วิธีแก้ท้องผูกง่าย ๆ ที่ได้ผล

ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันทำให้ใครหลายคนท้องผูกจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่จริง ๆ แล้วนี่เป็นปัญหาสุขภาพที่เราไม่ควรมองข้ามไป โดยวิธีแก้ท้องผูกนั้นทำได้ง่ายและมีให้เลือกหลากหลายทางไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการขับถ่าย รวมถึงการใช้ยาแก้ท้องผูก หากไม่รู้จะเริ่มต้นจากวิธีใด บทความนี้อาจช่วยคุณได้

โดยปกติ หากอุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ถ่ายอุจจาระออกมาได้ลำบาก หรือไม่ถ่ายอุจจาระนานเกิน 3 วัน จะเข่าข่ายอาการท้องผูก โดยแต่ละคนจะมีสาเหตุของการท้องผูกที่ต่างกันไป 

2481-วิธีแก้ท้องผูก

สาเหตุของอาการท้องผูกที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • การปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินทาง อยู่ระหว่างไปท่องเที่ยว เปลี่ยนที่อยู่ชั่วคราว จึงอาจส่งผลต่อลักษณะอาหารที่รับประทาน ทำให้ร่างกายถูกขัดขวางจากการทำงานปกติ ลำไส้ทำงานน้อยลง
  • การเปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีใยอาหารน้อย ดื่มน้ำน้อย นั่งทำงานเป็นเวลานานและขยับตัวน้อย กลั้นอุจจาระ เป็นต้น
  • สภาวะของร่างกาย เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น 

วิธีแก้ท้องผูกด้วยการปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการรับประทานอาหาร การขับถ่าย หรือการออกกำลังกายเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกที่ไม่รุนแรงได้ โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • หมั่นรับประทานอาหารที่มีใยอาหารวันละ 20-35 กรัม โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ลูกพรุน ธัญพืช และถั่ว ซึ่งจะช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้นและขับถ่ายออกมาได้ง่าย ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหารที่มีใยอาหารสูงทีละน้อยในแต่ละมื้อ เพื่อลดอาการท้องอืดและแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ออกกำลังกายด้วยความหนักระดับปานกลาง อย่างเดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ประมาณ 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ 
  • ควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลาจนเป็นกิจวัตร หากรู้สึกปวดอุจจาระก็ไม่ควรกลั้นอุจจาระหรือรีบร้อนขับถ่ายให้เสร็จไว ๆ โดยเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายอุจจาระคือตอนเช้าหลังตื่นนอนหรือหลังอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง 

ยาระบาย อีกวิธีแก้ท้องผูกที่ตรงจุด

บางครั้งการปรับพฤติกรรมอาจให้ผลลัพธ์ที่ช้าเกินไป ยาแก้ท้องผูกหรือยาระบายจึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยบรรเทาอาการและความรู้สึกไม่สบายตัวได้เร็วยิ่งขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น แต่ผู้ป่วยก็ต้องใช้ยาด้วยความระมัดระวังและถูกวิธีโดยควรอ่านฉลากยาหรือขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและสตรีมีครรภ์ 

โดยตัวอย่างของยาแก้ท้องผูกจะมีดังนี้

ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) 

เป็นยาที่ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น เกิดการขับถ่าย และมีอุจจาระนุ่มขึ้น ตัวยาจะออกฤทธิ์เร็วภายใน 6-12 ชั่วโมง จึงควรรับประทานก่อนนอน เพราะจะทำให้ถ่ายอุจจาระในตอนเช้า โดยทั่วไปจะมีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด ยาเหน็บ อีกทั้งยังมีการพัฒนาเป็นรูปแบบยาเม็ดเคลือบเพื่อให้ออกฤทธิ์ได้นานยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ยาบิซาโคดิลปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป ไม่ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องหรือใช้ในปริมาณมาก แต่ควรใช้ยาในปริมาณและระยะเวลาตามที่ระบุบนฉลากยา หรือตามคำแนะนำของเภสัชกร ผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ  

ยาแลคตูโลส (Lactulose)

ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์หลังรับประทานไปแล้ว 48 ชั่วโมง โดยจะดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระนุ่มลงและถ่ายออกมาง่ายขึ้น ตามปกติจะจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำ ซึ่งอาจไม่สะดวกในการใช้ยาในบางกรณีโดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทาง โดยเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ไม่ควรใช้ยานี้ยกเว้นแต่ถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้ดูแล

ยาไซเลียม (Psyllium)

เป็นยาระบายกลุ่มเส้นใยหรือไฟเบอร์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกจากการรับประทานใยอาหารน้อย ยาตัวนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณเนื้อในอุจจาระ กระตุ้นให้เกิดการทำงานของลำไส้ และช่วยเพิ่มน้ำในอุจจาระ ทำให้อุจจาระนิ่มและถ่ายออกง่าย แต่จะออกฤทธิ์ช้าประมาณ 1-3 วัน หลังการใช้ยา โดยควรดื่มน้ำตามในปริมาณมากเพื่อป้องกันการสำลัก และควรเพิ่มปริมาณใยอาหารทีละนิดเพื่อป้องกันท้องอืด ลมในกระเพาะอาหาร หรือปวดเกร็งหน้าท้อง

เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย จึงไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ และควรหยุดใช้ยาเมื่อมีอาการดีขึ้นแล้ว เพราะตัวยาอาจดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง ขณะใช้ยาก็ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ถ้าลองปฏิบัติตามคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมหรือใช้ยาแก้ท้องผูกแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ยาระบายเพื่อช่วยลดน้ำหนักหรือดีท็อกซ์ลำไส้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย รวมทั้งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกโดยทั่วไปมักไม่ร้ายแรงและบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง หากมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังก็ไม่ควรมองข้าม มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างริดสีดวงทวารหรือแผลรอยแยกขอบทวารหนักตามมาได้ สำหรับใครที่มีการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ทราบสาเหตุ มึท้องผูกบ่อยแบบเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ อุจจาระปนเลือด ปวดท้อง เจ็บขณะอุจจาระ หรือน้ำหนักตัวลดร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่ถูกต้อง