วิธีปฐมพยาบาลอาการสำลัก ขั้นตอนสำคัญยามฉุกเฉิน

อาการสำลักหรือติดคอ เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการอุดตันในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อย่างช่องคอและหลอดลม ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ส่วนมากแล้ว อุบัติเหตุประเภทนี้มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดกับทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุได้ง่าย เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อในการกลืนต่างไปจากคนวัยอื่น

นอกจากนี้ อาหารหรือวัตถุบางประเภทอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดคอหรือสำลักได้ อย่างการรับประทานอาหารชิ้นใหญ่หรือแข็งเกินไป ของเล่นขนาดเล็กที่เด็กเล็กอาจหยิบเข้าปากจนทำให้ติดคอ อีกทั้งมีการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงที่จะสำลักอาหารมากกว่าเด็กเล็ก แต่ไม่ว่าอาการนี้จะเกิดคนในช่วงอายุใดก็ล้วนแต่เป็นอันตราย ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเกิดอาการสำลักก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการสำลัก

สำลัก

ข้อควรระวังในการปฐมพยาบาลอาการสำลัก

การปฐมพยาบาลอาการสำลักโดยไม่มีความรู้อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ จึงควรเรียนรู้และใช้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น โดยสิ่งที่ควรคำนึงเมื่อเจอคนสำลัก คือ ห้ามล้วงคอผู้ที่กำลังสำลักเพราะอาจโดนกัดหรือทำให้วัตถุที่ติดอยู่เข้าไปลึกขึ้น และคนแต่ละช่วงวัยมีข้อจำกัดของร่างกายที่ต่างกัน ทำให้ขั้นตอนในการปฐมพยาบาลอาจแตกต่างกันไป โดยเฉพาะทารก เด็กเล็ก คนท้อง และคนอ้วน

วิธีปฐมพยาบาลอาการสำลักเบื้องต้น

อาการสำลักที่ไม่รุนแรงหรือระบบทางเดินหายใจอาจอุดตันเพียงบางส่วน หากผู้ที่มีอาการสำลักยังหายใจหรือพูดได้อยู่ ควรให้ผู้ที่สำลักพยายามนำวัตถุที่ติดอยู่ในลำคอออกมาเองก่อนด้วยการกระแอมหรือไอ หากไม่สำเร็จและผู้ป่วยเริ่มหายใจไม่ออก ไม่สามารถพูดหรือส่งเสียงได้ ไอ เสียงหายใจหวีดแหลมหรือแหบพร่า ผิวหนัง นิ้วมือ ริมฝีปากกลายเป็นสีม่วง คล้ำขึ้น หรือเป็นลม ควรโทรเรียกรถพยาบาลทันที ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องปฐมพยาบาลด้วยวิธีต่าง ๆ ต่อไป

  1. วิธี Back Blow

ผู้ปฐมพยาบาลให้ยืนอยู่ด้านหลังของผู้ประสบเหตุและใช้ฝ่ามือกระแทกไปยังหลังของผู้ที่สำลักเพื่อให้วัตถุหลุดออกมา แต่หากผู้ประสบเหตุเป็นเด็ก ผู้ปฐมพยาบาลควรคุกเข่าทางด้านหลังแทนการยืน จากนั้นใช้มือข้างหนึ่งประคองหน้าอกและโน้มตัวเด็กไปด้านหน้า แล้วใช้ฝ่ามือส่วนล่างหรือส้นมือกระแทกบริเวณตรงกลางหลังส่วนบนหรือระหว่างกระดูกสะบักติดต่อกัน 5 ครั้ง จนกระทั่งวัตถุหลุดออกมา 

ในกรณีที่ปฐมพยาบาลในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้คุณแม่หรือคุณพ่อนั่งบนเก้าอี้ คว่ำหน้าทารกและวางลำตัวทารกลงบนต้นขา ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งประคองศีรษะบริเวณคางไว้ จากนั้นใช้มือตบด้วยแรงเล็กน้อยไปตรงกลางของหลังส่วนบนหรือระหว่างกระดูกสะบัก 5 ครั้ง เพื่อให้ทารกไอจนทำให้วัตถุหลุดออก

  1. วิธี Abdominal Thrusts

วิธีนี้ห้ามใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ปฐมพยาบาลให้ยืนอยู่ด้านหลังของผู้ประสบเหตุ หากเป็นเด็กให้คุกเข่าด้านหลังแทน จากนั้นกำมือข้างหนึ่งไว้บริเวณเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ ใช้มืออีกข้างกดและประคองไว้ โน้มตัวผู้ประสบเหตุไปด้านหน้าแล้วออกแรงกระทุ้งกำปั้นเข้าหาท้องของผู้สำลักอย่างรวดเร็วติดต่อกัน 5 ครั้ง ในลักษณะเฉียงขึ้นเข้าหาตัว 

นอกจากนี้ วิธี Abdominal Thrusts ยังใช้ปฐมพยาบาลตัวเองในกรณีที่สำลักและอยู่คนเดียว โดยให้โน้มตัวไปด้านหน้า กำมือข้างหนึ่งไว้บริเวณเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ ใช้มืออีกข้างกดและประคองไว้ วางมือที่จับกันไว้ลงบนขอบโต๊ะ พนักเก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ จากนั้นออกแรงกดหรือกระแทกไปยังขอบโต๊ะจนวัตถุหลุดออกมา

  1. วิธี Five and Five

เป็นการทำวิธี Back Blow สลับกับ Abdominal Thrusts โดยสลับทำวิธีละ 5 ครั้ง ต่อเนื่องกันจนกระทั่งวัตถุหลุดออกมา

  1. วิธีปฐมพยาบาลอาการสำลักในคนท้องและคนอ้วน

คนที่กำลังตั้งครรภ์และคนตัวใหญ่จะมีวิธีการปฐมพยาบาลเฉพาะเนื่องจากลักษณะร่างกายที่ต่างจากคนทั่วไป วิธีนี้เรียกว่า Chest Thrust ในขั้นแรกให้ผู้ปฐมพยาบาลยืนด้านหลังของผู้ที่ประสบเหตุ วางกำปั้นลงบนตรงกลางใต้ราวนมและใช้มืออีกข้างประคองไว้ โน้มตัวผู้สำลักไปด้านหน้าให้ขนานกับพื้น จากนั้นออกแรงกระทุ้งกำปั้นเฉียงขึ้นเข้าหาตัวจนกระทั่งวัตถุหลุดออก

การปฐมพยาบาลอาการสำลักด้วยวิธี Chest Thrust สามารถใช้ในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีได้ โดยคุณพ่อหรือคุณแม่ควรนั่งบนเก้าอี้ ให้ทารกนอนหงายบนต้นขา จากนั้นใช้นิ้ว 2 นิ้วกดบริเวณกระดูกหน้าอกส่วนล่างให้ลึกลงไปประมาณ 1 ส่วน 3 ของลำตัวเด็ก 5 ครั้งจนกระทั่งวัตถุหลุดออก

  1. วิธีปฐมพยาบาลอาการสำลักในผู้ที่หมดสติ

ในกรณีที่วิธีข้างต้นไม่ได้ผลและผู้ที่สำลักหมดสติ ควรให้ผู้ประสบเหตุนอนลงบนพื้นและสำรวจสิ่งที่อาจติดค้างอยู่ในลำคอ หากมีอาหารหรือวัตถุอยู่ในปากบริเวณที่ไม่ลึกมากให้ใช้มือหยิบออก ขั้นตอนนี้ควรทำอย่างระมัดระวังและแน่ใจว่าสามารถหยิบออกได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้วัตถุดังกล่าวหลุดเข้าไปในคอและทำให้อาการรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในเด็ก หากไม่สามารถหยิบวัตถุออกมาได้อาจจำเป็นต้องทำ CPR หรือการปั๊มหัวใจ เพื่อรักษาชีวิตก่อนรถพยาบาลมาถึง 

อย่างไรก็ตาม การปฐมพยาบาลอาการสำลักด้วยวิธีเหล่านี้ควรดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม แต่อาจนำมาใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินและยังไม่สามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าวได้

เพื่อป้องกันการสำลักและติดคอ ผู้ที่มีทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุภายในบ้าน ควรดูแลและใส่ใจคนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี เช่น เก็บของเล่นหรือวัตถุชิ้นเล็กเพื่อป้องกันเด็กเล็กหยิบเข้าปาก เลือกอาหารที่ไม่แข็งจนเกินไปหรือเคี้ยวง่ายให้กับผู้สูงอายุและเด็ก ป้อนอาหารที่พอดีคำ ไม่ใหญ่จนเกินไป หากมีโอกาสควรเข้ารับการอบรมการปฐมพยาบาลเพราะอาจเป็นประโยชน์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้