วิธีเลือกหน้ากากอนามัย เพื่อความปลอดภัยในช่วง COVID-19

ผู้คนในสังคมตระหนักถึงการใส่หน้ากากอนามัยหรือการใช้เจลแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสกันมากขึ้น เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อกันได้ง่ายและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 

การใส่หน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันเชื้อโรคที่อาจเข้าสู่ร่างกายทางปากหรือจมูกโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรค ทำให้หน้ากากอนามัยกลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง จึงมีการผลิตและจำหน่ายหน้ากากอนามัยในรูปแบบที่หลากหลายจนอาจก่อให้เกิดความสับสนได้ บทความนี้จึงจะชวนมารู้จักชนิดของหน้ากากอนามัยและวิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องกัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและการติดเชื้อของโควิด-19   

2572-หน้ากากอนามัย-COVID-19

ความสำคัญของหน้ากากอนามัยในการป้องกัน COVID-19

COVID-19 เป็นโรคที่มีการแพร่กระจายเชื้อคล้ายกับเชื้อไวรัสไข้หวัดหรือเชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus) นั่นคือ แพร่กระจายผ่านละอองขนาดเล็กในอากาศจากการไอหรือจาม ยิ่งมีการแพร่กระจายผ่านละอองในพื้นที่ปิดอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ หน้ากากอนามัยจึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อผ่านละอองฝอย โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อหรือมีอาการป่วยจากเชื้อไวรัส ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานพยาบาล หรือผู้ที่จำเป็นจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถือเป็นผู้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอเพื่อป้องกันการรับเชื้อจากบุคคลอื่น 

หน้ากากอนามัยแบบไหนช่วยป้องกัน COVID-19 

จากผลการศึกษาพบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 สามารถแพร่กระจายได้ก่อนจะมีการแสดงอาการ ซึ่งการแพร่ของเชื้อกระจายที่เกิดขึ้นในสังคมสามารถลดลงได้หากทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยแม้ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการป่วยก็ตาม 

ปัจจุบันหน้ากากอนามัยที่วางขายทั่วไปมี 3 ประเภทหลัก คือ หน้ากากอนามัยแบบผ้า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัย N95 

หน้ากากอนามัยแบบผ้า

หน้ากากอนามัยประเภทนี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้เล็กน้อย โดยจะตัดเย็บมาจากผ้า จึงสามารถซักทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ สำหรับผ้าที่เหมาะสมต่อการนำมาทำหน้ากากอนามัยควรเป็นผ้าที่ถักทออย่างหนาแน่น ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการป้องกันที่ค่อนข้างดีกว่าผ้ากันลมหรือผ้าปิดปากทั่วไป 

จากการศึกษาของทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า ผ้านาโน ผ้าฝ้ายดิบ และผ้าฝ้ายมัสลินนั้นเหมาะในการทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า เนื่องจากมีคุณสมบัติใกล้เคียงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์หากนำผ้ามาประกอบกัน 2 ชั้น อีกทั้งยังป้องกันการซึมผ่านของละอองน้ำ นำไปซักได้หลายครั้ง และหาได้ง่ายทั่วไป 

หน้ากากอนามัยแบบผ้าจึงเหมาะกับคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยหรือผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์ ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แนะนำให้มีการใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ยากต่อการระมัดระวัง เช่น ร้านค้า ศูนย์การค้า หรือสถานที่มีคนหนาแน่น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค COVID-19

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นชนิดที่คนที่นิยมใช้มากที่สุด โดยจะประกอบไปด้วย 3 ชั้น ชั้นนอกสุดช่วยป้องกันน้ำ เลือด หรือของเหลวอื่น ๆ ส่วนชั้นกลางช่วยป้องกันละอองเชื้อโรคที่มาพร้อมกับน้ำมูก น้ำลายจากการไอหรือจามและเป็นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน และชั้นในสุดจะช่วยซึบซับความชื้นหรือเหงื่อที่ปล่อยออกมา แต่หน้ากากชนิดนี้ไม่สามารถกรองละอองขนาดเล็กหรือสารปนเปื้อนที่อาจเข้ามาได้จากช่องว่างบริเวณด้านล่างของหน้ากากอนามัย 

แม้ว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้โดยตรง แต่ด้วยขนาดของไวรัสที่เล็กมากและไม่สามารถลอยอยู่ในอากาศได้เอง จำเป็นจะต้องติดไปกับพาหะถึงจะแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ เมื่อไวรัสเกาะรวมละอองแล้วทำให้ขนาดอนุภาคมีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน การใส่แผ่นกรองของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์อีกชั้นจะช่วยป้องกันได้ 

โดยแผ่นกรองของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สามารถป้องกันสารคัดหลั่งที่มีละอองขนาดใหญ่ อย่างละอองจากการไอ จาม ละอองสเปรย์ หรือของเหลวอื่น ๆ ที่อาจมีเชื้อโรคปะปนเข้าสู่ร่างกายทางปากหรือจมูก แต่จำเป็นจะต้องมีการสวมใส่อย่างมิดชิดเพื่อป้องกันการรั่วไหลของละอองหรือการรับละอองเข้าสู่ร่างกายผ่านทางช่องว่างของหน้ากากอนามัย

หน้ากากอนามัย N95

หน้ากาก N95 มีลักษณะเป็นทรงกลมหรือรูปไข่ ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้าได้ดีกับรูปหน้า มีสายรัดที่ช่วยให้กระชับ บางรูปแบบอาจมีช่องอากาศ (Exhalation Valve) ช่วยในการหายใจ ลดความร้อนและความชื้นภายในหน้ากาก โดยหน้ากากประเภทนี้มีแผ่นกรองความละเอียดสูง สามารถป้องกันเชื้อโรคที่มีขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีขนาด 0.12 ไมครอน 

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐไม่แนะนำให้คนทั่วไปใช้หน้ากากอนามัยชนิดนี้นอกสถานพยาบาล เนื่องจากหน้ากากอนามัย N95 ให้ความรู้สึกแน่นเกินไปเมื่อใส่ในเวลานานและไม่สามารถระบายอากาศได้สะดวก อีกทั้งไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันที่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากอนามัย N95 มีอยู่อย่างจำกัด จึงควรที่จะให้แพทย์ พยาบาล และผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาลสามารถเข้าถึงทรัพยากรดังกล่าวได้เป็นอันดับแรก

วิธีใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องและปลอดภัย

เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ควรทำตามขั้นตอนการใส่และถอดหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ดังนี้

  • ก่อนการใส่หน้ากากอนามัย ควรทำความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดเสียก่อน หากไม่สามารถล้างมือด้วยน้ำได้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมปริมาณของแอลกอฮอล์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ทดแทนได้ โดยชโลมให้ทั่วมือและถูจนกว่าจะแห้ง
  • การใส่หน้ากากอนามัยควรต้องคลุมปากหรือจมูก เพื่อป้องกันการรับหรือแพร่เชื้อผ่านการไอหรือจาม 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากอนามัยขณะกำลังสวมใส่ หากต้องสัมผัสโดน ควรทำความสะอาดมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
  • เปลี่ยนหน้ากากอนามัยอันใหม่ทันทีที่เกิดความชื้นหรือโดนสารคัดหลั่งต่าง ๆ เนื่องจากประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น 
  • การถอดหน้ากากอนามัยควรถอดจากด้านหลังหรือสายคล้อง ห้ามสัมผัสด้านหน้าของหน้ากากอนามัยโดยตรง หลังจากนั้นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
  • หลังการใช้หน้ากากอนามัย หากเป็นหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด ส่วนหน้ากากอนามัยแบบผ้าควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังการใช้ด้วยสบู่และน้ำร้อน จากนั้นตากในอุณหภูมิที่ร้อนจัดให้แห้ง ก่อนจะนำไปเก็บอย่างมิดชิด หากพบว่าหน้ากากอนามัยชำรุดเสียหาย ควรทิ้งทันที

 นอกเหนือจากการใส่และทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี จำเป็นจะต้องล้างมือให้สะอาดและเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ไปพร้อมกัน เพื่อการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ