รู้ทันอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร ดูแลตนเองอย่างไรก่อนวิกฤต

อาการเลือดออกในกระเพาะอาหารเป็นหนึ่งในอาการผิดปกติของการมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่สร้างความกังวลใจให้กับใครหลายคน เพราะมักมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระหรือปนออกมากับการอาเจียน ทว่าบางครั้งก็มองไม่เห็นเลือดเหล่านั้นเลย ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยหรือรุนแรงต่างกันไป บางรายอาจรุนแรงมากจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ 

อาการเลือดออกในกระเพาะอาหารจะมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพบางประการ อย่างแผลในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารอักเสบ โดยแต่ละสาเหตุก็จะมีวิธีรักษาที่ต่างกันไป ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์หากมีเลือดออกผิดปกติ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร

เลือดออกในกระเพาะอาหาร มีอาการอะไรบ้าง ?

สัญญาณและอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารนั้นมีหลากหลาย มีทั้งอาการที่สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าและที่มองไม่เห็น เช่น

  • อาเจียนเป็นเลือดสีแดงหรืออาจเป็นสีน้ำตาลเข้มที่มีลักษณะคล้ายกากกาแฟ
  • อุจจาระเป็นสีดำคล้ายยางมะตอย อุจจาระปนเลือดสีแดงสดหรือสีแดงเข้ม
  • มีเลือดออกทางทวารหนักโดยอาจปนอยู่ในก้อนอุจจาระหรือออกมาขณะถ่ายอุจจาระ
  • เวียนศีรษะ หมดสติ
  • หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม
  • เจ็บหน้าอก
  • ปวดท้อง ปวดเกร็งหน้าท้อง
  • เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลีย
  • ผิวซีด

ในกรณีที่มีเลือดออกอย่างฉับพลันและอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วควรนำตัวผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลโดยด่วน มิฉะนั้นอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ไม่ปัสสาวะเลยหรือปัสสาวะน้อยลง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือหมดสติ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะช็อก สำหรับผู้ที่มีอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารเรื้อรังควรไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางได้ในอนาคต ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยและมีอาการหายใจไม่อิ่ม 

วิธีรับมือกับอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร

แม้ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหารมักหายดีได้เอง แต่บางรายที่เลือดไม่หยุดไหล การรักษาที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของเลือดออกแต่ละคน เช่น การฉีดยาในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPI) เพื่อยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร การใช้ยาบางชนิดเพื่อให้เลือดหยุดไหล การให้น้ำเกลือหรือให้เลือด เป็นต้น

ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองง่าย ๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตของตนเองโดยอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือนักโภชนาการเพิ่มเติม ในเบื้องต้นแล้ว ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  1. แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อ แทนการรับประทานมื้อหลักจนอิ่มไปเลย
  2. หลีกเลี่ยงหรืองดรับประทานอาหารที่มีรสจัดหรือรสเผ็ด รวมถึงอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ หรือท้องเสีย
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือกาแฟ หรือดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพราะอาจไปเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพราะอาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ เว้นเสียแต่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้ดูแล

เลือดออกในกระเพาะอาหารเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากมีอาเจียนเป็นเลือด อุจจาระปนเลือด อุจจาระเป็นสีคล้ายดินโคลนหรือยางมะตอย หรือความผิดปกติอื่นใดในระบบทางเดินอาหารก็ไม่ควรละเลย ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้นและคลายความกังวลใจลงได้