วิธีปฐมพยาบาลอาการฮีทสโตรก

ฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดดเป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากความร้อน (Heat-Related Illness) ชนิดรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการร้ายแรงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ด้วยเหตุนี้การรู้จักวิธีปฐมพยาบาลอาการฮีทสโตรกจึงสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะประเทศที่มีอากาศร้อนตลอดทั้งปีอย่างประเทศไทย

จุดประสงค์หลักของการปฐมพยาบาลอาการฮีทสโตรก คือ การลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อป้องกันการทำงานของอวัยวะล้มเหลวที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย โดยบทความนี้จะมาพูดถึงสัญญาณของฮีทสโตรกและขั้นตอนปฐมพยาบาล

วิธีปฐมพยาบาลอาการฮีทสโตรก

สัญญาณของฮีทสโตรก

โรคที่เกิดจากความร้อนแบ่งออกได้หลายระยะ เช่น โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด รวมถึงฮีทสโตรก แต่บางครั้ง ฮีทสโตรกอาจเกิดขึ้นฉับพลัน โดยไม่เกิดระยะก่อนหน้า ดังนั้นหากพบสัญญาณต่อไปนี้ ควรปฐมพยาบาลและพาไปพบแพทย์ทันที

  • ตัวร้อนจัด ตัวแดง ผิวแห้งมาก หรือบางรายอาจเหงื่อออกมากผิดปกติ
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นตะคริว
  • ชีพจรเต้นเร็ว หายใจหอบ
  • เกิดอาการทางประสาท เช่น สับสน กระวนกระวาย พูดไม่ชัด และชัก
  • หมดสติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นอาการแรกเมื่อเกิดฮีทสโตรกในผู้สูงอายุ

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะและระบบภายในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ตับวาย ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) และหลอดเลือดอุดตัน นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากรอดชีวิต อวัยวะบางอย่างอาจเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม

คนบางกลุ่มและคนที่ประกอบอาชีพบางอย่างอาจมีความเสี่ยงของฮีทสโตรกมากกว่าคนกลุ่มอื่น เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว นักกีฬา เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน หรือคนที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงบ่ายที่มีแดดจัด นอกจากนี้การดื่มน้ำน้อยและดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะดังกล่าวได้

ขั้นตอนปฐมพยาบาลอาการฮีทสโตรก

จุดประสงค์ของการปฐมพยาบาลอาการฮีทสโตรก คือ การลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่ประสบเหตุให้ได้เร็วและมากที่สุดระหว่างรอรถพยาบาล โดยลำดับการปฐมพยาบาลภาวะดังกล่าวอาจทำได้ดังนี้

  • โทรเรียกรถพยาบาลหรือนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
  • พาผู้ประสบเหตุเข้าที่ร่มและเย็น อย่างห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ มีพัดลม หรือมีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • จัดท่าผู้ประสบเหตุด้วยการยกขาให้สูงขึ้นหรือนำขาพาดไว้กับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดและความดันโลหิต
  • ถอดเสื้อผ้าออกเพื่อระบายความร้อน
  • หากผู้ประสบเหตุยังมีสติ ควรให้จิบน้ำเย็นอยู่ตลอด
  • ลดอุณหภูมิร่างกายด้วยการใช้น้ำเย็นราดหรือพรมตามตัว ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดทั่วตัว ใช้แผ่นเจลประคบเย็นหรือผ้าชุบน้ำประคบไว้ตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ คอ รักแร้ และขาหนีบ หากมีถังหรืออ่างน้ำสามารถให้ผู้ป่วยแช่ตัวในน้ำเพื่อลดอุณหภูมิได้ แต่ควรเฝ้าผู้ป่วยไว้ตลอด เพราะหากผู้ประสบเหตุหมดสติอาจจมน้ำได้
  • ใช้เครื่องปรับอากาศ พัดลม พัด หรือทุกอย่างเป่าตัวผู้ป่วยระหว่างเช็ดตัว เพราะจะช่วยให้อุณหภูมิลดลงได้เร็วขึ้น
  • ปฐมพยาบาลด้วยวิธีเหล่านี้จนกว่ารถพยาบาลจะมาหรือจะถึงโรงพยาบาล
  • หากผู้ประสบเหตุหมดสติ ไม่ตอบสนอง ร่วมกับคลำชีพจรไม่ได้ ไม่หายใจ หายใจผิดปกติหรือหายใจเฮือก ควรเริ่มซีพีอาร์ (CPR) หรือการปั๊มหัวใจ

อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งเพื่อลดอุณหภูมิ หากผู้ประสบเหตุเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ไม่ได้มีภาวะฮีทสโตรกจากการออกกำลังกาย เพราะอาจเกิดอันตรายได้

เพื่อลดความเสี่ยงของฮีทสโตรก ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะช่วงเวลาที่แดดจัดและอากาศร้อน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง จิบหรือดื่มน้ำเล็กน้อยตลอดทั้งวัน สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี สีอ่อน สวมหมวกเมื่ออยู่กลางแจ้ง ทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิว

หากต้องทำงานท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน ควรพักในที่ร่มและจิบน้ำเป็นระยะเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายและลดความเสี่ยงของฮีทสโตรก ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างผู้สูงอายุ เด็ก เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับการดูแลและระมัดระวังตนเองมากกว่าคนกลุ่มอื่น หากพบอาการผิดปกติภายหลังหรือระหว่างอยู่กลางแจ้ง ควรพักจิบน้ำในที่ร่มและเย็นจนรู้สึกดีขึ้น แต่หากอาการผิดปกติหรือรุนแรง ควรขอความช่วยเหลือและไปพบแพทย์ทันที