วัณโรค ติดต่อทางใด ป้องกันอย่างไรจึงจะปลอดภัย

วัณโรค เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่มีความรุนแรงอย่างมาก ทั้งยังติดต่อกันได้ง่าย รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี พ.ศ. 2558 ระบุว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยวัณโรคกว่า 13,000 คน และมีอุบัติการณ์การเกิดโรคกว่า 117,000 ราย จึงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด การเรียนรู้เกี่ยวกับการแพร่กระจายและความเสี่ยงของโรค จะช่วยให้เข้าใจวิธีป้องกันการติดเชื้อชนิดนี้ได้อย่างเหมาะสม

วัณโรค

วัณโรคติดต่อได้อย่างไร ?

เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคนั้นแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วหากไม่มีการป้องกันที่ดี ติดต่อกันได้จากการหายใจเอาอากาศที่มีละอองเสมหะซึ่งปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ซึ่งเกิดได้จากการหายใจ การไอ การจาม การพูดคุยหรือร้องเพลง

อย่างไรก็ตาม แม้จะหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปแล้วอาจจะไม่ติดเชื้อวัณโรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน

วัณโรคไม่ติดต่อในกรณีใด ?

โดยทั่วไปแล้ว เชื้อวัณโรคไม่อาศัยอยู่ตามผิวหนังหรือสิ่งของของผู้ป่วย กิจกรรมดังต่อไปนี้จึงไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ

  • การจูบหรือกอดผู้ติดเชื้อวัณโรค
  • การใช้แปรงสีฟันร่วมกัน
  • การดื่มหรือรับประทานอาหารต่อจากผู้ติดเชื้อ
  • การจับมือ
  • การใช้หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
  • การนอนบนเตียงเดียวกัน
  • การใช้ห้องน้ำร่วมกัน

ใครเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค ?

ทุกคนสามารถติดเชื้อวัณโรคได้ เพราะเป็นเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่มีคนบางกลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

  • มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอหรือบกพร่องอาจส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้เหมือนคนทั่วไป ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น โดยกลุ่มคนที่อาจมีภาวะนี้ ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชเอวีหรือผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคไตขั้นรุนแรง โรคมะเร็ง ผู้ที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การทำเคมีบำบัด ผู้ที่ได้รับยาเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย กำลังใช้ยารักษาโรครูมาตอยด์ โรคโครห์น และโรคสะเก็ดเงิน มีภาวะขาดสารอาหาร รวมทั้งเด็กที่มีอายุน้อยมาก หรือผู้สูงอายุ
  • อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด การเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือต้องอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของวัณโรคจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ได้แก่ ประเทศในแถบแอฟริกา ยุโรปตะวันออก ลาตินอเมริกา ทวีปเอเชีย และเกาะในแถบทะเลแคริบเบียน
  • มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี การขาดการดูแลทางการแพทย์ที่ดี เนื่องจากมีฐานะยากจน หรือสภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกสุขอนามัยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • มีการใช้สารเสพติด เช่น ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบุหรี่ เพราะสารเสพติดเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลงได้
  • ทำงานในหน่วยงานทางการแพทย์ เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือสัมผัสเชื้อวัณโรคมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • อาศัยหรือทำงานในที่พักอาศัยแออัด เช่น ผู้ที่ทำงานในเรือนจำ ศูนย์ตรวจคนเข้าเมือง บ้านพักฟื้นผู้ป่วย บ้านพักคนชรา เป็นต้น กลุ่มคนในพื้นที่เหล่านี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากอาจมีการถ่ายเทอากาศไม่ดี และมีคนแออัดมากเกินไป
  • อาศัยในค่ายลี้ภัยหรือศูนย์พักพิง ความเป็นอยู่อย่างแออัด การขาดแคลนอาหาร รวมทั้งการสุขาภิบาลที่ไม่ดีเท่าที่ควร เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดและติดเชื้อได้ง่าย

วิธีป้องกันการติดเชื้อวัณโรค

ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปซึ่งไม่ได้มีการติดเชื้อหรือตัวผู้ป่วยเอง ควรรู้จักวิธีป้องกันการติดเชื้อวัณโรค เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อให้น้อยลง มีวิธีต่าง ๆ ดังนี้

บุคคลทั่วไป

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแสดงอาการ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้มากที่สุด
  • รับประทานยาป้องกันตามแพทย์สั่ง ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ สุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ การได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค BCG ตั้งแต่เด็กจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ ซึ่งในปัจจุบันเด็กไทยแรกเกิดสามารถรับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หากรับบริการจากทางโรงพยาบาลของรัฐตามสิทธิการรักษา

ผู้ป่วยวัณโรค

อาการของวัณโรคแบ่งได้เป็น 2 ระยะ แต่ละระยะมีวิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปยังผู้อื่นในลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ผู้ป่วยระยะแฝง เป็นระยะเริ่มต้นที่ไม่เกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นแต่ต้องดูแลตัวเองด้วยการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อควบคุมไม่ให้อาการเข้าสู่ระยะแสดงอาการ
  • ผู้ป่วยระยะแสดงอาการ เป็นระยะที่แพร่เชื้อได้ง่าย ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทันทีเมื่อเริ่มมีอาการ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ ควรอยู่แต่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอก พักอาศัยในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรนอนร่วมห้องกับผู้อื่นในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ที่มีอาการ สวมหน้ากากอนามัย และปิดปากเวลาไอหรือจาม รวมทั้งทิ้งขยะที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนในถุงที่ปิดมิดชิด เช่น หน้ากากอนามัยใช้แล้ว กระดาษทิชชู่ที่ใช้เวลาไอหรือจาม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากได้รับการรักษาด้วยยาต้านวัณโรคอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยในระยะแสดงอาการสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคนในชุมชนได้ เนื่องจากไม่อยู่ในระยะแพร่เชื้อแล้ว