ลูกไม่ยอมกินข้าว นับเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในการเจริญเติบโตของทารกและเด็กเล็ก เมื่อทารกอายุประมาณ 9-11 เดือน จะไม่ต้องการให้พ่อแม่คอยป้อนอาหารให้ แต่อยากกินอาหารด้วยตัวเอง โดยเด็กแต่ละคนจะไม่กินข้าวมากน้อยแตกต่างกันไป ในขณะที่เด็กบางคนยังคงอยากให้พ่อแม่ป้อนข้าวอยู่ โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือกล้ามเนื้อสำหรับเคี้ยวอาหารมีพัฒนาการช้า
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเด็กอายุครบ 1 ปี จะเริ่มเรียนรู้การปฏิเสธหรือคายอาหาร เนื่องจากมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย สามารถหาและหยิบอาหารต่าง ๆ มากินได้เอง ลักษณะดังกล่าวจัดเป็นสัญชาตญาณที่ช่วยป้องกันตัวเองไม่ให้รับประทานอาหารที่มีสารพิษหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายเข้าไป ส่วนใหญ่แล้ว พฤติกรรมลูกไม่ยอมกินข้าวนั้นจะไม่เกิดขึ้นนาน และหายไปเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กบางรายอาจมีพฤติกรรมดังกล่าวอันเกิดจากปัญหาสุขภาพ ซึ่งพ่อแม่ควรสังเกตและเตรียมรับมือดังจะกล่าวต่อไป
ทำไมลูกไม่ยอมกินข้าว ?
ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป ได้แก่ การเลือกกิน การเลี่ยงอาหารใหม่ อาการแพ้อาหาร โรคกลัวอาหาร ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการกิน และสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- การเลือกกิน เด็กมีปัญหาในการเลือกรับประทานอาหารบางอย่าง เนื่องจากไม่ชอบเนื้อสัมผัส รสชาติ หรือกลิ่นของอาหารนั้น ๆ พ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมการเลือกกินของลูก เพื่อดูว่าเด็กเลือกกินและไม่กินอาหารอะไรบ้าง โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะเริ่มเลือกกินมากขึ้นในกรณีที่เคยมีปัญหาการให้อาหารยากหรือเกิดความวิตกกังวลต่าง ๆ โดยเด็กที่ไม่ได้ลองกินอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหรือรสชาติแปลกใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมการเลือกกินได้สูง ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจเริ่มมีพฤติกรรมดังกล่าวหลังจากที่เคยกินอาหารได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เลือกกินอาหารอาจไม่ได้มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานหรือสุขภาพไม่ดี เนื่องจากเด็กบางคนก็ได้รับจำนวนแคลอรี่ และสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแม้จะชอบเลือกกินก็ตาม
- เลี่ยงของกินแปลกใหม่ เด็กเล็กมักเลี่ยงกินอาหารใหม่ พ่อแม่ควรช่วยให้เด็กลองรับประทานอาหารใหม่ ๆ โดยให้อาหารที่มีรสชาติคล้ายกับอาหารที่เด็กคุ้นเคย เช่น ให้เด็กลองกินมันบดซึ่งมีเนื้อสัมผัสคล้ายมันหวานบด จากนั้นให้เด็กค่อย ๆ รับประทานอาหารใหม่ในปริมาณน้อย โดยป้อนให้เด็กลองกิน 3 ครั้งในแต่ละมื้อ หากเด็กไม่ยอมกิน ก็เปลี่ยนให้กินอย่างอื่นที่ชอบก่อน แล้วค่อยให้ลองกินในมื้อต่อไป
- อาการแพ้อาหาร เด็กเล็กเกิดการแพ้อาหารได้มากถึงร้อยละ 8 ซึ่งจะเกิดขึ้นทันที ส่วนใหญ่แล้ว เด็กมักแพ้นม ถั่วเหลือง ไข่ ข้าวสาลี ถั่วต่าง ๆ และอาหารทะเล โดยจะเกิดอาการท้องร่วง อาเจียน มีผื่นขึ้น หรือปวดท้อง นอกจากนี้ เด็กเล็กยังเกิดภาวะที่ร่างกายรับอาหารบางอย่างไม่ได้ (Food Intolerance) ซึ่งต่างจากอาการแพ้อาหารทั่วไป เนื่องจากภาวะนี้เกิดจากระบบย่อยอาหาร ไม่ได้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เด็กที่เกิดการแพ้อาหาร Food Intolerance มักแพ้แลคโทส ข้าวโพด หรือกลูเตน โดยจะเกิดก๊าซในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องร่วง และปวดท้อง จะปรากฏอาการช้าหลังรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป แต่อาจเกิดอาการป่วยนานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน
- โรคกลัวอาหาร อาการกลัวหรือโฟเบีย (Phobias) คือ อาการหวาดกลัวที่ทำให้บุคคลนั้นเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตนรู้สึกกลัว อาการกลัวอาหารจัดเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มเข้าเรียน ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาเองหรือเกี่ยวเนื่องกับปัญหาวิตกกังวลทั่วไป โรคกลัวอาหารมีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการกลัวว่าการรับประทานอาหารจะทำให้ป่วย อาหารเป็นอันตรายหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเอง หรือกลัวว่าอาหารจะทำให้สำลักและติดคอ
- ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการกิน ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลให้เด็กรับประทานลำบาก โดยอาจดูด เคี้ยว หรือกัดอาหารไม่ถนัด สำลักหรือรู้สึกพะอืดพะอมเมื่อรับประทานอาหาร รวมทั้งรู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดอาการท้องผูก หากพ่อแม่สังเกตว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามอาการ
- สาเหตุอื่น ๆ เด็กที่มีปัญหาการรับประทานอาหารหรือไม่ยอมกินข้าวอาจมีสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น ดังนี้
- ไม่ชอบรสสัมผัสของช้อนหรือส้อมเมื่อนำเข้าปากและแตะลิ้น
- ไม่ชอบอาหารที่บดจนละเอียด เนื่องจากเด็กบางคนอาจชอบอาหารบางอย่างที่จัดวางในจาน มีกลิ่น และเนื้อสัมผัสตามที่ตนต้องการ
- รู้สึกพะอืดพะอมเมื่อเห็นอาหารปริมาณมาก พ่อแม่ควรเริ่มให้เด็กรับประทานอาหารน้อย ๆ แล้วค่อยเติมให้เมื่อเด็กต้องการเพิ่ม
- สิ่งเร้ารอบข้างดึงความสนใจการรับประทานอาหารของเด็ก เช่น เสียงโทรทัศน์ หรือเด็กเล่นกันในบ้าน
- ไม่ชอบกลิ่นบางอย่างของอาหารบางชนิด
แก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวอย่างไร ?
ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ เริ่มแรกพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กไม่ควรคิดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการดูแลเด็กไม่ดี แต่ควรหาวิธีแก้ไขต่อไป การแก้ปัญหาดังกล่าวประกอบด้วยการกระตุ้นเด็ก และการสร้างสุขลักษณะการกิน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
การกระตุ้นเด็ก
- ให้เด็กกินข้าวเอง เด็กเล็กจะใช้มือหยิบอาหารเมื่ออายุประมาณ 9 เดือน และลองใช้ช้อนส้อมเมื่ออายุประมาณ 15-18 เดือน พ่อแม่ควรให้เด็กหัดรับประทานอาหารเอง โดยสังเกตว่าเด็กรู้สึกหิวหรืออิ่มตอนไหน และให้อาหารเพิ่มหากเด็กหิวมาก แต่ไม่ควรนำอาหารที่ให้จนเยอะเกินไปกลับคืนมา
- สังเกตอาการ พ่อแม่ควรสังเกตว่าเด็กแสดงอาการหรือพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารอย่างไร เพื่อจะได้ให้อาหารเด็กอย่างเหมาะสม เช่น เด็กอาจวางอาหารไว้บนพื้นเมื่อรู้สึกอิ่ม
- กระตุ้นเด็กให้รับประทานอาหารจากจานของพ่อแม่ พ่อแม่ควรให้เด็กลองรับประทานอาหารจากจานของตนเอง เนื่องจากเด็กเรียนรู้การรับประทานอาหารที่แปลกใหม่จากการชิม โดยเริ่มจากการเลียนแบบผู้ใหญ่หรือเด็กอื่น หากเด็กไม่ชอบอาหารที่ให้ชิม ไม่ควรบังคับให้กินเข้าไป แต่ให้เด็กคายออกมา แล้วค่อยให้ลองกินครั้งต่อไปแทน โดยให้ลองรับประทานในปริมาณน้อย ทั้งนี้ การให้เด็กได้เห็นอาหารแปลกใหม่แม้จะไม่ได้รับประทานเข้าไปจะช่วยให้รู้สึกคุ้นเคยได้
- ชมเมื่อเด็กกินอาหาร หากเด็กรับประทานหรือชิมอาหารใหม่ ๆ ได้ รวมทั้งมีพฤติกรรมการร่วมโต๊ะอาหารที่ดี พ่อแม่ควรชมเด็กทันที เพื่อให้เด็กรู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่เหมาะสม รวมทั้งทำให้รู้สึกว่าพ่อแม่กำลังตั้งใจดูตนเองกินหรือลองชิมอาหารอยู่ ไม่ได้มานั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารเท่านั้น
- ไม่บังคับให้กิน พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้เด็กรับประทานอาหาร หรือทำโทษเมื่อเด็กไม่กินข้าว เนื่องจากจะทำให้เด็กรู้สึกเครียดเมื่อต้องร่วมโต๊ะอาหาร ทั้งนี้ ควรให้ลองชิมอาหารใหม่บ่อย ๆ เนื่องจากเด็กต้องใช้เวลานานถึงจะรู้สึกคุ้นเคยและรับประทานอาหารที่ชิมได้
การสร้างสุขลักษณะการกิน
- จัดอาหารให้ดึงดูด พ่อแม่ควรจัดอาหารให้ดูน่ารับประทาน เช่น ใช้จานที่มีสีสัน หรือตัดอาหารเป็นรูปทรงต่าง ๆ
- รับประทานอาหารตรงเวลา ควรจัดเวลาและสถานที่ในการรับประทานอาหารที่แน่นอน เช่น ให้เด็กรับประทานอาหารตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ หรือจัดตำแหน่งสำหรับให้เด็กนั่งร่วมโต๊ะอาหาร
- สร้างสีสันในการรับประทานอาหารร่วมกัน พ่อแม่ควรช่วยกันสร้างบรรยากาศในการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นครอบครัว โดยให้สมาชิกทุกคนนั่งร่วมโต๊ะด้วยกัน รวมทั้งใช้จาน ชาม หรือแก้วน้ำที่มีลวดลายหรือสีสันสวยงาม เพื่อให้เด็กรู้สึกเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหาร ทั้งนี้ สมาชิกครอบครัวยังมีส่วนช่วยให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดี
- ให้กินข้าวกับเพื่อน หากพ่อแม่ต้องการให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรให้เด็กรับประทานร่วมกับเด็กเล็กคนอื่น ซึ่งจะช่วยให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามเพื่อน
- ไม่รีบกินอาหาร เด็กเล็กอาจรับประทานอาหารได้ช้า พ่อแม่จึงไม่ควรรีบรับประทานอาหารและรับประทานอาหารนานเกินไป โดยจำกัดเวลาอาหารแต่ละมื้อไม่เกิน 30 นาที เพื่อช่วยเสริมสร้างวินัยในการรับประทานอาหารของเด็ก
- ให้เด็กมีส่วนร่วม พ่อแม่ควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร ทำอาหาร และชิมอาหาร ก่อนที่จะนำอาหารเหล่านั้นจัดขึ้นโต๊ะสำหรับรับประทาน
- ให้เด็กกินปริมาณน้อย พ่อแม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารในปริมาณที่รับได้ โดยอาจเริ่มให้เด็กกินอาหารประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ แล้วค่อยเติมให้เมื่อเด็กต้องการเพิ่ม วิธีนี้จะทำให้เด็กไม่รู้สึกพะอืดพะอมเมื่อต้องรับประทานอาหาร
- งดน้ำตาล ไม่ควรให้เด็กบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกอิ่มแต่ไม่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
- เลี่ยงขนม ควรจำกัดขนมและของว่างระหว่างวัน เนื่องจากเด็กอาจรับประทานขนมอิ่มเกินไป ทำให้ไม่ยอมกินข้าวเมื่อถึงเวลาอาหาร
อาหารเสริมแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว
โดยทั่วไปแล้ว ทารกหรือเด็กเล็กไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมในกรณีที่ได้รับสารอาหารหลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ อาจต้องได้รับอาหารเสริมบางอย่างเพิ่ม ซึ่งควรได้รับการสั่งจ่ายอาหารเสริมตามแพทย์สั่ง อาหารเสริมที่ช่วยแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวนั้น มีดังนี้
- ธาตุเหล็กเสริม เด็กที่มีปัญหาการรับประทานอาหาร โดยไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ปลา หรือผักและอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม เพื่อเสริมสร้างให้แก่ร่างกาย
- วิตามินดี วิตามินดีนับเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อเด็ก เนื่องจากช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส อันมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูก โดยทั่วไปแล้ว วิตามินดีพบมากในแสงแดด แต่เด็กเล็กบางคนอาจต้องทาครีมกันแดดสำหรับปกป้องผิวจากการเผาไหม้ ส่งผลให้ได้รับวิตามินดี ที่สังเคราะห์จากแสงแดดได้น้อย อีกทั้งการดื่มนมเพียงอย่างเดียวทำให้รับวิตามินดีได้ไม่เพียงพอ จึงควรรับประทานวิตามินดีเสริมตามแพทย์แนะนำร่วมด้วย