วัคซีนเด็ก เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อสุขภาพของลูกน้อย

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนเด็กถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นทารกและเด็กเล็ก เพราะหากขาดวัคซีนไปอาจส่งผลให้ลูกน้อยป่วยบ่อย และอาจกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้

วัคซีนเด็กมีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันโรคติดเชื้อร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัคซีนพื้นฐานที่เด็กควรได้รับ ส่วนวัคซีนเสริมสำหรับบางโรคอาจยังไม่มีความจำเป็นมากเท่าวัคซีนพื้นฐาน เนื่องจากเป็นทางเลือกในการป้องกันโรคที่ไม่ร้ายแรงมากนักหรือโรคที่อันตรายสำหรับเด็กในบางช่วงอายุ 

Children's Vaccines

เมื่อเด็กโตขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเริ่มทำงานได้เต็มที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีภูมิต้านทานต่อโรคได้มากพอ จึงทำให้เชื้อโรคไม่เป็นอันตรายมาก แต่หากผู้ปกครองสนใจฉีดวัคซีนเสริมให้ลูกน้อยก็สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับความจำเป็นและค่าใช้จ่ายได้

วัคซีนเด็กนี้สำคัญไฉน

ร่างกายจะมีระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่ร่างกายด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่า แอนติบอดี้ (Antibody) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อพบเชื้อโรคแปลกปลอมในร่างกาย โดยแอนติบอดี้จะมีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคที่ทำให้ร่างกายเจ็บป่วย และยังคงอยู่ในกระแสเลือด จึงกลายเป็นภูมิต้านทานต่อโรคชนิดนั้น

วัคซีนก็มีการทำงานคล้ายกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเรา หลายคนมักเข้าใจว่าวัคซีนเป็นภูมิคุ้มกันโรคที่ฉีดเข้าไปในร่างกาย แต่แท้ที่จริงแล้ววัคซีนเป็นแอนติเจน (Antigens) ที่ได้มาจากบางส่วนของเชื้อโรคที่อ่อนแอหรือพิษของเชื้อโรค เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแก่โรคนั้น ๆ เสมือนกับการหลอกว่าร่างกายกำลังได้รับเชื้อโรค

วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโตและระบบต่าง ๆ ในร่างกายกำลังพัฒนา โรคบางชนิดที่ร้ายแรงนั้นหากเกิดในเด็กอาจเป็นอันตรายได้มากกว่าในผู้ใหญ่ และสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วหากเป็นโรคติดต่อ เราอาจสังเกตได้ว่าเมื่อเพื่อนในชั้นเรียนเดียวกับลูกป่วย คุณครูมักให้หยุดเรียนหรือแยกเด็กที่ป่วยออกจากเพื่อน ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีควัคซีนเด็กจึงเป็นอีกแนวทางที่อาจช่วยลดการเกิดโรคได้

วัคซีนเด็กที่ลูกน้อยควรได้รับมีอะไรบ้าง

วัคซีนเด็กนั้นมีหลายชนิด โดยคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ศาสตร์และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับตามแผนงานการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Expanded Program on Immunization: EPI) จำนวน 9 ชนิด สำหรับป้องกันโรคทั้งหมด 11 โรค ได้แก่ วัณโรค ตับอักเสบบี คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด  หัดเยอรมัน คางทูม ไข้สมองอักเสบเจอี และเชื้อเอชพีวี (HPV)

โดยสามารถแบ่งตามช่วงอายุได้ดังนี้

  • แรกเกิด : วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) และวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี ครั้งที่ 1
  • 2 เดือน : วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันโปลิโอ ครั้งที่ 1
  • 4 เดือน : วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันโปลิโอ ครั้งที่ 2
  • 6 เดือน : วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันโปลิโอ ครั้งที่ 3
  • 9–12 เดือน : วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ครั้งที่ 1
  • 1 ปีครึ่ง : วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และโปลิโอ ครั้งที่ 4 และวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี ครั้งที่ 1–2 โดยแต่ละเข็มห่างกัน 4 สัปดาห์
  • 2 ปีครึ่ง : วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี ครั้งที่ 3
  • 4 ปี : วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และโปลิโอ ครั้งที่ 5
  • 7 ปี : วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ครั้งที่ 2
  • 11–12 ปี : วัคซีนเอชพีวี (HPV) ครั้งที่ 1–2  โดยแต่ละเข็มห่างกัน 6–12 เดือน  
  • 12 ปี : วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก (dT)

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือกซึ่งสามารถฉีดเพิ่มเติมจากวัคซีนพื้นฐาน เพื่อเพิ่มการป้องกันโรคให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมส่วนนี้เอง โดยสามารถปรึกษาแพทย์ในการเลือกวัคซีนได้   

ข้อควรรู้ก่อนการฉีดวัคซีนเด็ก

แม้วัคซีนเด็กจะเป็นการเสริมภูมิต้านทานโรคในระยะยาวแก่ลูกน้อย แต่วัคซีนก็คล้ายกับยาที่อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดยผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้หลายระดับแตกต่างกันออกไปในวัคซีนแต่ละชนิด เช่น

  • ระดับเล็กน้อย อาจมีอาการบวมแดงหรือระบมบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาเจียน 
  • ระดับปานกลาง อาจทำให้เกิดอาการชัก ไข้ขึ้นสูง 
  • ระดับรุนแรง เช่น ชักเรื้อรัง โคม่า สะลึมสะลือ สมองเสื่อมถาวร 

โดยมากวัคซีนเด็กจะส่งผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย และอาการมักดีขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรสังเกตอาการหลังเด็กได้รับวัคซีน หากพบความผิดปกติที่ร้ายแรงควรรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจสอบสมุดบันทึกสุขภาพเพื่อที่ลูกน้อยจะได้รับวัคซีนอย่างถูกต้อง เหมาะสม และครบถ้วน

ทั้งนี้ การเลือกวัคซีนชนิดต่าง ๆ ควรคำนึงถึงความเหมาะสม ประโยชน์จากการได้รับวัคซีน รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้ผลที่คุ้มค่ามากที่สุด