ลูกหว้า มีสรรพคุณทางยา รักษาโรคได้จริงหรือ

ลูกหว้า เป็นผลไม้สีม่วงเข้มลักษณะคล้ายลูกองุ่น มีรสชาติหวานออกฝาดเล็กน้อย บางคนไม่เพียงรับประทานเป็นอาหาร แต่ยังนำส่วนประกอบต่าง ๆ ของพืชชนิดนี้ เช่น เมล็ด ใบ เปลือก และผลหว้ามาใช้เป็นยารักษาโรคหลายชนิดตามตำรับยาสมุนไพร

ลูกหว้า

ลูกหว้าเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแอนโทไซยานิน แทนนิน ฟลาโวนอยด์ เทอร์ปินอยด์ กรดเอลลาจิก กรดไขมัน คาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ และวิตามินต่าง ๆ จึงมีการกล่าวถึงสรรพคุณในการรักษาโรคอย่างหลากหลาย เช่น หลอดลมอักเสบ หอบหืด ท้องร่วง ท้องผูก โรคเกี่ยวกับระบบประสาท หรือแม้กระทั่งเพิ่มพลังทางเพศ โดยคุณประโยชน์ด้านสุขภาพบางประการของลูกหว้ามีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์กล่าวถึง ดังนี้

รักษาเบาหวาน มีการกล่าวอ้างสรรพคุณนี้มาช้านาน ในทางวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาประเด็นนี้กับตัวอย่างเซลล์ของมนุษย์ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อดูว่าสารสกัดใบหว้าส่งผลต่อเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่ ผลลัพธ์พบว่าสารสกัดใบหว้าช่วยลดระดับเอนไซม์ดังกล่าวให้น้อยลง ซึ่งคาดว่าคุณสมบัตินี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการต้านสารอนุมูลอิสระและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่นำตัวอย่างเกล็ดเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มาศึกษาในห้องทดลอง โดยหยดสารสกัดจากใบหว้าลงไป ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดใบหว้ามีฤทธิ์เสริมสร้างการทำงานของเกล็ดเลือดให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ไม่ได้ทดลองกับผู้ป่วยโดยตรง จึงไม่อาจสรุปได้ว่าสารสกัดจากลูกหว้าช่วยรักษาอาการของโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ลูกหว้าอาจไม่มีสรรพคุณรักษาเบาหวานจริง เนื่องจากปรากฏการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางชิ้นชี้ให้เห็นว่าลูกหว้าไม่ได้ช่วยให้อาการของโรคเบาหวานดีขึ้นแต่อย่างใด งานวิจัยหนึ่งได้ศึกษากับคนและหนูทดลอง โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 30 คน ดื่มชาผสมสารสกัดจากใบหว้าพร้อมวัดระดับน้ำตาลในเลือด และให้หนูทดลองกินสารสกัดจากใบหว้าดิบเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลการทดลองของคนและสัตว์เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การรับประทานสารสกัดจากลูกหว้าไม่ส่งผลให้ระดับน้ำในเลือดลดลง จึงไม่น่าจะช่วยรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้

เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 27 ราย ดื่มชา 3 สูตร ได้แก่ ชาผสมสารสกัดใบหว้า ชาผสมยารักษาเบาหวานอย่างไกลบูไรด์ (Glyburide) และชาผสมยาหลอก ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการดื่มชาผสมสารสกัดใบหว้าไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดเช่นเดียวกับการดื่มชาผสมยาหลอก จึงอาจกล่าวได้ว่าลูกหว้าไม่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเบาหวานได้ตามที่เชื่อกัน

แก้ปัญหาสุขภาพหัวใจ หลายคนเชื่อว่าลูกหว้าอาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งในผู้ป่วยเบาหวานได้ มีการศึกษากับหนูทดลองชิ้นหนึ่งกล่าวสนับสนุนสรรพคุณข้อนี้ หลังจากพบว่าสารสกัดลูกหว้ามีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือด ทั้งยังทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดของหนูที่ป่วยเป็นเบาหวานลดลง จึงพอจะกล่าวได้ว่าสารสกัดลูกหว้าอาจมีฤทธิ์ป้องกันโรคหลอดแข็งที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

นอกจากนี้ ยังปรากฏงานวิจัยบางชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าลูกหว้าอาจช่วยควบคุมอาการของโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งทดลองโดยให้หนูที่มีความดันโลหิตสูงกินสารสกัดจากลูกหว้าเป็นเวลา 8 สัปดาห์ แล้วพบว่าระดับความดันโลหิตของหนูเหล่านั้นลดต่ำลง

แม้งานวิจัยหลายชิ้นจะชี้ให้เห็นถึงสรรพคุณทางยาของลูกหว้าที่มีต่อสุขภาพหัวใจ แต่ยังไม่ปรากฏงานวิจัยที่ศึกษากับผู้ป่วยโดยตรงมากพอ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าลูกหว้าจะช่วยลดความดันโลหิตหรือรักษาโรคหลอดเลือดแข็ง ผู้ที่ต้องการบริโภคลูกหว้าหรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพืชชนิดนี้เพื่อรักษาโรคดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากอาจเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงแก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง หรือทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางตัวจนเกิดผลข้างเคียงตามมา

แก้อักเสบและติดเชื้อ หลายคนนิยมรับประทานลูกหว้าเพื่อบรรเทาอาการแผลอักเสบและติดเชื้อ เนื่องจากเชื่อกันว่ามีสรรพคุณรักษาอาการดังกล่าวได้ ดังปรากฏในงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองฉีดสารต่าง ๆ เข้าไปที่อุ้งเท้าหนูเพื่อให้เกิดอาการบวม แล้วให้การรักษาด้วยสารสกัดจากเปลือกต้นหว้า ผลพบว่าสารสกัดเปลือกหว้าบรรเทาอาการเท้าบวมอักเสบที่ถูกกระตุ้นด้วยสารบางอย่างได้

นอกจากนี้ ลูกหว้าอาจมีสรรพคุณรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าหนูที่ติดเชื้อแบคทีเรียมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้นหลังกินสารสกัดจากใบหว้าสด โดยสารสกัดดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวบริเวณที่เกิดการอักเสบ แสดงถึงการมีภูมิต้านทานมากขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยต้านภาวะติดเชื้อได้

แม้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงสรรพคุณทางยาของลูกหว้าในการบรรเทาอาการอักเสบและติดเชื้อ แต่การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้ผลกับคน เนื่องจากการศึกษาในประเด็นนี้ล้วนทดลองกับสัตว์ ยังไม่ปรากฏการศึกษาในคนโดยตรง ที่สำคัญ วิธีรักษาอาการอักเสบหรือติดเชื้อในร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ให้ครบตามกำหนด

ลดไขมัน การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลนั้นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลาย ๆ ประการ เนื่องจากผู้ที่ประสบภาวะคอเลสเตอรอลสูงจะเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้มาก หลายคนจึงหันมาใส่ใจพฤติกรรมการใช้ชีวิตกันมากขึ้นและสรรหาสมุนไพรหรืออาหารที่กล่าวกันว่ามีสรรพคุณช่วยลดระดับไขมันในเลือดมารับประทาน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือลูกหว้า

สำหรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวสนับสนุนคุณประโยชน์ข้อนี้ของลูกหว้า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าสารสกัดเมล็ดลูกหว้าช่วยลดคอเลสเตอรอลในเนื้อเยื่อตับและไตของหนูทดลองได้ รวมถึงงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่นำสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มาผสมกับลูกหว้าตามตำรับยาพื้นบ้านอินเดีย แล้วให้หนูที่ป่วยเป็นเบาหวานกินยาดังกล่าว ผลการทดลองพบว่าสูตรยาดังกล่าวส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาของไขมันในร่างกายของหนูทดลอง

อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยเหล่านี้ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าลูกหว้ามีประโยชน์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากล้วนเป็นการศึกษากับสัตว์ อีกทั้งผลการทดลองมีความคลุมเครือ  ประเด็นนี้จึงต้องมีการศึกษาในคนโดยตรงต่อไป เพื่อรับรองประโยชน์และความปลอดภัยในการใช้ลูกหว้า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหานี้ควรเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูงเป็นดีที่สุด เช่น เลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ รับประทานผักผลไม้ให้มาก ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น

กินลูกหว้าอย่างไรให้ปลอดภัย

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกหว้าเพื่อสรรพคุณทายา หรือหากต้องการทดลองใช้จริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากยังไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ที่เพียงพอจะยืนยันความปลอดภัยของการใช้ลูกหว้ารักษาปัญหาสุขภาพในสตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการรับประทานลูกหว้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากลูกหว้าควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค