเทศ ในขณะที่ COVID-19 มีแหล่งการระบาดมาจากประเทศจีน ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศมีการระบาดและกลายเป็นประเทศเสี่ยง รวมถึงประเทศไทย ดังนั้น หากตนเองหรือคนใกล้ชิดเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไปในพื้นที่ที่มีข่าวการระบาด อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมาและเริ่มมีอาการต้องสงสัยก็อาจมีความเสี่ยงที่ติดเชื้อโควิด-19

  • การวินิจฉัย

    ในการวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ แพทย์อาจใช้การสังเกตอาการของโรคเป็นหลัก และอาจใช้การเก็บตัวอย่างของสารคัดหลั่งภายในระบบทางเดินหายใจ อย่างจมูกหรือคอ เพื่อนำไปเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งโรคติดเชื้อ COVID-19 ก็มีลักษณะการตรวจที่คล้ายกัน แต่เพราะเป็นโรคที่เพิ่งค้นพบและเป็นเชื้อคนละชนิด จึงอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือบางอย่างที่แตกต่างกัน และพิจารณาร่วมกับประวัติที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เชื้อโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่รักษาอย่างไร มีวัคซีนป้องกันหรือไม่ 

โรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถหายได้เองภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยในระหว่างนั้นอาจใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก และยาแก้ไอ รวมทั้งยังมียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แพทย์อาจนำมาใช้ในการรักษา ซึ่งอาจช่วยลดระยะเวลาการป่วยและช่วยให้หายเร็วขึ้น นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดหรือพื้นที่สาธารณะ

ในขณะที่โรค COVID-19 ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคนี้โดยตรง โดยแพทย์จะรักษาตามอาการหากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคตับ โรคอ้วน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาบางชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 โดยต้องพิจารณาตามอาการและการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ร่วมกับการสังเกตภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ยาคลอโรควิน (Chloroquine) ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาดารุนาเวียร์ (Darunavir) ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) หรือยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)

ในปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีให้บริการตามโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้แก่ร่างกาย แต่วัคซีนป้องกันเชื้อ COVID-19 ยังอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อและความปลอดภัยในระยะยาว

วิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่

เชื้อ COVID-19 และเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ ดังนี้

  1. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้บ่อยมากขึ้น โดยใช้เวลาฟอกสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาทีต่อครั้ง
  2. หากไม่สะดวกล้างมือ ควรพกเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ติดตัวไว้เสมอสำหรับการทำความสะอาด โดยควรใช้ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้งหรือใช้หลังจากสัมผัสสิ่งของสาธารณะ เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ราวโหนบนรถสาธารณะ ลูกบิดประตู หรือโต๊ะอาหาร เป็นต้น
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากอยู่รวมกัน เพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ เช่น รถสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล 
  4. หากจำเป็นต้องเข้าไปในที่ที่สาธารณะหรือสถานที่ที่มีคนเยอะ ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
  5. งดใช้มือที่ยังไม่ได้ทำความสะอาดสัมผัสกับหน้ากากอนามัย จมูก ปาก ดวงตา และใบหน้า
  6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้กับผู้ที่มีอาการป่วย
  7. หากมีอาการไอจาม ควรใช้กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกให้มิดชิด หรือไอจามใส่ข้อพับแขนแทนฝ่ามือ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในกรณีที่มีเชื้อ

สุดท้ายนี้ หากรู้สึกว่าตนเองมีอาการไม่สบายร่วมกับมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เดินทางในต่างประเทศ อยู่ใกล้ชิดกับคนป่วย หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดในช่วงที่ผ่าน ควรสวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์ทันที