รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวี อาการไหนที่ควรให้ความสนใจ

เอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) เป็นเชื้อไวรัสอันตรายที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง โดยผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อเอชไอวีจากสารคัดหลั่งผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางช่องปาก (Oral Sex) อวัยวะเพศหรือทวารหนัก รวมทั้งอาจได้รับเชื้อผ่านทางบาดแผลเปิดหรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ป่วยเอชไอวี

การได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และป้องกันการเกิดโรคเอดส์ในภายหลัง การทราบถึงลักษณะอาการของโรคติดเชื้อเอชไอวีจึงมีความสำคัญอย่างมาก มาดูกันว่าอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อเอชไอวีที่เราสังเกตได้นั้นมีอะไรบ้าง

รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวี อาการไหนที่ควรให้ความสนใจ

อาการติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก

หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อเอชไอวีประมาณ 2–6 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็นอย่างชัดเจน แต่บางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดอยู่เป็นเวลาประมาณ 1–2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการต่อไปนี้

  • เจ็บคอ มีไข้
  • เกิดผื่นตามใบหน้า แขน ขาหรือตามลำตัว
  • เกิดแผลในช่องปาก
  • ปวดตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนแรง เหนื่อยง่าย
  • เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน

หากสงสัยว่าตนเองอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและมีอาการผิดปกติเหล่านี้ในช่วง 2–3 สัปดาห์ ก็ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพราะอาการติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรกอาจไม่รุนแรงขึ้นเป็นเวลาหลายปี

อาการติดเชื้อเอชไอวีในระยะอื่น ๆ

หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อเอชไอวีและมีอาการของการติดเชื้อระยะแรกแล้ว ร่างกายของผู้ป่วยอาจแสดงอาการของการติดเชื้อในระยะที่ 2 และระยะที่ 3

ระยะที่ 2 ระยะติดเชื้อเอชไอวีเรื้อรัง

เป็นระยะที่เชื้อไวรัสทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจนนานราว 10–15 ปีหากได้รับประทานยาต้านเอชไอวีตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยหรือรักษาก็สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว

ระยะที่ 3 ระยะเอดส์ (AIDS)

ระยะเอดส์เป็นระยะที่อาการร้ายแรงมากที่สุด โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic Infections) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายแรงในภายหลัง เช่น โรคปอดอักเสบนิวโมซิสติส (Pneumocystis Pneumonia) หรือโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi Sarcoma)

ผู้ป่วยอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ติดต่อกันนานกว่า 10 วัน ติดเชื้อราและเกิดแผลในช่องปาก คอ ทวารหนักหรืออวัยวะเพศ มีจุดสีแดงหรือสีคล้ำในช่องเปลือกตา จมูกและปาก ปอดบวม เกิดจ้ำสีม่วงตามผิวหนัง มีเลือดออกมากและท้องเสียเรื้อรัง

นอกจากนี้ อาจมีภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมเรื้อรังในบริเวณคอ รักแร้หรือขาหนีบ น้ำหนักลดลงรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนแรงตลอดเวลา หายใจไม่อิ่ม หรืออาจมีปัญหาด้านการทรงตัว พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง รู้สึกมึนงง มีปัญหาด้านความจำและการมองเห็นร่วมด้วย

หากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและอยู่ในระยะเอดส์ไม่ได้รับการรักษาหรือไม่ได้รับประทานยาต้านเอชไอวีตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดอาจมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3 ปี

การป้องกันเอชไอวีที่ควรรู้

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวีทำได้โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Venous Clotting Time (VCT) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

หากรู้สึกกังวลหรือมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวีจากคนรักหรือคู่นอน ควรรับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยเร็วที่สุด และปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวี เช่น ยาเพร็พ (PrEP) หรือยาเพ็พ (PEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ และยังคงต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ