ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งแม้จะถูกจัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่า ยาพาราเซตามอลจะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้เลย ดังนั้น การเรียนรู้วิธีใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย
ยาพาราเซตามอลหรือเรียกกันในอีกชื่อว่า ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลางและลดไข้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำเชื่อม ยาเม็ดละลายน้ำ หรือยาเหน็บทวาร
โดยปกติแล้ว การใช้ยาพาราเซตามอลมักปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมากหรืออาจปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา อาทิ
- ผู้ที่แพ้ยาพาราเซตามอลหรือมีประวัติเคยแพ้ยาใด ๆ มาก่อน
- ผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต
- ผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณมากเป็นประจำ
- ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคลมชักหรือวัณโรค
- ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างยาวาร์ฟาริน และต้องใช้ยาพาราเซตามอลเป็นประจำ
- เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือนที่ใช้ยาภายใต้การดูแลจากแพทย์
วิธีใช้ยาพาราเซตามอลให้ถูกต้องและปลอดภัย
การใช้ยาพาราเซตามอลนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักของผู้ป่วย ซึ่งปริมาณยาที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 10–15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมก็ควรใช้ยาประมาณ 400–600 มิลลิกรัม โดยรับประทานห่างกันทุก ๆ 4–6 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ก่อนการใช้ยาจึงควรศึกษาวิธีการใช้ยาอย่างปลอดภัย ดังนี้
การใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก
โดยทั่วไปจะมีรายละเอียดที่ผู้ปกครองควรทราบ เช่น
- ปริมาณยาที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัว ผู้ปกครองควรอ่านฉลากยาอย่างถี่ถ้วน และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับปริมาณยาและรูปแบบยาที่เหมาะสมก่อนให้ลูกรับประทานยาพาราเซตามอลเสมอ
- หากใช้ยาชนิดน้ำเชื่อมควรเขย่าขวดประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยรินยาใส่ช้อนตวงที่มาพร้อมบรรจุภัณฑ์ยาหรือใช้ไซริงค์ป้อนยา (Syringe) เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวนปริมาณยาที่เหมาะสม แต่ไม่ควรใช้ช้อนทานข้าวในการตวงยา เพราะอาจทำให้เด็กได้รับยาเกินขนาด
- ผู้ปกครองควรให้เด็กรับประทานยาเม็ดพร้อมน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ โดยกำชับไม่ให้เด็กเคี้ยวเม็ดยา
- ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กรับประทานยาเหน็บ ซึ่งเป็นยาชนิดแท่งสำหรับใช้สอดทวารทางหนักเท่านั้น โดยก่อนและหลังการใช้ยากับเด็กควรล้างมือให้สะอาดเสมอ
- ยาแก้ปวดที่เด็กสามารถรับประทานควบคู่กับยาพาราเซตามอลได้อย่างปลอดภัยคือ ยาไอบูโพรเฟน แต่ไม่ควรรับประทานพร้อมกันในมื้อเดียว และห้ามรับประทานในกรณีที่เข้าข่ายเป็นไข้จากไข้เลือดออก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกภายในร่างกาย
- เด็กไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันเกิน 5 วัน แต่หากเด็กมีไข้ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 3 วัน
- ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน โดยปราศจากคำสั่งจากแพทย์
การใช้ยาพาราเซตามอลในผู้ใหญ่
ในการรับประทานยาพาราเซตามอลควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
- รับประทานยาพาราเซตามอลครั้งละไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม วันละไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันการใช้ยาเกินขนาดและเป็นอันตรายต่อตับ
- ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำหรือป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทานยาพาราเซตามอล โดยควรใช้ยาวันละไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมหรือตามที่แพทย์สั่ง
- ยาพาราเซตามอลปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์และผู้ให้นมบุตร โดยมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทั้งแม่และเด็ก
- อ่านฉลากอย่างถี่ถ้วนก่อนการใช้ยาใด ๆ เพื่อป้องกันการรับประทานยาซ้ำซ้อน เพราะยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาพาราเซตามอล ทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับยาเกินขนาด
- ผู้ที่รับประทานอาหารเสริมสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา เพราะอาจต้องลดปริมาณการใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
- ผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันเกิน 10 วัน และหากเป็นไข้ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 3 วัน
ในเรื่องของผลข้างเคียงจากการใช้ยาพาราเซตามอลนั้นมักพบได้น้อย แต่ก็อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ยาได้ โดยสัญญาณของอาการแพ้ยาที่พบได้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก บวมบริเวณใบหน้าริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ และอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ต่ำร่วมกับคลื่นไส้ ปวดท้อง และไม่อยากอาหาร ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อุจจาระสีคล้ายดินโคลน ตัวเหลือง เป็นต้น
ผลกระทบจากการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างผิดวิธี
แม้ผลข้างเคียงจากการใช้ยาพาราเซตามอลจะพบได้น้อย แต่หากผู้ป่วยใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ทั้งการใช้ยาพร่ำเพรื่อ ใช้ยาผิดวิธี หรือใช้ยาปริมาณมากในแต่ละครั้ง อาจส่งผลให้ได้รับยาเกินขนาดหรือเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบได้ไม่น้อยเลย
การใช้ยาเกินขนาด (Overdose)
เป็นผลจากการใช้ยาในปริมาณมากเกิน 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ภายใน 1 ครั้ง หรือใช้ติดต่อกันภายใน 1–2 วัน หรือเกิน 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ภายใน 3 วัน โดยอาจพบสัญญาณเตือนภายใน 24 ชั่วโมงแรก อาทิ ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เหงื่อออก รู้สึกสับสน และอ่อนแรง
หลักผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง อาจมีอาการของภาวะตับอักเสบอย่างคลื่นไส้และไม่อยากอาหารอีกครั้ง ซึ่งผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากมีอาการรุนแรงอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างโรคสมองจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy) หรือเสียชีวิต
ภาวะเป็นพิษต่อตับ
การใช้ยาพาราเซตามอลอย่างพร่ำเพรื่อหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อตับหรือตับถูกทำลายได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับตับที่อาจมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยอาจมีสัญญาณบางอย่าง เช่น มีไข้ ตัวเหลือง ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด คัน ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากใช้ยาพาราเซตามอลอย่างถูกวิธีด้วยการอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ยาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการใช้ยาอย่างปลอดภัย ปริมาณยาที่เหมาะสมกับอายุและน้ำหนัก รวมทั้งข้อระวังต่าง ๆ ที่ควรทราบ เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพในภายหลัง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ ผู้สูงอายุ และเด็ก
อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาพาราเซตามอลแล้วอาการยังไม่ทุเลาลงหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป