อาการเกล็ดเลือดต่ำเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเกล็ดเลือดในร่างกายมีปริมาณน้อยกว่าปกติ ซึ่งเกล็ดเลือดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวและสมานบาดแผล คนที่มีอาการเกล็ดเลือดต่ำจึงอาจเสี่ยงต่อการตกเลือดและเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ตามมาได้ การทราบข้อมูลเบื้องต้นอาจช่วยให้สังเกตเห็นถึงความผิดปกติและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
พบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน การสัมผัสสารพิษบางชนิด การรักษาด้วยเคมีบำบัด รวมถึงอาการเจ็บป่วยอย่างโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง โรคไข้เลือดออก โรคไขกระดูก และการติดเชื้อไวรัส
อาการเกล็ดเลือดต่ำเป็นอย่างไร
อาการเกล็ดเลือดต่ำและความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเกล็ดเลือดในร่างกาย โดยสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการเกล็ดเลือดต่ำ เช่น
- ช้ำง่ายหรือผิวเกิดจ้ำเลือดมากผิดปกติ
- เลือดออกใต้ผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่น จุดเลือดออกขนาดเล็กสีแดงหรือสีคล้ำ พบได้บ่อยบริเวณขาส่วนล่าง
- เลือดออกตามไรฟัน
- เลือดกำเดาไหล
- เลือดไหลมากผิดปกติเมื่อเกิดบาดแผลหรือเมื่อติดเชื้อ
- อาเจียนหรือขับถ่ายเป็นเลือด เป็นสีดำหรือเป็นสีคล้ายกากกาแฟ
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- ปวดหัว อ่อนเพลีย มองเห็นภาพซ้อน
ทั้งนี้ บางรายอาจไม่มีอาการแสดงออกอย่างเห็นได้ชัด แต่หากสังเกตเห็นถึงอาการผิดปกติคล้ายกับอาการเกล็ดเลือดต่ำควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ
ในกรณีที่มีเลือดไหลมากผิดปกติแม้จะปฐมพยาบาลแล้ว ปวดหัวแม้ได้รับอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ผิวช้ำง่ายและรอยช้ำรุนแรงขึ้น ปวดหรือรู้สึกอุ่นที่ขาโดยมีลักษณะคล้ายอาการบวมแดง ผู้ป่วยควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
เมื่อมีอาการเกล็ดเลือดต่ำ ดูแลตนเองอย่างไร
ผู้ป่วยที่มีอาการเกล็ดเลือดต่ำควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น เช่น
ใช้ยาอย่างระมัดระวัง
ผู้ที่มีอาการเกล็ดเลือดต่ำควรระมัดระวังการใช้ยา โดยเฉพาะยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน หรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ เพื่อความปลอดภัย
ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
ผู้ที่มีอาการเกล็ดเลือดต่ำควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีการปะทะ เนื่องจากอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บจนเกิดรอยช้ำหรือเลือดไหลผิดปกติได้ เช่น การต่อยมวย การขี่ม้า หรือการเตะฟุตบอล แต่หากต้องการทำกิจกรรมดังกล่าว ควรสวมอุปกรณ์ที่ป้องกันอันตรายในระหว่างการทำกิจกรรม และปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยก่อนการทำกิจกรรมทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการเกล็ดเลือดต่ำยังควรระมัดระวังในการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์มีคมทุกชนิด และระมัดระวังการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความร้อนด้วยเช่นกัน อย่างการทำอาหารหรือการรีดผ้า
ระมัดระวังการติดเชื้อ
ผู้ที่มีอาการเกล็ดเลือดต่ำควรสังเกตความผิดปกติของสุขภาพร่างกายอยู่เสมอด้วยการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ผ่าตัดนำม้ามออกไปแล้ว เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อกว่าผู้ป่วยอาการเกล็ดเลือดต่ำในกรณีอื่น ๆ และหากเห็นว่าตนเองมีไข้ หรือมีอาการคล้ายอาการติดเชื้อ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเพื่อความปลอดภัย
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยอาการเกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่ อาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ซึ่งช่วยป้องกันอาการท้องผูก หรืออาการที่มีส่วนประกอบของวิตามินซี วิตามินบี 12 โฟเลต หรือธาตุเหล็ก เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างการผลิตเกล็ดเลือดให้แก่ร่างกาย และควรดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน
ผู้ป่วยยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้ปริมาณเกล็ดเลือดในร่างกายลดต่ำลง เช่น นมวัว น้ำแครนเบอร์รี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีรสเผ็ดหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารควินิน (Quinine) หรือแอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นต้น
อีกทั้งผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังการใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพราะอาจทำให้ไอหรือมีเลือดกำเดาไหลได้ ควรเลือกใช้แปรงสีฟัน เสื้อผ้า หรือผ้าเช็ดตัวที่มีขนอ่อนนุ่ม และควรรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่มแทนการรับประทานอาหารที่กรอบหรือแข็ง เพราะอาจก่อให้เกิดแผลภายในช่องปากได้
เพื่อการมีสุขภาพดีแม้จะมีอาการเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องดูแลรักษาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอ โดยควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ล้างมือให้สะอาด รับการฉีดวัคซีนตามกำหนด พักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม และเลิกสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ในอนาคต