ลิ้นพอง หรืออาการเจ็บแสบลิ้น ลิ้นชา และการรับรู้รสต่ำลง เป็นอาการที่สร้างความรำคาญใจให้ใครหลายคน เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะที่ถูกใช้แทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นขณะพูดคุย หรือขณะรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม อาการลิ้นพองเป็นอาการที่สามารถจัดการได้ เพียงแค่ต้องทราบสาเหตุและวิธีที่ถูกต้อง
อาการลิ้นพองเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัด หรือการเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายบางอย่าง โดยวิธีการรับมือกับอาการนี้ก็จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ซึ่งก็มีตั้งแต่วิธีที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไปจนถึงการเข้ารับการรักษาโดยแพทย์
สาเหตุของอาการลิ้นพองที่พบได้บ่อย
อาการลิ้นพองสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น
การรับประทานอาหารที่ดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจนเกินไป
เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะที่ค่อนข้างบอบบางและไวต่อสิ่งกระตุ้น การได้รับความร้อนที่มากเกินไปจากอาหารหรือเครื่องดื่มอาจส่งผลให้ตุ่มรับรสที่อยู่บริเวณลิ้นเกิดความเสียหาย จนนำไปสู่อาการลิ้นพอง แสบลิ้น และความสามารถในการรับรสต่ำลงได้ โดยความรุนแรงของอาการก็จะแตกต่างกัน ซึ่งแบ่งเป็นระดับอย่าง ๆ คร่าว ๆ ได้ดังนี้
- กรณีที่ไม่รุนแรง ความร้อนจะสร้างความเสียหายเพียงบริเวณส่วนบนของลิ้นเท่านั้น โดยอาการที่พบในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เช่น รู้สึกเจ็บลิ้นเล็กน้อย และลิ้นมักจะมีสีออกแดง
- กรณีที่รุนแรง ความร้อนจะสร้างความเสียหายไปจนถึงบริเวณเนื้อเยื่อภายในลิ้น โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมักพบว่าลิ้นมีสีแดง แสบลิ้น ลิ้นไม่สามารถรับรสได้ ลิ้นมีตุ่มน้ำ หรือในกรณีที่รุนแรงมาก ๆ อาจพบว่าสีของลิ้นเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือดำ
กลุ่มอาการแสบร้อนช่องปาก (Burning Mouth Syndrome)
ในบางกรณี อาการลิ้นพองหรือแสบลิ้นอาจเป็นผลมาจากกลุ่มอาการแสบร้อนช่องปาก แต่ในกรณีนี้อาจมีอาการแสบร้อนบริเวณเพดานปากร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากการถูกความร้อนจากอาหารและเครื่องดื่ม แต่มักจะเกิดจากสาเหตุอื่น หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
โดยในกรณีที่พบสาเหตุ สาเหตุที่มักพบได้ก็เช่น
- ภาวะกรดไหลย้อน
- อาการแพ้สารบางอย่างในอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช่องปาก
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี หรือวิตามินบี 12
- การติดเชื้อราในช่องปาก
- เส้นประสาทบริเวณลิ้นได้รับความเสียหาย
- ภาวะซึมเศร้า
- อาการปากแห้ง
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น การกัดฟันบ่อย ๆ การแปรงฟันอย่างรุนแรง หรือการใช้น้ำยาบ้วนปากถี่เกินไป
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้า หรือยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง
ภาวะนี้เป็นภาวะที่มักพบได้ในกลุ่มผู้หญิงที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากผู้หญิงในวัยนี้จะเป็นวัยที่ร่างกายเริ่มผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ออกมาน้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้กระบวนการทำงานของตุ่มรับรสลดลงได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยภาวะนี้มักพบว่าอาการลิ้นพองหรือแสบลิ้นจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวัน และมักจะดีขึ้นในช่วงหลังตื่นนอนหรือก่อนเข้านอน และในบางรายอาจพบอาการรู้สึกขมภายในปาก และปากแห้งบ่อย ๆ ร่วมด้วย
ในบางกรณี อาการแสบลิ้น แสบร้อนในช่องปาก หรือลิ้นชาก็อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะรุนแรงบางอย่าง อย่างโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้เช่นกัน โดยโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่สมองมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งเมื่อสมองมีออกซิเจนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ อาการในลักษณะลิ้นชา หรือความรู้สึกคล้ายเข็มทิ่มก็อาจเกิดขึ้นตามมาได้
นอกจากนี้ โรคนี้ยังมักส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไม่สามารถขยับลิ้นได้ มองเห็นภาพซ้อน พูดลำบาก ขาดการรับรู้จากสิ่งรอบตัว ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เวียนศีรษะ ปวดศีรษะรุนแรง รู้สึกตึงบริเวณลำคอ เดินลำบาก ทรงตัวลำบาก หรือรู้สึกชาหรืออ่อนแรงบริเวณใบหน้า แขน และขา
วิธีรับมือกับอาการลิ้นพอง
วิธีการรับมือกับอาการลิ้นพองจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ได้แก่
อาการลิ้นพองจากความร้อน
ผู้ที่มีอาการลิ้นพองจากความร้อนควรสังเกตอาการตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก โดยหากพบว่าอาการอยู่ในกลุ่มที่รุนแรง เช่น ลิ้นชาจนไม่สามารถรับรู้รสได้ เกิดตุ่มน้ำ หรือลิ้นเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือดำ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
ส่วนผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีเพียงอาการแสบลิ้นเล็กน้อย หรือลิ้นเปลี่ยนเป็นสีชมพูออกแดง อาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ
- ดื่มน้ำเย็น หรืออมน้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการแสบลิ้น
- ทำความสะอาดลิ้นด้วยน้ำเกลือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ โดยอาจจะเลือกใช้เป็นน้ำเกลือสำเร็จรูป หรือผสมเองด้วยอัตราส่วนเกลือประมาณ 1 ใน 8 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แก้ว
- ดื่มนมเพื่อบรรเทาอาการลิ้นพองหรือแสบลิ้น
- ทาน้ำผึ้งบริเวณลิ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานอาหารร้อนจัด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาการที่มีเกลือสูง หรืออาหารที่เป็นกรด เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม และอาหารรสเผ็ด เพื่อไม่ให้อาการแย่ลง
- รักษาช่องปากให้สะอาด เพื่อขจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวดและการอักเสบ
ทั้งนี้ หากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ผู้ที่มีอาการลิ้นพองควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่พบอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ลิ้นบวม รู้สึกปวดรุนแรง หรือมีหนองและของเหลวไหลออกมาจากลิ้น
อาการลิ้นพองจากกลุ่มอาการแสบร้อนช่องปาก
ในบางกรณี ผู้ป่วยภาวะนี้บางคนอาจพบว่าอาการหายไปได้เอง แต่ในเบื้องต้นผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจบรรเทาอาการด้วยตัวเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- อมน้ำแข็ง หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง
- งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดและอาหารที่มีรสเผ็ด
อย่างไรก็ตาม วิธีในข้างต้นเป็นเพียงวิธีสำหรับดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มอาการแสบร้อนช่องปากเป็นภาวะที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมและตรงจุด
ทั้งนี้ นอกจากตัวอย่างสาเหตุที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น อาการลิ้นพอง หรืออาการในลักษณะแสบลิ้นหรือลิ้นชายังอาจเกิดได้จากโรค ภาวะผิดปกติ หรือสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีอาการลิ้นพองที่อาการไม่ดีขึ้นเอง อาการมีความรุนแรง หรือพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม