รอยสิว คือรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว เมื่อเป็นสิวอักเสบหรือสิวอุดตัน ในบางครั้งหลังสิวนั้นหายไป จะทิ้งร่องรอยเอาไว้ ซึ่งรอยสิวเหล่านั้นเป็นผลมาจากกระบวนการฟื้นฟูสภาพผิวด้วยการสร้างสารคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ จึงปรากฏเป็นรอยสิวในรูปแบบต่าง ๆ บนผิวหนัง โดยการดูแลรักษาผิวหนังแต่เนิ่น ๆ หลังเกิดสิว อาจช่วยป้องกันการเกิดรอยสิวได้
รอยสิว เกิดจากอะไร ?
รอยสิว เกิดจากการเป็นสิว ซึ่งเป็นการอักเสบหรืออุดตันของรูขุมขนใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิวอักเสบที่มีระดับความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการทิ้งร่องรอยแผลเป็นจากสิวได้หลังจากที่สิวหายไป
ชนิดของสิวสามารถแบ่งตามระดับความรุนแรง ได้แก่
- รุนแรงน้อย สิวหัวขาว สิวหัวดำ
- รุนแรงปานกลาง สิวตุ่มแดง สิวหัวหนอง
- รุนแรงมาก สิวก้อนลึก สิวซีสต์
นอกจากนั้น การบีบหรือกดสิวก็สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดรอยสิวได้เช่นกัน
ลักษณะของรอยสิว
รอยสิวที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป โดยรอยสิวมีลักษณะหลัก 2 รูปแบบ คือ
รอยสิวทั่วไป
ส่วนใหญ่จะปรากฏเป็นจุดสีแดงหรือสีน้ำตาล เป็นหลุมสิวตื้น ๆ และมักจะค่อย ๆ เลือนรางจางหายไปเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน โดยอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
รอยสิวหลุมลึก
ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาหรือรับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อการดูแลรักษารอยสิวประเภทนี้ เพราะร่องรอยที่เกิดขึ้นอาจเป็นความเสียหายในระดับชั้นผิวที่ลึกลงไป ซึ่งยากต่อการรักษาด้วยวิธีทั่วไป แพทย์อาจต้องพิจารณาใช้วิธีการหรือทำหัตถการตามขั้นตอนที่เหมาะสม โดยชนิดของรอยสิวหลุมลึก ดังนี้
- Rolling Scars เป็นจุดหลุมบนผิวหนัง หรือเป็นหลุมสิวตื้น ๆ
- Ice-pick Scars เป็นรอยสิวแบบจุดหลุมลึก
- Atrophic Scars เป็นรอยหลุมยุบลงไป แต่รอยนั้นมีความแบนและบาง
- Boxcar Scars เป็นรอยหลุมกว้างขนาดใหญ่ และมีขอบหลุมชัดเจน
- Hypertrophic หรือ Keloid Scars เป็นรอยแผลเป็นนูนขึ้นมาบนผิวหนัง
รอยสิว รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
รอยสิวชนิดหลุมลึกที่เกิดขึ้น ไม่อาจรักษาให้หมดไปอย่างสมบูรณ์ได้ แต่รอยสิวเหล่านั้นจะบางลงตามกาลเวลา ส่วนรอยสิวทั่วไปนั้นสามารถรักษาให้หายไปได้ หรือรอยสิวนั้นจะค่อย ๆ เลือนรางจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่มีรอยสิวสามารถบำรุงดูแลผิวบริเวณที่เป็นรอยสิว เพื่อบรรเทาความรุนแรงของรอยนั้น หรืออาจใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ปกปิดร่องรอย เช่น ครีมรองพื้นที่เข้ากับสีผิวบริเวณนั้น ช่วยปกปิดรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวได้
การรักษาและลบเลือนรอยสิว
การรักษารอยสิวขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของรอยนั้นด้วย คุณสามารถดูแลรักษารอยแผลเป็นจากสิวให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้ยาหรือแนวทางปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หรือในบางกรณี อาจต้องขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือแพทย์ผิวหนัง ซึ่งจะสามารถให้คำแนะนำและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
วิธีการรักษาและลบเลือนรอยสิว ได้แก่
ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของคอร์ติโซน (Cortisone)
การใช้ครีมคอร์ติโซนเหมาะสำหรับรอยสิวที่เป็นจุดสีแดง หรือเป็นรอยบวม โดยคอร์ติโซนจะช่วยลดภาวะอักเสบของผิวหนัง ทำให้สีแดงที่ผิวหนังจางไป และรอยสิวบริเวณนั้นยุบตัวลง แม้ครีมคอร์ติโซนสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ผู้ป่วยควรปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีและขั้นตอนการใช้งานก่อนเสมอ
ผลิตภัณฑ์ที่มีสารบำรุงผิว
สารที่อาจลองใช้เพื่อลบเลือนร่องรอยสิวที่เกิดขึ้น เช่น
- วิตามินซี หรือกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญต่อร่างกาย ช่วยในการต้านอักเสบ ลดรอยดำจากสิว มีส่วนในสร้างคอลลาเจน ช่วยให้แผลหายเร็ว
- อาร์บูติน (Arbutin) และกรดโคจิก (Kojic Acid) สารทั้งสองชนิดนี้มีสรรพคุณในการยับยั้งการผลิตเม็ดสี ช่วยลบเลือนรอยดำและรอยแผลเป็นจากสิว
- เซราไมด์ (Ceramide) เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายผลิตได้ตามธรรมชาติ ซึ่งมีหน้าที่เป็นเกราะปกป้องผิว รักษาความชุ่มชื้นของผิว และช่วยให้ผิวแข็งแรง แต่บางคนมีเซราไมด์ในผิวน้อย ทำให้ผิวอ่อนแอจนเสี่ยงต่อการเกิดสิว ในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีเซราไมด์สังเคราะห์ เมื่อใช้เป็นประจำก็อาจช่วยให้ผิวแข็งแรงและอาจช่วยลดการเกิดสิว รวมถึงโอกาสเกิดรอยสิวตามมาหลังจากสิวหายไป นอกจากนี้ คุณสมบัติของเซราไมด์ยังช่วยลดอาการผิวแห้งและระคายเคืองที่เป็นผลจากการรักษาสิวได้
- ไนอะซินาไมด์ (Niacinamide) รู้จักกันในชื่อของวิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin) เป็นสารอีกชนิดที่แพทย์อาจใช้ในการรักษาและลดรอยสิว เนื่องจากมีสรรพคุณต้านการอักเสบ ลดรอยแดง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาสิวและลดอาการผิวแห้งด้วย การใช้ไนอะซินาไมด์เพื่อรักษาและลดรอยสิวควรเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีความเข้มข้นของสารชนิดนี้ 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่มีการศึกษาแล้วว่ามีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการรักษาสิว
อย่างไรก็ตาม ผิวแต่ละคนอาจตอบสนองแตกต่างกัน เพื่อลดความเสี่ยงของอาการแพ้และป้องกันอาการรุนแรงขึ้น จึงควรทดสอบอาการแพ้หรือปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนใช้
การฉีดฟิลเลอร์
ในผู้ป่วยบางราย แพทย์จะฉีดฟิลเลอร์ เข้าไปเติมบริเวณรอยสิวที่มีลักษณะเป็นรอยบุ๋มลงไป เพื่อทำให้รอยสิวที่เป็นร่องลึกนั้นตื้นขึ้น ให้ผิวดูเรียบเนียนกลมกลืนกับผิวบริเวณใกล้เคียง แต่ผู้ป่วยมักต้องเข้ารับการฉีดฟิลเลอร์ซ้ำทุก 4-6 เดือน เพราะสารฟิลเลอร์จะถูกผิวดูดซึมจนหมดไปตามกาลเวลา
การฉีดสเตียรอยด์
เป็นวิธีการรักษารอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว โดยเฉพาะชนิดแผลเป็นนูน แพทย์จะฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ไตรแอมซิโนโลน อีซีโตไนด์ (Triamcinolone Acetonide) เข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณที่ต้องการทำการรักษา
การทำเลเซอร์
เลเซอร์ผิวหนัง เป็นวิธีการที่แพทย์จะใช้อุปกรณ์ยิงลำแสงเลเซอร์ไปบนผิวหนังบริเวณที่เป็นรอยสิว เพื่อกำจัดผิวหนังชั้นนอกที่เกิดความเสียหายหลังการเกิดสิวนั้นทิ้งไป และกระตุ้นเซลล์ผิวใหม่ในผิวชั้นกลาง เพื่อให้ผิวบริเวณนั้นดูเรียบเนียนสม่ำเสมอกัน และหลังทำเลเซอร์อาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าสภาพผิวจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่
การกรอผิว
วิธีการนี้ แพทย์จะใช้เครื่องมือกรอขัดผิวหนังส่วนที่เป็นรอยสิวออกไป เพื่อให้ผิวหนังชั้นที่ลึกลงไปได้ผลัดเซลล์ผิวขึ้นมาใหม่แทนที่เซลล์ที่ถูกจำกัดไป รอยสิวจะหายไป ในขณะที่เซลล์ผิวหนังใหม่จะช่วยทำให้ผิวส่วนที่เป็นรอยสิวแต่เดิมเรียบเนียนสม่ำเสมอกับผิวบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น แต่กว่าสภาพผิวจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์
การลงเข็ม
แพทย์จะใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นเข็มขนาดเล็กจิ้มลงไปบนผิวหนังบริเวณรอยสิวที่ต้องการทำการรักษาหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดรูเล็ก ๆ บนผิวหนังจำนวนมาก เป็นการกระตุ้นการสร้างสารคอลลาเจนและอิลาสตินในผิวหนังชั้นที่อยู่ติดกับหนังกำพร้า ช่วยให้รอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวลดลง และทำให้ผิวบริเวณดังกล่าวกระชับดูเรียบเนียนขึ้น
การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy)
แพทย์จะใช้เครื่องพ่นไนโตรเจนเหลวหรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอุณหภูมิต่ำไปยังจุดที่ต้องการรักษาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อทำให้เซลล์ผิวบริเวณรอยแผลเป็นตาย แล้วสร้างเซลล์ใหม่ที่ดีขึ้นมาแทนที่
การศัลยกรรมรักษาหลุมสิว
แพทย์อาจทำหัตถการด้วยการตัดเลาะเอาเนื้อเยื่อที่เสียหายบริเวณรอยสิวออกไป แล้วนำเนื้อเยื่อที่ดีจากผิวหนังส่วนอื่นมาเย็บปิดบริเวณนั้นแทน (Punch Grafting) ในรายที่มีรอยสิวแบบหลุมแหลมลึก หรืออาจทำการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขรอยแผลเป็นในรายที่มีแผลเป็นนูนขนาดใหญ่
เคล็ดลับสำคัญในการดูแลรักษาและป้องกันการเกิดรอยสิว
เพื่อป้องกันการเกิดรอยดำและรอยแผลเป็นจากสิว ควรทำตามวิธีต่อไปนี้
1. ไม่บีบหรือกดสิว
การบีบสิวอาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลามของสิว แบคทีเรียภายในสิวอาจแพร่กระจายไปยังผิวบริเวณอื่น ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่ผิวหนังเพิ่มมากขึ้น และทำให้รอยสิวเกิดขึ้นตามมาได้ง่าย
2. ไม่พอกหน้า
การพอกหน้าหรือใช้ครีมบำรุงหลากหลายทาพอกบริเวณรอยสิว นอกจากวิธีการนี้จะไม่ได้ผลแล้ว อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ ซึ่งอาจทำให้รอยสิวปรากฏชัดเจนขึ้นได้อีกด้วย
3. ไม่ใช้วิตามินอี
บริเวณที่มีรอยสิว จากงานค้นคว้าบางส่วนพบว่า การนำสารอาหารเข้าสู่ผิวที่เป็นรอยแผลเป็นโดยตรงอาจรบกวนกระบวนการฟื้นฟูสภาพผิวได้ และกลุ่มตัวอย่างทดลองบางรายที่ใช้วิตามินอีกับผิวโดยตรง ก็เกิดผลข้างเคียงเป็นภาวะผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis)
4. หลีกเลี่ยงแสงแดด
การสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงอาจทำให้รอยสิวมีสีเข้ม สังเกตเห็นได้ชัดเจนขึ้น และชะลอกระบวนการฟื้นฟูสภาพผิวบริเวณรอยสิวลง ฉะนั้น หากต้องออกไปสัมผัสแสงแดดภายนอก ควรสวมใส่เครื่องแต่งกายป้องกัน อย่างหมวก แว่นตา และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือมากกว่าขึ้นไปเสมอ
5. รักษาสมดุลไมโครไบโอมบนผิว
ไมโครไบโอม (Skin Microbiome) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ที่อาศัยอยู่บนผิวของคนทั่วไป มีทั้งชนิดดีและไม่ดีที่ก่อให้เกิดสิวได้ เมื่อไมโครไบโอมชนิดดีลดลงหรือชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวและปัญหาผิวตามมา ดังนั้น จึงควรเพิ่มความแข็งแรงให้กับไมโครไบโอมชนิดดีด้วยการเพิ่มพรีไบโอติก (Prebiotics) ที่เป็นอาหารของไมโครไบโอมชนิดดี เมื่อไมโครไบโอมได้รับพรีไบโอติกเป็นประจำก็จะแข็งแรงและมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผิวมีความสมดุลและแข็งแรง จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาผิว โดยทั่วไปพรีไบโอติกสามารถหาได้จากการรับประทานผักผลไม้ แต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมของพรีไบโอติก สามารถใช้เพื่อช่วยเพิ่มความสมดุลของผิวพรรณได้โดยตรง
6. อดทน
หลังสิวหายไป อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าที่เส้นเลือดและคอลลาเจนจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ในระหว่างนั้น รอยสิวจะปรากฏขึ้นชัดเจน และหลังจากนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลานานเป็นปีกว่าที่รอยแผลเป็นจากสิวจะจางลงและลบเลือนไปได้
7. พบแพทย์
หากคุณมีความวิตกกังวล ไม่สบายใจ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรอยสิวที่เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ รับคำแนะนำมาปฏิบัติตาม หรือเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมภายใต้การดูแลจากแพทย์