วิธีรักษาต่อมลูกหมากโต ทางเลือกบรรเทาอาการที่ได้ผล

วิธีรักษาต่อมลูกหมากโตมีหลายวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษาแบ่งเป็น 3 วิธีหลักคือการใช้ยา การผ่าตัด และการดูแลตัวเองที่บ้าน เช่น การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและดื่มน้ำ การออกกำลังกาย และการฝึกวินัยในการปัสสาวะ

ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) เป็นภาวะที่พบบ่อยในชายสูงอายุ เมื่อต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติและบีบให้ท่อปัสสาวะแคบลง จึงทำให้มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะน้อยหรือไหลช้า แม้ต่อมลูกหมากโตจะไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็ง แต่อาการต่าง ๆ มักเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรทราบวิธีรักษาต่อมลูกหมากโตอย่างเหมาะสม

Treat Benign Prostatic Hyperplasia

รวมวิธีรักษาต่อมลูกหมากโต

แพทย์อาจใช้วิธีรักษาต่อมลูกหมากโตหลายวิธีร่วมกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการต่อมลูกหมากโต อายุของผู้ป่วย และสุขภาพของผู้ป่วย ดังนี้

1. การใช้ยา

วิธีรักษาต่อมลูกหมากโตวิธีแรกคือการใช้ยา เช่น

  • ยากลุ่มอัลฟา บล็อกเกอร์ (Alpha Blockers) เช่น แทมซูโลซิน (Tamsulosin) อัลฟูโซซิน (Alfuzosin) ดอกซาโซซิน (Doxazosin) ซึ่งช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ต่อมลูกหมากและคอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น
  • ยากลุ่ม 5-อัลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ (5-Alpha Reductase Inhibitor) เช่น ดูทาสเทอไรด์ (Dutasteride) และฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) ซึ่งช่วยให้ต่อมลูกหมากหยุดการเติบโตและยุบลง ไม่รบกวนการปัสสาวะ
  • ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แต่อาจนำมาใช้ในการรักษาต่อมลูกหมากโตในบางกรณี
  • ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านตัวรับชนิดมัสคารินิก (Antimuscarinic Drugs) เช่น ออกซีบิวไทนิน (Oxybutynin) โซลิเฟนาซิน (Solifenacin) ใช้รักษาอาการปัสสาวะบ่อยและกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป

วิธีรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการใช้ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และปรึกษาแพทย์หากกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงหลังการใช้ยา

2. การผ่าตัดและวิธีอื่น ๆ

วิธีรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดจะใช้รักษาผู้มีภาวะต่อมลูกหมากโตระยะปานกลางถึงรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังรักษาด้วยยา ซึ่งวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น

การผ่าตัดส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Transurethral Resection of the Prostate: TURP)

วิธีรักษาต่อมลูกหมากโตนี้เป็นการผ่าตัดส่องกล้อง โดยแพทย์จะสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางท่อปัสสาวะ และตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออก ทำให้ปัสสาวะได้ดีขึ้น โดยผู้ป่วยต้องใส่สายสวนปัสสาวะไว้ในช่วงแรกที่พักฟื้นหลังการผ่าตัด

การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขยายท่อปัสสาวะ (Transurethral Incision of the Prostate: TUIP)

วิธีนี้เป็นการผ่าตัดส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งแพทย์จะกรีดบริเวณต่อมลูกหมากและคอกระเพาะปัสสาวะให้เป็นรอยเล็ก ๆ ประมาณ 1–2 รอย เพื่อขยายท่อปัสสาวะให้ใหญ่ขึ้น ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

การใช้พลังงานความร้อนรักษาต่อมลูกหมากโต

การใช้พลังงานความร้อนต่าง ๆ เป็นอีกวิธีรักษาต่อมลูกหมากโตที่แพทย์อาจใช้ เช่น เลเซอร์ คลื่นวิทยุ คลื่นอัลตราซาวด์ และคลื่นไมโครเวฟ ไปที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งพลังงานเหล่านี้จะทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลง

วิธีรักษาอื่น ๆ

การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยรักษาต่อมลูกหมากโต เช่น การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำอุณหภูมิสูง (Transurethral Water Vapor Therapy) และยูโรลิฟต์ (Prostatic Urethral Lift) ซึ่งวิธีรักษาต่อมลูกหมากโตประเภทนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลารักษาไม่นาน และไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 

หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากโต แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยกของหนัก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และนัดตรวจติดตามอาการและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ และไปพบแพทย์ตามที่นัดหมาย

3. การปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรมเป็นวิธีรักษาต่อมลูกหมากโตสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งแพทย์จะให้เฝ้าสังเกตอาการและดูแลตัวเองที่บ้าน เพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น

  • ดื่มน้ำให้น้อยลง โดยเฉพาะช่วง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนหรือเมื่ออยู่นอกบ้าน เพื่อป้องกันการปวดปัสสาวะบ่อย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากขึ้น เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะปัสสาวะ และทำให้อาการแย่ลง
  • รับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์สูง เนื้อปลาและถั่วที่ให้โปรตีนและมีไขมันดี หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์สีแดง และอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีอาการปัสสาวะบ่อย ให้ฝึกกลั้นปัสสาวะเป็นเวลา 5–10 นาทีแล้วค่อยไปเข้าห้องน้ำ แต่ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานเกินไป เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อกระเพราะปัสสาวะเกิดความเสียหายมากขึ้น
  • ควรปัสสาวะให้สุด โดยเมื่อรู้สึกว่าปัสสาวะออกหมดแล้ว ควรเบ่งต่ออีกเล็กน้อยเพื่อให้ปัสสาวะที่ค้างอยู่ไหลออกมา
  • สวมแผ่นอนามัยที่ช่วยซึมซับปัสสาวะ หากมีอาการปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 

หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไหลช้า กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หรือมีอาการรุนแรง เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดท้องด้านล่างหรืออวัยเพศขณะปัสสาวะ มีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ และรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรักษาต่อมลูกหมากโตที่เหมาะสมต่อไป