เมื่อพูดถึงอาการลิ้นชาอาจทำให้เรารู้สึกได้หลายลักษณะ โดยอาจรู้สึกว่าลิ้นมีความรู้สึกน้อยลง ไม่ตอบสนองต่อการเจ็บปวด รู้สึกเหมือนมีเข็มเล็ก ๆ ทิ่มบริเวณลิ้น แม้ฟังดูแล้วเป็นอาการที่ไม่น่าเป็นอันตราย แต่คนที่กำลังมีอาการลิ้นชาอยู่ คงจะรู้สึกเป็นกังวลใจอยู่ไม่น้อย
ลิ้นชาเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุไม่รุนแรงที่อาจหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ไปจนถึงสาเหตุรุนแรงที่ต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ทันที มาดูกันว่าอาการลิ้นชาเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วอาการแบบไหนควรไปพบแพทย์
ลิ้นชาเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการลิ้นชาอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น
ความผิดปกติทางระบบประสาทและสมอง
อาการลิ้นชามักเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าระบบประสาทของร่างกายเกิดความผิดปกติ โดยหนึ่งในสาเหตุที่อาจพบได้ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเส้นประสาทภายในสมองและไขสันหลังจนอาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการชาบริเวณใบหน้าและลิ้นตามมาได้
ในบางกรณี ลิ้นชาอาจเป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดจนเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ส่งผลให้เซลล์ประสาทในสมองเสียหาย และเกิดอาการต่าง ๆ เช่น พูดลำบาก ปวดศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ และรู้สึกชาที่แขน ขา ใบหน้า และลิ้น โดยผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากภาวะนี้อาจนำไปสู่การเป็นอัมพาตและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
นอกจากนี้ สาเหตุอื่นที่อาจส่งผลให้ระบบประสาทเสียหายได้ เช่น การผ่าหรือถอนฟันคุด การรักษาคลองรากฟัน การฝังรากฟันเทียม หรือการเจาะลิ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการลิ้นชาจากสาเหตุเหล่านี้มักหายเองได้ แต่หากเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น หรือเริ่มแย่ลง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุที่เหมาะสม
สาเหตุอื่น ๆ
นอกจากสาเหตุทางระบบประสาทแล้ว อาการลิ้นชายังอาจเป็นผลมาจากปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น
- ร้อนใน นอกจากอาการเจ็บแสบแล้ว ผู้ป่วยบางคนอาจมีโอกาสเกิดอาการลิ้นชาหรือมีความรู้สึกคล้ายมีเข็มเล็ก ๆ ทิ่มร่วมด้วย แต่อาการมักดีขึ้นและหายได้เองในระยะเวลา 1–2 สัปดาห์
- อาการแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยาหรือแพ้สารเคมีบางชนิด อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก และลิ้น ซึ่งบางคนอาจรู้สึกคล้ายอาการชาบริเวณลิ้น
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงผิดปกติ หากระดับน้ำตาลต่ำลงมากจนสมองได้รับน้ำตาลไม่เพียงพอ อาจเริ่มพบอาการสับสน เห็นภาพเบลอ พูดลำบาก และรู้สึกชาบริเวณใบหน้า ปาก และลิ้น
- ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก สังสะสี แคลเซียม หรือฟอสฟอรัส เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด
แม้อาการลิ้นชาจะฟังดูไม่รุนแรง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2–3 วัน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ใบหน้า แขน หรือขาข้างหนึ่งของร่างกายชา ใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งเกิดอาการย้อย พูดลำบาก ปวดศีรษะขั้นรุนแรง รู้สึกเกร็งบริเวณลำคอ มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ทรงตัวหรือเดินลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น