ลูกเดือย เป็นธัญพืชขนาดเล็กเม็ดสีขาว เหลือง หรือสีอื่น ๆ คนนิยมนำมารับประทานโดยเชื่อกันว่าอาจดีต่อสุขภาพ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความอ้วน และอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะในลูกเดือยอุดมไปด้วยสารอาหารหลากชนิด เช่น เส้นใยอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ วิตามินซี ธาตุเหล็ก สารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล กรดปาลมิติก และกรดไลโนเลอิก นอกจากเป็นอาหารสำหรับคนรักสุขภาพ ลูกเดือยยังปราศจากกลูเตน จึงเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคแพ้กลูเตนได้ด้วยเช่นกัน
คำกล่าวอ้างถึงสรรพคุณของลูกเดือยเป็นจริงเท็จมากน้อยเพียงใด มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนได้พิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ ของลูกเดือยไว้ ดังนี้
ลูกเดือยลดคอเลสเตอรอลและลดความอ้วน
ภาวะคอเลสเตอรอลสูงเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ สมอง รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอจนเกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่างตามมา การรับประทานธัญพืชที่มีเส้นใยอาหารอย่างลูกเดือยอาจช่วยให้เส้นใยอาหารเข้าไปจับตัวกับไขมันคอเลสเตอรอลในลำไส้และยับยั้งการดูดซึมไขมันในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดต่ำลงได้ มีการศึกษาโดยให้ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงจำนวน 40 คน รับประทานลูกเดือยวันละ 60 กรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ลดต่ำลง
นอกจากนี้ ลูกเดือยยังมีแคลอรี่ต่ำในขณะที่มีเส้นใยอาหารสูง ซึ่งดีต่อการควบคุมน้ำหนักและการลดความอ้วน โดยเส้นใยอาหารจะช่วยทำให้อยู่ท้อง อิ่มนานขึ้น และอาจช่วยลดลดน้ำหนักได้ จากการศึกษาในหนูทดลอง พบว่าสารสกัดจากลูกเดือยส่งผลให้น้ำหนักตัว มวลเนื้อเยื่อไขมัน และไขมันในเลือดลดต่ำลง รวมถึงช่วยลดระดับเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนลงพุงได้ และทางผู้วิจัยเสนอแนะว่าอาจใช้ลูกเดือยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคอ้วนได้
แม้ลูกเดือยมีสารอาหารต่าง ๆ ที่อาจช่วยลดระดับไขมันและลดความอ้วนได้ รวมถึงการศึกษาข้างต้นก็แสดงให้เห็นคุณประโยชน์ของลูกเดือยในด้านดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคลูกเดือยในปริมาณที่พอเหมาะ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคลูกเดือยเสมอเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเอง
ลูกเดือยลดความดันโลหิต
ภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้หลอดเลือดได้รับความเสียหาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคไต ซึ่งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารและโปรตีนสูงอย่างลูกเดือยก็อาจช่วยลดระดับความดันโลหิตได้
จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่าลูกเดือยประกอบด้วยสารโอลิโกเปปไทด์ (Oligopeptide) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแองจิโอเทนซิน คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (Angiotensin-I Converting Enzyme) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดความดันโลหิต ทำให้ลูกเดือยอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูงได้
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ลูกเดือยในการลดความดันโลหิตเพิ่มเติมต่อไป โดยควรค้นคว้าและทดลองในมนุษย์ก่อนนำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้รักษาผู้ป่วยจริง
ลูกเดือยมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตและแบ่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติจนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมา มีการศึกษาหลายชิ้นระบุว่าสารประกอบทางชีวภาพของลูกเดือยอย่างกรดปาลมิติก (Palmitic Acid) และกรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) อาจแทรกแซงการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการรักษาและช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ จากการศึกษาหนึ่งที่ฉีดน้ำมันจากลูกเดือยร่วมกับยาเคมีบำบัดให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจำนวน 60 คน พบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว และนักวิจัยยังแนะนำด้วยว่าน้ำมันจากลูกเดือยอาจช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการที่ทดลองในเซลล์มะเร็งของมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากลูกเดือยมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง และอาจนำไปพัฒนาเป็นยารักษาโรคมะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ลูกเดือยเพิ่มเติม โดยทดลองกับมนุษย์ในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อยืนยันประสิทธิผลทางการแพทย์ให้ชัดเจนก่อนนำไปใช้รักษาผู้ป่วยจริง
รับประทานลูกเดือยอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ?
การรับประทานลูกเดือยเป็นอาหารในปริมาณที่พอเหมาะนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่าการรับประทานลูกเดือยในปริมาณมากจะปลอดภัยหรือไม่ และในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอจะระบุปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานลูกเดือย
นอกจากนั้น ผู้บริโภคควรคำนึงถึงปัจจัยทางสุขภาพของตนก่อนรับประทานลูกเดือยด้วย เช่น อายุ หรือปัญหาสุขภาพ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากลูกเดือยเสมอ
ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรรับประทานลูกเดือยอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
- หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานลูกเดือย เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าลูกเดือยอาจเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ เป็นเหตุให้มดลูกบีบตัว และเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้ รวมถึงยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยหากรับประทานลูกเดือยในช่วงที่ให้นมบุตร
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานลูกเดือยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะลูกเดือยอาจรบกวนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรระมัดระวังในการรับประทานลูกเดือย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น อินซูลิน ไกลพิไซด์ ไกลเบนคาไมด์ ไพโอกลิตาโซน เป็นต้น เนื่องจากลูกเดือยอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานลูกเดือย เพราะอาจต้องปรับปริมาณยาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด