ร้อนจนปวดหัว เป็นอาการปวดบริเวณขมับ หรือด้านหลังของศีรษะที่เกิดจากการอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนจัดหรืออยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน โดยอาการร้อนจนปวดหัวมักรุนแรงขึ้นเมื่อมีการขยับตัวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น การรักษาอาการร้อนจนปวดหัวอย่างถูกต้องอาจช่วยให้อาการดีขึ้น และป้องกันไม่ให้อาการปวดส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
ปวดหัวเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศและทุกวัย โดยหนึ่งในปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว คืออากาศร้อน จึงทำให้หลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาการร้อนจนปวดหัวได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองและเตรียมรับมือที่ดีอาจช่วยลดโอกาสการเกิดอาการร้อนจนปวดหัวได้
สาเหตุที่ทำให้ร้อนจนปวดหัว
ร้อนจนปวดหัวส่วนใหญ่มักไม่ได้เกิดจากอากาศร้อนโดยตรง แต่อากาศร้อนอาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ เช่น
1. โรคเพลียแดด
ร้อนจนปวดหัวอาจเกิดจากโรคเพลียแดด เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายจะผลิตเหงื่อเพื่อระบายความร้อนและควบคุมอุณหภูมิร่างกาย แต่ถ้าร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงในบริเวณที่มีอากาศร้อนเป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายผลิตเหงื่อได้ไม่เพียงพอ และทำให้เกิดอาการเพลียแดดได้
โดยอาการเพลียแดดอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัว เวียนหัว ผิวหนังหรือตัวเย็น ผิวชื้น หากไม่รีบจัดการกับโรคเพลียแดด อาการอาจรุนแรงขึ้นและนำไปสู่โรคลมแดด(Heat stroke) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
2. ภาวะขาดน้ำ
ในวันที่อากาศร้อน การดื่มน้ำไม่เพียงพอหรือสูญเสียเหงื่อในปริมาณมากอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้ เมื่อร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ อาจทำให้สมองเกิดการหดตัวและกดทับเส้นประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ โดยอาการร้อนจนปวดหัวจากภาวะขาดน้ำอาจสังเกตได้จากอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปากแห้ง เวียนหัว อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม
3. ปวดหัวไมเกรน
ร้อนจนปวดหัวอาจเกิดจากไมเกรน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง โดยการอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนจัดหรือบริเวณที่มีแสงแดดจ้าอาจส่งผลให้สารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน ขาดความสมดุล และอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ รวมถึงอาการปวดหัวไมเกรนได้
วิธีรับมืออาการร้อนจนปวดหัวอย่างถูกวิธี
ร้อนจนปวดหัวสามารถรับมือได้หลายวิธี ซึ่งวิธีการต่าง ๆ อาจช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้นและลดโอกาสการเกิดอาการร้อนจนปวดหัวในอนาคต เช่น
- ดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อเยอะ อาจลองดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนเกลือแร่ในเหงื่อที่สูญเสียไป
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากเริ่มมีอาการปวดหัว ควรนั่งพักในบริเวณที่อากาศเย็นจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- ใช้ผ้าเย็นหรือผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ
- ปลดเสื้อผ้าให้หลวมยิ่งขึ้นเพื่อช่วยระบายความร้อน นอกจากนี้ ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาจนเกินไปและระบายอากาศได้ดี อาจช่วยให้ร่างกายสามารถระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
- กินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดหัว เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน
ร้อนจนปวดหัวอาจเริ่มดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหัวยังคงไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียน มีไข้สูง พูดไม่ชัด สูญเสียการทรงตัว ผิวซีด เบื่ออาหาร มีอาการชัก หมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อค้นหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสมตามโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุ