ร้อยไหม หนึ่งในเทคโนโลยีช่วยยกกระชับผิวให้เต่งตึงและดูอ่อนเยาว์โดยไม่ต้องพึ่งการผ่าตัด โดยเป็นการใช้ไหมละลายสอดเข้าไปใต้ผิวเพื่อกระตุ้นให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวกระชับตัว
วิธีนี้มีข้อดี ข้อเสีย ขั้นตอนการทำ และความเสี่ยงอย่างไรบ้าง หากทราบรายละเอียดเหล่านี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
การร้อยไหมคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร
การร้อยไหมเป็นวิธียกกระชับผิวที่ใช้ได้ทั้งกับผิวหน้าและผิวกาย เพียงแต่นิยมใช้กับผิวหน้ามากกว่า ช่วยแก้ปัญหาผิวหนังบนใบหน้าหย่อนคล้อย ริ้วรอยเหี่ยวย่นบริเวณแก้ม ร่องจมูก ขากรรไกร หน้าผาก โดยใช้ไหมละลายจำนวนหลายเส้นร้อยเข้าไปในใต้ผิวหนัง การทำเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อใต้ผิวและมีการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่บริเวณรอบเส้นไหม ทำให้ผิวหน้าถูกดึงรั้งจนเต่งตึง ทั้งยังช่วยให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงผิวหนังบริเวณดังกล่าวมากขึ้น
ไหมที่ใช้ในกระบวนการนี้มีให้เลือกหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือไหมละลาย PDO ทำจากโพลีไดออกซาโนน (Polydioxanone) ซึ่งใช้ในการเย็บแผลผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ มักไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้และได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และไม่ต้องเป็นกังวลว่าเส้นไหมเหล่านี้จะติดอยู่ใต้ผิวหนัง เพราะไหมจะค่อย ๆ สลายตัวไปเองภายใน 8 เดือน
การร้อยไหมเหมาะกับใครบ้าง
การยกกระชับผิวหน้าด้วยวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30-60 ปีขึ้นไป โดยเนื้อเยื่อต้องไม่ยุบตัวหรือผิวหนังต้องไม่หย่อนคล้อยมากเกินไป เพราะหากผิวหนังหย่อนมากเนื่องจากอายุหรือมีน้ำหนักตัวมาก อาจต้องใช้วิธีนี้ร่วมกับวิธีอื่น ๆ จึงจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจน
นอกจากนี้ การร้อยไหมอาจให้ผลดียิ่งขึ้นหากใช้วิธียกกระชับอื่น ๆ ร่วมด้วยในภายหลัง โดยเฉพาะวิธีที่ไม่ใช้การศัลยกรรมซึ่งจะให้ผลดีมากกว่า หรืออาจใช้กับผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดยกหน้าไปแต่ยังไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัดครั้งต่อไป ในกรณีนี้อาจเลือกการร้อยไหมแทนได้เช่นกัน
ไหมที่นำมาใช้มีให้เลือกหลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะผิวก่อนทำ และทุกประเภทสามารถใช้ร่วมกับการยกกระชับหน้าด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เช่น การใช้ไหมที่มีเงี่ยงร่วมกับการทำฟิลเลอร์หรือฉีดไขมันที่หน้า การร้อยไหมร่วมกับวิธีลดรอยเหี่ยวย่นที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุหรือเข็มขนาดเล็ก เหล่านี้อาจช่วยให้ผิวหนังกระชับตัวมากกว่าการร้อยไหมเพียงอย่างเดียว
ก่อนเข้ารับการร้อยไหม
การร้อยไหมเป็นเทคนิคการยกกระชับหน้าที่ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ผู้ที่ต้องการใช้วิธีนี้ควรศึกษาข้อมูลสถานให้บริการที่น่าเชื่อถือและผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย ขั้นตอนแรกคือการพูดคุยปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับราคา ขั้นตอน ผลข้างเคียง ความเสี่ยง และผลลัพธ์ที่คาดหวัง รวมถึงประเมินความเหมาะสมของคนไข้ต่อการร้อยไหม โดยซักถามประวัติสุขภาพและตรวจดูว่ามีโรคหรือภาวะที่ไม่แนะนำให้เข้ารับการร้อยไหมหรือไม่ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง ไวรัสตับอักเสบ บี ไวรัสตับอักเสบ ซี ติดเชื้อเอชไอวี หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด มีภาวะติดเชื้อ หรือเคยเกิดแผลเป็นคีลอยด์
หากไม่มีภาวะใด ๆ ข้างต้น แพทย์จะสอบถามถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการร้อยไหมและแจ้งให้ทราบถึงผลลัพธ์ตามความเป็นจริง ข้อจำกัด ผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างละเอียด ก่อนจะให้เวลาคนไข้กลับไปตัดสินใจ หากคนไข้ยอมรับข้อจำกัดดังกล่าวได้จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา
นอกจากนี้ คนไข้จะได้รับการประเมินสภาพผิว เพื่อดูว่าควรใช้ไหมประเภทใดและจำนวนเท่าไรในการทำ รวมถึงประเภทของยาชาเฉพาะที่และปริมาณที่ต้องใช้ และมีการถ่ายภาพก่อนการรักษาเพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงหลังเข้ารับการรักษาให้เห็นด้วย
กระบวนการร้อยไหม
หลังจากขั้นตอนทาและฉีดยาชา แพทย์จะสอดเส้นไหมเข้าไปในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอย่างระมัดระวัง เส้นไหมจำนวนหลายเส้นที่สอดเข้าไปนี้จะนำมาซึ่งกลไกการยกกระชับผิว เนื่องจากก่อให้เกิดการอักเสบและมีการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาจับตัวรอบ ๆ เส้นไหม รัดรึงให้ใบหน้าเต่งตึงในที่สุด ซึ่งอาจต้องมีการประเมินระหว่างการทำอีกครั้งว่าควรร้อยไหมกี่จุด
ผลลัพธ์ยกกระชับใบหน้าด้วยการร้อยไหม
การร้อยไหมเป็นเทคนิคการยกกระชับผิวหน้าเพียงชั่วคราว โดยผลลัพธ์จะคงอยู่ประมาณ 1-2 ปี และอาจเริ่มกลับมาหย่อนคล้อยเล็กน้อยหลังจาก 6 เดือนแรก ทำให้อาจต้องเข้ารับการร้อยไหมอีกครั้งเพื่อคงผลลัพธ์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยทั่วไปใบหน้าของผู้เข้ารับการร้อยไหมอาจบวมในตอนแรก และกลับมาดูเป็นปกติภายในประมาณ 24-48 ชั่วโมง แต่บางรายอาจปรากฏรอยพับหรือรอยย่นของผิวหนังเป็นเวลาหลายสัปดาห์ได้
ผลข้างเคียงจากการร้อยไหม
ผลข้างเคียงจากการร้อยไหมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือความรู้สึกเจ็บและไม่สบายใบหน้า นอกจากนี้ อาจมีอาการบวม ฟกช้ำ เกิดการเคลื่อนตัวของไหม และติดเชื้อจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดหรือขั้นตอนที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม หรือบางรายอาจมีรอยย่นของผิวหนังหลังการทำ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มักหายไปเองเมื่อผ่านไปหลายวัน แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษหากเกิดการติดเชื้อ เพราะอาจเกิดเชื้อดื้อยาและยากต่อการรักษา
ทั้งนี้ ไหมแต่ละประเภทอาจมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป ไหมเส้นเรียบที่ไม่มีเงี่ยงหรือเกลียวอาจทำให้มีอาการฟกช้ำ ส่วนไหมที่มีเงี่ยงนั้นอาจทิ้งรอยสอดไหมไว้ให้เห็นได้ และในช่วงแรกผิวหนังของคนไข้มักมีลักษณะผิดปกติไปจากเดิมเล็กน้อย ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่มั่นใจหรือเป็นกังวลได้ ดังนั้น ในขั้นตอนก่อนทำจึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ไหมแต่ละชนิดอย่างละเอียด
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการร้อยไหม
การร้อยไหมเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนประมาณร้อยละ 15-20 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและแก้ไขได้ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- ใบหน้าไม่เท่ากัน คนไข้อาจมีใบหน้าไม่สมมาตรกันอยุู่แล้วหรือเกิดความไม่เท่ากันของใบหน้าจากการร้อยไหมได้ แพทย์จึงอาจให้ผู้ป่วยส่องกระจกไปด้วยในระหว่างทำเพื่อสังเกตความผิดปกติดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น
- การติดเชื้อ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้น้อย เพราะแพทย์มักใช้กระบวนการฆ่าเชื้อก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัย
- การอักเสบของเนื้อเยื่อ เนื่องจากไหมจะถูกร้อยลงไปที่บริเวณผิวหนังชั้นค่อนข้างลึก จึงเสี่ยงทำให้เกิดกลุ่มเนื้อเยื่อที่อักเสบขึ้นได้
- ไหมหลุดออกมา หลังจากสอดเส้นไหมเข้าไปใต้ผิวหนัง แพทย์จะตัดปลายไหมส่วนเกินออก เพราะหากไหมยื่นออกมา คนไข้อาจเสี่ยงเกิดการติดเชื้อและการอักเสบของเนื้อเยื่อตามมา
- ไหมแตกหัก เส้นไหมอาจเกิดการแตกหักในระหว่างขั้นตอนการสอดเข้าไปใต้ผิวหนังหรือขณะดึงรัดเส้นไหม
ส่วนภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- เส้นประสาทใบหน้าเสียหาย ซึ่งอาจทำให้เป็นอัมพาตที่ใบหน้าและหลอดเลือดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้เข็มในการร้อยไหม
- มีอาการปวดเรื้อรัง
- สัมผัสได้ถึงไหมที่ใบหน้า มักเกิดขึ้นจากการใช้ไหมชนิดมีเงี่ยง และหายไปได้เองหลังผ่านไปหลายวัน
- มีเลือดออก
- ประสาทการรับรู้บกพร่อง
- ภาวะภูมิไวเกิน คือ ภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้มากกว่าปกติ